เมื่อปลายเดือนก่อน พิชัย นริพทะพันธุ์ รองประธานยุทธศาสตร์พรรคเพื่อไทย ด้านเศรษฐกิจ และอดีต รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานกล่าวถึงกรณีการควบรวม True กับ DTAC โดยแสดงความไม่เห็นด้วยว่าการควบรวมจะส่งผลให้ประชาชนจะเสียเปรียบ และจะก่อให้เกิดการผูกขาด จากสัดส่วนทางการตลาดถึง 52% และการมีผู้ให้บริการรายใหญ่น้อยรายลง ซึ่งในอนาคตหากมีการฮั้วกันระหว่างรายใหญ่จะทำได้ง่ายขึ้น หรืออาจจะเกิดการควบรวมของรายใหญ่ทั้งหมดกันอีกก็เป็นไปได้
พิชัยยังได้ระบุอีกว่า อนาคตการพัฒนาทางเทคโนโลยีด้านโทรคมนาคมจะมีเพิ่มขึ้นอีกมาก ตามการเปลี่ยนแปลงของโลก เช่น การพัฒนา 6G และ Metaverse เป็นต้น จึงจำเป็นที่จะต้องมีผู้ให้บริการมากราย เพื่อแข่งขันทางราคาในการให้บริการเพื่อประโยชน์สูงสุดของประชาชนที่เป็นผู้บริโภค ดังนั้นการควบรวมจะทำให้ประชาชนเสียเปรียบและจะสร้างปัญหาในอนาคตจากการผูกขาดได้
วอยซ์ชวนคุณไปสำรวจกรณีป้องกันการผูกขาด ผ่านการบังคับใช้กฎหมายของรัฐต่างๆ ทั่วทั้งโลก เพื่อการลงโทษธุรกิจเจ้ายักษ์ที่ทำการผูกขาดธุรกิจสินค้าหรือบริการของตน ในการส่งเสริมให้เกิดการแข่งขันในทางการค้าอย่างเท่าเทียม ซึ่งอาจเป็นแนวทางช่วยพิจารณาปัญหาการผูกขาดสินค้าและบริการภายในรัฐไทย
เมื่อช่วงต้นปีที่ผ่านมา คณะกรรมาธิการการค้าของรัฐบาลกลาง (FTC) เปิดเผยว่า ทางหน่วยงานได้รับข้อตกลงจากทาง Seven & I Holdings Co. บริษัทเจ้าของ 7-Eleven ที่เข้ามาเปิดสาขาในสหรัฐฯ ในการขายหน้าร้านของตนเองจำนวนทั้งสิ้น 293 สาขาทั่วทั้งสหรัฐฯ เพื่อไม่ให้ทางบริษัทต้องจ่ายค่าปรับจากกฎหมายป้องกันการผูกขาด
คณะกรรมาธิการการค้าของรัฐบาลกลางทำการตรวจสอบกิจการของ 7-Eleven ในสหรัฐฯ ก่อนพบว่า ทาง Seven & I มีความเป็นไปได้ที่ธุรกิจของตนกำลังจะละเมิดกฎหมายป้องกันการผูกขาดของสหรัฐฯ หลังจากที่ทาง Seven & I ได้ทำข้อตกลงเข้าซื้อกิจการ Speedway ซึ่งเป็นกิจการร้านขายปลีกจาก Marathon Petroleum ด้วยข้อตกลงมูลค่ากว่า 2.1 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐฯ (ประมาณ 6.8 แสนล้านบาท)
หลังจากการเข้าซื้อกิจการและควบรวม Speedway โดย 7-Eleven ในสหรัฐฯ แล้ว คณะกรรมาธิการการค้าของรัฐบาลกลางชี้ว่าพฤติกรรมดังกล่าวเข้าข่ายการผูกขาด ทำให้คณะกรรมการสั่งให้ Speedway และ 7-Eleven ต้องขายสาขาของตัวเองทั้งสิ้น 293 สาขาทั่วทั้ง 20 มลรัฐ
นอกจากนี้ คณะกรรมาธิการการค้าของรัฐบาลกลางยังได้สั่งการให้ 7-Eleven และ Speedway ต้องทำการขออนุญาติมาทางคณะกรรมาธิการเมื่อต้องการจะซื้อกิจการหน้าร้านใดๆ เพิ่มเติมตลอดระยะเวลา 5 ปีข้างหน้าที่จะมาถึง นอกจากนี้ ในอีก 10 ปีข้างหน้า ทางบริษัทต้องแจ้งรายละเอียดเกี่ยวกับการได้มาซึ่งสินทรัพย์ที่จำหน่ายไปแล้วและทรัพย์สินอื่น ๆ จาก 293 สาขาดังกล่าวอีกด้วย
