อันวาร์ สาและ ส.ส.ปัตตานี พรรคประชาธิปัตย์ ส่งหนังสือเปิดผนึกถึง จุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ ในฐานะหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์หลายครั้ง กระทู้ให้ประชาธิปัตย์ ถอนตัวจากรัฐบาล หลังเห็นว่า 2 ปี ในการร่วมรัฐบาลกับ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา มีแต่เสียมากกว่าได้ โดยเฉพาะเสียเครดิตจากสายตาประชาชน
'วอยซ์' จับเข่าคุย อันวาร์ สาและ ส.ส.ประชาธิปัตย์ หนึ่งเดียวใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ถึงเหตุผล ความจำเป็นที่ประชาธิปัตย์ สมควรถอนตัวจากรัฐบาล
ผมเป็น ส.ส.มา 4 สมัย ที่ผ่านมาผมก็เงียบ ไม่ค่อยแสดงความคิดเห็น ก่อนหน้านี้ผมได้ตั้งสภาประชาคมในพื้นที่ของผม เพื่อรับฟังความคิดเห็นของประชาชน ซึ่งก็ต้องยอมรับว่าการเลือกตั้งครั้งที่ผ่านมานั้น เป็นเรื่องช็อคสำหรับประชาชนในพื้นที่ 3 จังหวัดใช้แดนภาคใต้มาก จากเดิมภาคใต้เราได้ถึง 50 ที่นั่ง แต่การเลือกตั้งที่ผ่านมา เราเสียไปกว่า 28 ที่นั่ง ได้มาไม่ถึงครึ่ง ยิ่งใน 3 จังหวัดชายแดนใต้ มี 11 ที่นั่ง ผมได้ ส.ส.คนเดียว การเลือกตั้งครั้งที่ผ่านมา เหมือนพรรคประชาธิปัตย์ถูกสั่งให้แพ้ ซึ่งเราเองก็ไม่รู้ว่าเราถูกสั่งให้แพ้ แต่มารู้ตัวอีกที เราก็แพ้แล้ว
เหตุผลที่ผมเสนอให้ถอนตัวจากรัฐบาล เรื่องแรกคือญัตติพิจารณาผลกระทบของมาตรา 44 ไม่ได้ไปต่อ มาตรา 44 นั้น นายกรัฐมนตรี มีอำนาจตัดสินใจเพียงคนเดียว พล.อ.ประยุทธ์ ได้ใช้อำนาจนี้จัดการหลายเรื่อง เช่น กรณีเหมืองทองอัครา ที่ สปก. เป็นต้น
เรื่องนี้มติพรรคประชาธิปัตย์ ได้เสนอให้มีการตั้งกรรมาธิการขึ้นมาศึกษาผลกระทบของมาตรา 44 แต่สุดท้ายพรรคพลังประชารัฐ ออกมาบอกว่า ไม่เอา สั่งให้กลับมติพรรค ซึ่งไม่เป็นประชาธิปไตยเลย
เรื่องที่ 2 มติพรรคประชาธิปัตย์ เสนอ วิลาศ จันทร์พิทักษ์ เป็นคณะกรรมาธิการตรวจสอบการก่อสร้างอาคารรัฐสภาที่มีความล่าช้า แต่อยู่ดีๆ ก็ไม่ได้เป็น และมีข่าวว่าหัวหน้าพรรคภูมิใจไทย ได้มีการพูดคุยกับ ชวน หลีกภัย และคนของพรรคประชาธิปัตย์แล้ว
จริงๆ เป็นเรื่องที่สำคัญมาก ลองดูว่ากระแสสังคมตอนนี้เป็นอย่างไร โดยมีทั้งกดดันและไม่ยอมรับ ผมไม่พูดถึง ไม่ขอคอมเมนต์ในเรื่องของศาลรัฐธรรมนูญและคุณธรรมนัสเอง ซึ่งถือเป็นสิทธิของท่าน แต่ว่ามันจะกลับมาที่ตัวนายกฯ ท่านนายกฯทราบอยู่แล้ว ว่าคุณธรรมนัส มีความเป็นมาเป็นอย่างไร ล่อแหลมอย่างไร อาจจะเป็นสายล่อฟ้าในอนาคตได้ ถ้าตั้งบุคคลที่มีลักษณะอย่างนี้เข้ามา การร่วมรัฐบาลก็อาจจะมีปัญหาได้ แต่ท่านนายกฯก็ตั้ง เมื่อตั้งก็ไม่ใช่ความผิดของคุณธรรมนัส ดังนั้น นายกฯ ก็ต้องรับความผิดนี้โดยตรง
