Eyes on Earth บริษัทวิจัยและที่ปรึกษาด้านทรัพยากรน้ำของสหรัฐฯระบุว่า เขื่อนในจีนนั้นสร้างผลกระทบโดยตรงต่อระดับน้ำในแม่น้ำโขงที่ลดต่ำลงเป็นประวัติการณ์ในช่วงปีที่แล้ว
อลัน บาซิสต์ ผู้ร่วมวิจัยกล่าวว่า ข้อมูลจากดาวเทียมไม่ได้โกหก และระดับน้ำในที่ราบสูงทิเบตนั้นมีเป็นจำนวนมากซึ่งแตกต่างจากระดับน้ำในกัมพูชาและไทยที่แห้งขอด
ข้อมูลจากดาวเทียมของสหรัฐฯพบว่า เมื่อปีพ.ศ.2562 ปริมาณน้ำฝนเฉลี่ยแล้วในช่วงเดือนพ.ค.-ต.ค.นั้นสูงกว่าค่าเฉลี่ยเล็กน้อยและยังมีหิมะที่ละลายลงมาจากที่ราบสูงทิเบตสมทบในช่วงฤดูฝน แต่ระดับน้ำในแม่ย้ำโขงตอนล่างกลับแห่งแล้ง โดยปริมาณน้ำที่ชายแดนไทย - ลาวนั้นอยู่ในระดับที่ต่ำกว่า 3 เมตร ซึ่งต่ำกว่าระดับน้ำปกติ
ระดับน้ำในแม่น้ำโขงตอนล่างที่ลดต่ำลงเมื่อปี 2563 นั้น ทำให้ฤดูแล้งปีที่แล้วระดับน้ำในแม่น้ำโขงตอนล่างลดลงต่ำที่สุดในรอบกว่า 50 ปี ซึ่งส่งผลกระทบต่อเกษตรกรและชาวประมงที่ใช้เเม่น้ำโขงในการทำการเกษตร รวมไปถึงเกิดความผิดปกติของแม่น้ำโขงให้เห็นชัดทั้งสันทรายที่โผลขึ้นมาอย่างเห็นได้ชัดและน้ำในแม่น้ำโขงที่เปลี่ยนเป็นสีฟ้าใสเนื่องจากการขาดตะกอนแม่น้ำ
ปัจจุบันจีนมีสร้างเขื่อนในแม่น้ำโขงตอนบน 11 แห่ง ซึ่งมีการประเมินว่าสามารถกักเก็บน้ำได้มากกว่า 47,000. ล้านลูกบาศ์เมตร
ทางด้านโฆษกระทรวงต่างประเทศของจีนออกมากล่าวว่า งานวิจัยชิ้นนี้ของ Eyes on Earth นั้นไม่มี 'ความสมเหตุสมผล' เนื่องจากเมื่อปีที่ผ่านมาระดับน้ำในมณฑลยูนนานก็เข้าสู่ภาวะแห้งแล้งในระดับวิกฤตเช่นกันและปริมาณน้ำในเขื่อนของจีนก็ลดลงเป็นประวัติการณ์เช่นกัน
นอกจากนี้จีนยังชี้ว่างานวิจัยดังกล่าวนั้นมุ่งเน้นแค่การปล่อยน้ำของจีนเท่านั้น แต่ไม่ได้ดูสิ่งที่เกิดขึ้นในแม่น้ำโขงตอนล่าง ซึ่งปีที่แล้วในประเทศลาวได้มีการเปิดใช้เขื่อนไฟฟ้าพลังงานน้ำที่สร้างในแม่น้ำโขงถึง 2 แห่งเช่นกัน
ทั้งนี้จีนยังเน้นย้ำว่า 'ที่ผ่านมาจีนจัดการเรื่องการปล่อยน้ำให้แก่ประเทศลุ่มแม่น้ำโขงตอนล่างอย่างเหมาะสมเพียงพอ'
ดร. ไชยณรงค์ เศรษฐเชื้อ อาจารย์และผู้เชี่ยวชาญแม่น้ำโขงประจำมหาวิทยาลัยมหาสารคามกล่าวว่า 'การปล่อยน้ำของจีน คือ การเมือง จีนเป็นผู้สร้างความเสียหายให้แก่แม่น้ำโขง แต่ขณะเดียวกันก็ถามถึงบุญคุณเมื่อจีนปล่อยน้ำลงสู่แม่น้ำโขงตอนล่าง'