ไม่พบผลการค้นหา
เผด็จการกับประชาธิปไตย แบบไหนมีประสิทธิภาพในการจัดการปัญหา COVID 19 มากกว่ากัน นับเป็นคำถามที่น่าสนใจแต่ก็ยังไม่มีคำตอบที่แน่ชัดนัก

ในค่ายเผด็จการ จีนจัดการโรคระบาดโควิดได้ดีกว่าอิหร่าน ส่วนในค่ายประชาธิปไตย สหรัฐจัดการปัญหานี้ไม่ดีนักเมื่อเทียบกับไต้หวันและเกาหลีใต้ กระนั้น สิ่งที่ดูเด่นชัดกว่า คือ โควิด 19 เข้าไปเสริมสร้างความแข็งแกร่งให้กับกลุ่มพลังอำนาจนิยมในบางรัฐได้

ในอาเซียนพื้นทวีป รัฐบาลแบบอำนาจนิยมหรือกึ่งอำนาจนิยมในบางประเทศสามารถสร้างคะแนนนิยมและกระชับอำนาจผ่านวิกฤตโควิดอย่างน่าประหลาดใจ 

สำหรับ สปป.ลาว ข่าวเขื่อนแตกที่อัตตะปือเมื่อปี ค.ศ. 2018 ลดความชอบธรรมของรัฐบาลในเรื่องจัดสรรทรัพยากรน้ำลง แต่โรคระบาดโควิดกลับชูภาพลักษณ์รัฐบาลแห่งพรรคประชาชนปฏิวัติลาวขึ้นมาใหม่ เมื่อเดือนที่แล้ว นายกรัฐมนตรีทองลุน สีสุลิด กล่าวว่า สปป.ลาวกำชัยชนะเบื้องต้นต่อการระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนาและเหตุการณ์นี้ถือเป็นก้าวย่างสำคัญที่บ่งชี้ถึงสมรรถนะของพรรครัฐ (Party-State) ในการบริหารประเทศช่วงคับขัน พรรครัฐซึ่งแม้จะเป็นชนิดหนึ่งของระบอบเผด็จการแต่การรวมอำนาจไว้ที่พรรคแล้วให้โครงสร้างพรรคไล่ตีคู่ขนานไปกับโครงสร้างรัฐตั้งแต่ส่วนกลางลงไปถึงท้องถิ่น ทำให้รัฐลาวดำเนินมาตรการจัดการปัญหาโควิดได้รวดเร็วถ้วนทั่ว อย่างไรก็ตาม นักวิเคราะห์จำนวนหนึ่งมองว่าปัจจัยแห่งความสำเร็จของลาวอยู่ที่ประเด็นอื่นเสียมากกว่า เช่น ความเบาบางของประชากรที่กระจัดกระจายไปทั่วประเทศจึงทำให้ไม่เกิดการรวมตัวกันหนาแน่นของฝูงชนจนเสี่ยงต่อการติดเชื้อ หรือ ลักษณะการสัญจรของคนลาวที่เน้นมอเตอร์ไซด์และจักรยาน จนทำให้เกิดการรักษาระยะห่างเมื่อเทียบกับการเดินทางโดยรถเมล์ที่แออัด แต่ไม่ว่าจะด้วยปัจจัยใด รัฐบาลเผด็จการพรรคก็รับกระแสชื่นมื่นจากคนลาวไปเรียบร้อยแล้ว แถมยังรักษาอำนาจที่แข็งแกร่งเพื่อปกครองรัฐต่อไป

ในเมียนมาที่แม้จะมีดีกรีความเป็นเผด็จการน้อยกว่าลาว เพราะเมียนมาใช้ระบอบการเมืองแบบลูกผสม (Hybrid Regime) ที่มีองค์ประกอบของเผด็จการกับประชาธิปไตยมาเจือปนกัน แต่ทหารเมียนมายังมีอำนาจครองรัฐช่วงเปลี่ยนผ่าน โรคระบาดโควิดกระตุ้นให้คนพม่ามิน้อยคิดถึงเรื่องความมั่นคงรัฐที่มีกองทัพเป็นแกนกลาง การตรวจตราด่านพรมแดนและตั้งด่านควบคุมโรคในหลายพื้นที่ จำเป็นต้องใช้กำลังพลจากกองทัพเข้าจัดการ ในการประชุมรัฐสภาช่วงโควิดที่กรุงเนปิดอว์ กลุ่ม ส.ส.ที่เป็นทหาร (มีอยู่ 25%ในโครงสร้างสภา) สามัคคีกันสวมหน้ากากอนามัยอย่างพร้อมเพรียงซึ่งให้ภาพเอกภาพและระเบียบวินัย ผิดกับ ส.ส. พลเรือนของพรรคการเมืองซึ่งมีมิน้อยที่ไม่สวมหน้ากากอนามัย ภาพที่ขัดกันระหว่างสองกลุ่มอำนาจนี้ ถูกตีความว่าเป็นการเล่นเกมชิงภาพลักษณ์ของกองทัพเพื่อทอนกำลังกลุ่มพลเรือนที่มีพรรค NLD เป็นแกนนำ ในช่วงปลายเดือนมีนาคมที่ผ่านมา ขณะที่รัฐบาลพรรค NLD และ นาง ออง ซาน ซู จี มนตรีแห่งรัฐ (State Counsellor) กำลังเน้นย้ำไปที่งานประชาสัมพันธ์เผยแพร่มาตรการป้องกันโควิดต่อประชาชน กลุ่มเจ้าหน้าที่รัฐอาวุโสกลับผนึกกำลังร่วมกับกองทัพจัดตั้งคณะทำงานเฉพาะกิจโควิด 19 ขึ้นมาโดยมีรองประธานาธิบดี มินต์ ส่วย (Myint Swe) รับตำแหน่งประธานคณะทำงาน ว่ากันว่า มิ้นต์ ส่วย อดีตนายพลและรองประธานาธิบดีที่มาจากสายทหาร มีความสัมพันธ์แนบแน่นกับกองทัพเมียนมา ดูเหมือนว่า โรคระบาดโควิดจะทำให้กองทัพกระชับอำนาจได้มากขึ้นในช่วงสถานการณ์วิกฤตจนส่งผลต่อดุลอำนาจระหว่างกองทัพกับพลเรือนช่วงก่อนเลือกตั้งทั่วประเทศที่คาดว่าจะมีขึ้นในวันที่ 8 พฤศจิกายน 2020 นี้

การพุ่งเข้ามาของไวรัสโคโรนาในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ส่งผลลัพธ์โดยไม่ตั้งใจต่อการสืบทอดอายุเผด็จการในบางรัฐ ลาวกับเมียนมาถือเป็นเคสที่น่าสนใจ ระบอบพรรครัฐได้รับคะแนนนิยมจากคนลาวในช่วงโควิด ขณะที่ระบอบเผด็จการปนประชาธิปไตยในเมียนมา แสดงภาพการกระตุกอำนาจของกองทัพเพื่อเพิ่มคะแนนเหนือค่ายพลเรือนในห้วงระยะวิกฤต  

การโกยคะแนนนิยมของแกนอำนาจนิยมในสองรัฐนี้ได้ชะลอความรวดเร็วในเปลี่ยนสู่ประชาธิปไตยในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้!



ดุลยภาค ปรีชารัชช
นักวิชาการผู้เชี่ยวชาญด้านการเมืองเปรียบเทียบ เชี่ยวชาญพิเศษด้านการเมืองและกองทัพเมียนมา
0Article
0Video
3Blog