ไม่พบผลการค้นหา
'สมคิด เลิศไพฑูรย์' ชี้รัฐไทยรวมศูนย์มากเกินไป ยกชาติพัฒนามุ่งยกระดับท้องถิ่น รายได้พุ่ง แนะเร่งจัดเลือกตั้ง อปท. เชื่อการกระจายอำนาจช่วยให้ประเทศก้าวหน้า

ศ.ดร.สมคิด เลิศไพฑูรย์ กีรตยาจารย์แห่งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ สาขาสังคมศาสตร์ ปี 2562 ปาฐกถาพิเศษเนื่องในวันสถาปนามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ หัวข้อ "ความสมดุลในการกระจายอำนาจในองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในระดับประเทศ และการกระจายอำนาจให้แก่คณะในระดับมหาวิทยาลัย" เมื่อวันที่ 23 ก.ค.2563 ตอนหนึ่งว่า รัฐไทยเป็นรัฐที่รวมศูนย์อำนาจ (Centralization) มากเกินไป ในขณะที่กระจายอำนาจให้กับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) น้อยเกินไป ทั้งหมดมาจากความกลัวหรือความไม่ไว้วางใจในการกระจายอำนาจ ที่อาจกระทบกับการเมืองระดับประเทศ

ปัจจุบันประเทศไทยมี อปท. 5 รูปแบบ คือ เทศบาล องค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) องค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) กรุงเทพมหานคร (กทม.) และเมืองพัทยา โดย อปท.ของไทยมีอำนาจหน้าที่น้อยมากเมื่อเทียบกับประเทศที่เจริญแล้ว เพราะรัฐรวมอำนาจต่างๆ เช่น การศึกษา ตำรวจ ถนน สาธารณูปโภคพื้นฐาน เอาไว้หมด โดยมักจะอ้างเหตุผลว่า อปท.ไม่มีความพร้อมในการดูแล

ศ.ดร.สมคิด กล่าวว่า เทคนิคของรัฐคือการเขียนให้กฎหมาย อปท.อยู่ภายใต้กฎหมายของรัฐ ด้วยการใช้คำว่า "ภายใต้บังคับแห่งกฎหมาย" ขณะเดียวกันรายได้ที่สำคัญ เช่น ภาษีเงินได้ ภาษีรายจ่าย รัฐก็รวบไปทั้งหมดก่อน แล้วค่อยคืนกลับมาให้ท้องถิ่นในรูปแบบของ "เงินอุดหนุน" 

วิธีการนี้จะทำให้เกิดความรู้สึกว่ารัฐมีบุญคุณต่อท้องถิ่น ทั้งที่รายได้เป็นของท้องถิ่นอยู่แล้ว โดยปัจจุบันประเทศไทยมีสัดส่วนรายได้ของ อปท.ต่อรัฐอยู่ที่ร้อยละ 28-29 ขณะที่ประเทศอื่น เช่น สหรัฐอเมริกาและอังกฤษ อยู่ที่ร้อยละ 30-35 ฝรั่งเศสร้อยละ 50 และญี่ปุ่นที่นับว่าขับเคลื่อนโดยท้องถิ่น อยู่ที่ร้อยละ 110

สำหรับ อปท.รูปแบบพิเศษ ที่จะทำให้ท้องถิ่นมีอำนาจมากขึ้น มีรายได้มากขึ้น ทุกวันนี้ประเทศไทยกลับมีเพียงแค่ กทม.และพัทยา เท่านั้น นอกจาก 2 แห่งนี้ก็ไม่เคยเกิดขึ้นอีกแม้จะมีข้อเรียกร้องจาก สมุย แม่สอด แหลมฉบัง ภูเก็ต หรือเชียงใหม่ เช่นเดียวกับการเลือกตั้งใน อปท. โดยนับตั้งแต่ที่มีการรัฐประหารใน ปี 2557 ผู้บริหารของ อปท.บางแห่ง เช่น กทม. พัทยา ถูกปลดออกจากตำแหน่งและแต่งตั้งขึ้นใหม่ ส่วน อปท.ที่มาจากการเลือกตั้งส่วนใหญ่ได้อยู่ต่อไป จนขณะนี้ที่ผ่านมาแล้วกว่า 6 ปีก็ยังคงไม่มีการเลือกตั้งเกิดขึ้น

109858156_762731367806631_8429673443385650160_o.jpg

หากต้องการให้เกิดความสมดุลระหว่างรัฐกับท้องถิ่น จำเป็นต้องดำเนินการให้ 4 ประเด็นสำคัญ ประกอบด้วย 

1. การเพิ่มอำนาจหน้าที่บางอย่างให้กับท้องถิ่น เช่น รับภาระในการจัดระบบสาธารณะ 

2. เพิ่มรายได้ด้านภาษี เช่น ปรับสัดส่วน VAT เพิ่มเรื่องค่าธรรมเนียมต่างๆ

3. ควรมีท้องถิ่นรูปแบบพิเศษเพิ่มมากขึ้น เช่น แม่สอด หรือสมุย ที่มีความพร้อมค่อนข้างมาก 

4. จัดให้มีการเลือกตั้งท้องถิ่นภายใน ปี 2563 หรืออย่างน้อยควรกำหนดวันเลือกตั้งให้ชัดเจนในปี 2564

ศ.ดร.สมคิด กล่าวว่า รัฐบาลควรจัดการเลือกตั้งส่วนท้องถิ่นให้ได้ภายในปี 2563 ควรกำหนดวันให้ชัดเจนว่าจะเลือกตั้งเมื่อไหร่ ส่วนไหน อย่างไร ทุกวันนี้ปัจจัยส่วนหนึ่งที่ทำให้เศรษฐกิจของเราไม่ดี นอกจากเรื่องวิกฤติโควิด-19 แล้ว ปัญหาเรื่องการกระจายอำนาจก็สำคัญ

การกระจายอำนาจที่สมดุลมากขึ้น จะทำให้ประเทศก้าวไปในทิศทางที่ดีขึ้นกว่าเดิม เพราะส่วนกลางไม่ได้ทำได้ดีทุกเรื่อง เช่น การจัดการโควิด-19 มีศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรน่า 2019 (ศบค.) แต่ก็ให้ท้องถิ่นสามารถจัดการแต่ละพื้นที่ได้ ถ้าต้องรอส่วนกลางสั่งการคงไม่มีทางควบคุมสำเร็จได้

"ส่วนกลางไม่ได้ตัดสินใจได้ดีไปหมดทุกเรื่อง บางเรื่องต้องให้ท้องถิ่นจัดการ การกระจายอำนาจเพื่อให้มีสมดุลจะทำให้ประเทศเราก้าวไปได้ดีกว่าเดิม" ศ.ดร.สมคิด กล่าว 

ทั้งนี้ ศ.ดร.สมคิด ได้รับการยกย่องให้เป็น กีรตยาจารย์แห่งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ สาขาสังคมศาสตร์ ในปี 2562 เนื่องในวันสถาปนามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ โดยปีนี้ได้จัดพิธีมอบรางวัลไปเมื่อวันที่ 23 ก.ค.ที่ผ่านมา

ภาพประกอบจากเฟซบุ๊กแฟนเพจ Jamjam group