ผมว่าเมื่อเกิดกระแสการไม่ยอมรับ วิกฤตศรัทธาจากประชาชนในเรื่องของบุคลากร ผู้บริหารจะหลีกเลี่ยงความรับผิดชอบไม่ได้
ผมเคารพการตัดสินใจ และผมเองก็เป็นเสียงข้างน้อยในพรรค แต่ถ้าจำกันได้ก่อนร่วมรัฐบาล พรรคประชาธิปัตย์มีความเห็นเป็น 2 ฝ่าย มีทั้งอยากร่วมรัฐบาล กับอีกฝั่งหนึ่ง ไม่อยากร่วม แต่เราต้องร่วมด้วยเหตุผล 3 ประการคือ 1.ผลักดันนโยบาย 2.แก้ไขรัฐธรรมนูญ 3.เพื่อจะเข้าไปทำหน้าที่ด้วยความสุจริต ซึ่งหากเรายืนยันว่าจะทำหน้าที่อย่างสุจริต บุคคลที่จะมาร่วมดำรงตำแหน่งในรัฐบาล ต้องอยู่ในกรอบของความสุจริตด้วย
นอกจากนี้ ผมคิดว่าเราต้องฟังกระแสสังคม ซึ่งหากประชาชนไม่ให้ความศรัทธาเชื่อถือ การเดินหน้าทำงานต่างๆ ก็จะมีปัญหาและอุปสรรค ดังนั้น หากเป็นไปได้เราไม่ควรฝืนกระแสสังคม
1.พรรคประชาธิปัตย์ ถอนตัวจากพรรคร่วมรัฐบาล 2.นายกฯลาออก 3.ยุบสภา
หลายพรรคอาจจะบอกว่าไม่มีความพร้อม และประเทศยังมีปัญหาวิกฤตต่างๆ แต่ผมคิดว่าวิกฤตต่างๆนั้น สามารถแก้ไขปัญหาได้ด้วยกลไกที่มีอยู่ ไม่ว่าจะเป็น การรักษาการหรือส่วนอื่นๆ และการยุบสภานั้น สามารถแก้ไขปัญหาได้หลายเรื่อง เช่น ม็อบคนรุ่นใหม่
หลายคนอาจมองว่า แม้จะมีการเลือกตั้ง แต่ถ้ายังอยู่บนกฎกติกาเดิม ทุกอย่างก็จะเหมือนเดิม แต่ผมว่าจริงๆแล้วมันไม่เหมือนเดิม เพราะถ้าประชาชนเลือกที่จะไม่สนับสนุนรัฐบาลต่อ แกนนำรัฐบาลก็จะไม่ใช่พรรคพลังประชารัฐ
ขณะเดียวกัน ส.ว.250 เสียง สนับสนุนให้ พล.อ.ประยุทธ์ เป็นนายกฯ พล.อ.ประยุทธ์ ก็อาจจะเป็นนายกฯ เสียงข้างน้อย การบริหารงานจะไม่เหมือนเดิม เมื่อนั้นก็ต้องมาตกลงกันว่ารัฐบาลเสียงข้างน้อย จะเดินหน้าในวาระเร่งด่วนอะไรบ้าง เช่น แก้ไขรัฐธรรมนูญและยุบสภาเลือกตั้งใหม่อีกครั้ง จะเห็นว่าประชาธิปไตยมันเดินไปสุดทางแบบนี้ได้
เป็นไปไม่ได้เลย อย่าลืมว่า ส.ว. 250 เสียง จะเลือกคุณอภิสิทธิ์ได้อย่างไร ไม่มีทาง คุณอภิสิทธิ์ ไม่มีโอกาสได้กลับมาอยู่แล้ว การที่พูดว่าประชาธิปัตย์จะได้อย่างนั้นอย่างนี้ คนที่ไม่รู้อาจพูดได้ แต่หลักเหตุผลแล้ว เป็นไปไม่ได้
ผมว่าการที่นายกฯ ลาออกคนเดียว แล้วหาผู้นำใหม่ ซึ่งอาจจะเป็นฝั่งท่านที่ทำให้เกิดความรู้สึกที่เปลี่ยนแปลงในมุมมองเชิงบวก ผมว่ามันง่ายกว่านะ แต่ถ้าเมื่อไหร่ที่ยุบสภา มันก็คือทั้งสภา พอทั้งสภามันก็ต้องมีองคาพยพอีกหลายเรื่อง ทั้งประเทศต้องเข้ามาในกระบวนการการเลือกตั้ง งั้นผมคิดว่านายกฯ ลาออกอาจจะง่ายกว่า แต่ผมก็คงคิดแทนท่านนายกฯไม่ได้ ท่านนายกฯ อาจคิดว่าการยุบสภาง่ายกว่าก็ได้
ผมไม่สามารถที่จะไปสอนท่านได้ แต่ผมฟังกระแสสังคม กระแสสังคมบอกว่าการบริหารงานที่ล้มเหลวมาอย่างต่อเนื่องมีผลสำหรับเขา เขาไม่เชื่อมั่น เช่น วัคซีน เมื่อมีปัญหาและเกิดความไม่เชื่อมั่น การจะสร้างความหวังกับประชาชนได้ คือการเปลี่ยนแปลง เพื่อจะได้เห็นแนวทางที่ดีกว่า
บางคนอาจจะมองว่าการร่วมรัฐบาลต่อไปยังมีโอกาสที่จะผลักดันนโยบายต่างๆได้ แต่การผลักดันโดยที่ไม่ได้รับความเชื่อมั่นจากประชาชนและไม่ได้เป็นไปตามความต้องการของประชาชน ก็ลำบาก ถ้าประชาชนบอกว่าต้องเปลี่ยน แต่เรายังฝืนกระแสอยู่ ก็ไม่ใช่ผลดี หากเราฝืนและไม่ตอบสนองประชาชนในอนาคตก็อาจจะเป็นผลเสียต่อพรรคประชาธิปัตย์ได้
ง่ายที่สุดคือการมองผู้นำของพรรคประชาธิปัตย์ในอดีต ทำไมครั้งหนึ่ง เคยมีวลีคำพูดถึงขนาดว่า เอาเสาไฟฟ้ามาลงเขาก็เลือก กระบวนการจะไปถึงตรงนั้นได้ แสดงว่าเขาเชื่อมั่นในตัวพรรคมาก แสดงว่าเขาเชื่อมั่นในกระบวนการทำงานของพรรค วันนี้สิ่งที่จะทำให้พรรคกลับมาได้ ก็คือกลับไปอยู่จุดเดิมที่นั่งอยู่ในใจของพี่น้องประชาชน ให้เขารู้สึกว่าต้องการพรรคนี้มาทำงานจริงๆ สิ่งไม่ดีก็ปรับปรุงแก้ไข
ผมมองว่าประเด็นนี้ อาจจะเป็นประเด็นที่ประชาธิปัตย์ถูกหลอกด้วย วาระการแก้ไขรัฐธรรมนูญ เป็นหนึ่งในปัจจัยที่เราเข้าร่วมรัฐบาล และพรรคพลังประชารัฐ ก็เสนอญัตติเองด้วย แต่อยู่ดีๆมาทำอย่างนี้ ผมไม่โทษทางอื่น เราอาจจะรู้เท่าไม่ถึงเขา ประเด็นนี้อาจจะเป็นประเด็นที่พรรคเองถูกหลอกมา ว่าให้เข้าร่วมรัฐบาลเพื่อหนุนให้ทุกอย่างเป็นไปได้ แล้วสุดท้าย มันก็ไม่ได้เป็นอย่างที่เราคาดหวังไว้ ผมคิดว่านโยบายร่วมกัน ถ้าไม่ทำก็แสดงว่าไม่มีความจริงใจที่จะทำ
เช่นเดียวกับที่ พล.อ.ประยุทธ์ เคยประณามนักการเมืองเลวชั่ว นักการเมืองเลว แล้วสุดท้ายเป็นไง ก็ไปเอานักการเมืองภาพพจน์ที่ไม่ดีของชาวบ้านมาอยู่ในกลุ่ม แล้วก็มาบริหารงาน ผมว่าอันนี้ก็ไม่แน่ใจว่า จะเรียกถูกหลอกหรือไม่ถูกหลอก ให้พี่น้องประชาชนเป็นคนตัดสินเอง
ผมก็ยังบอกกับประชาธิปัตย์ว่าเราถอนตัวจากรัฐบาลเถอะ อย่าให้วันหนึ่งเป็นสถานการณ์ที่ประชาชนจะถอนเราออกจากการเมือง ซึ่งมันจะอันตราย ผมไม่อยากให้สิ่งเหล่านี้เกิดขึ้นกับประชาธิปัตย์
การร่วมรัฐบาลสำหรับผมนั้น ผมจะร่วมด้วยความจริงใจ อะไรไม่ถูกก็ทักท้วง ผมจะไม่อวย อะไรที่ถูกต้องผมก็ชื่นชม ซึ่งที่ผ่านมาหลายครั้ง ผมก็มีหนังสือเปิดผนึกชื่นชมนายกฯ แต่ครั้งนี้ อยากให้นายกฯได้พิจารณาว่าที่เรากำลังเดินอยู่นี้เป็นความต้องการของเสียงส่วนใหญ่แล้วหรือ
ข่าวที่เกี่ยวข้อง