การสั่งการในครั้งนี้ดำเนินไปอย่างเรียบร้อย โดยทาง Seven & I ได้ออกแถลงการณ์ถึงเรื่องดังกล่าวในเวลาต่อมาว่า “ความกังวลด้านการผูกขาดของคณะกรรมาธิการการค้าของรัฐบาลกลางได้รับการจัดการทั้งหมดแล้ว” ทั้งนี้ ทางบริษัทเตรียมจะประกาศแผนงานการบริหารในระยะกลาง ซึ่งรวมถึงกลยุทธ์ในทางธุรกิจของร้านสะดวกซื้อในสหรัฐฯ ด้วยเช่นกัน
หน่วยงานการแข่งขันและการตลาดของสหราชอาณาจักร สั่งปรับสองบริษัทสินค้าเครื่องกีฬาและเสื้อผ้าอย่าง JD Sports และ Footasylum เป็นเงินกว่า 5 ล้านปอนด์ (ประมาณ 220 ล้านบาท) หลังจากหน่วยงานการแข่งขันและการตลาดตรวจพบว่า ทั้งสองบริษัทได้แอบแบ่งปันข้อมูลที่ละเอียดอ่อนทางการค้าของแต่ละบริษัทให้กันและกัน ซึ่งก่อให้เกิดแนวโน้มในการวางแผนการผูกขาดตลาดสินค้าได้
เมื่อช่วง พ.ค.ของปีก่อน JD Sports และ Footasylum เคยมีแผนการในการควบรวมกิจการเข้าด้วยกัน ก่อนที่หน่วยงานการแข่งขันและการตลาดจะเข้าสะกัดการควบรวมกิจการดังกล่าวเอาไว้ได้ ทั้งนี้ เมื่อช่วงวันจันทร์ที่ผ่านมา (14 ก.พ.) หน่วยงานการแข่งขันและการตลาดเปิดเผยว่าพบ “หลุมดำ” ทางข้อมูลของแต่ละบริษัทถูกนำมาพูดคุยกันในการหารือระหว่างทั้งสอง ซึ่งหน่วยงานการแข่งขันและการตลาดมีเสียงบันทึกบทสนทนาผ่านทางโทรศัพท์ของผู้บริหารจากทั้งทาง JD Sports และ Footasylum
หลังจากการสั่งปรับดังกล่าว JD Sports จะต้องจ่ายเงินจำนวนกว่า 4.68 ล้านปอนด์จากฐานความผิดละเมิดกฎป้องกันการผูกขาดทางธุรกิจ ทั้งนี้ หน่วยงานการแข่งขันและการตลาดของสหราชอาณาจักรทำการตรวจสอบข้อตกลงการควบรวมกิจการมูลค่ากว่า 90 ล้านปอนด์ (ประมาณ 4 พันล้านบาท) ของทาง JD Sports และ Footasylum มาตั้งแต่ปี 2562
JD Sports เอาชนะอุทธรณ์ข้อกล่าวหาเรื่องการผูกขาดได้ในปีต่อมา ก่อนที่ทางคณะกรรมธิการของหน่วยงานตรวจสอบการผูกขาดจะเรียกให้ JD Sports กางข้อตกลงการควบรวมกิจการอีกครั้งในปี 2564 ในเวลาต่อมา JD Sports ล้มเหลวและไม่สามารถให้ข้อมูลกับหน่วยงานตรวจสอบข้อมูลการผูกขาดได้ และทางหน่วยงานได้ตรวจสอบพบว่า สองบริษัททำการแบ่งปันข้อมูลลับของแต่ละบริษัทให้กันและกันในช่วงปี 2564 ที่ผ่านมาอย่างลับๆ มาโดยตลอด
เมื่อช่วง ก.ค.ของปี 2564 หน่วยงานการแข่งขันของฝรั่งเศสเข้าแทรกแซงกิจการของ 4 บริษัทผู้ออกแบบและผลิตแว่นตาเจ้ายักษ์อย่าง Luxottica, LVMH, Chanel และ Logo หลังพบหลักฐานว่าบริษัททั้งสี่ทำการห้ามไม่ให้ร้านขายแว่นทั่วไปกำหนดราคาแว่นของแบรนด์ตัวเองในร้านค้าปลีก ตลอดจนการสั่งห้ามไม่ให้มีการขายแว่นตาของตนบนแพลตฟอร์มออนไลน์
การแทรกแซงในครั้งนี้ของหน่วยงานการแข่งขันของฝรั่งเศส ทำให้บริษัททั้งสี่ต้องเสียค่าปรับเป็นจำนวนเงินทั้งสิ้น 125.8 ล้านยูโร (ประมาณ 4.7 พันล้านบาท) ซึ่งเป็นค่าปรับบริษัทแว่นตาครั้งใหญ่ของโลกที่เกิดขึ้นกับบริษัทสัญชาติฝรั่งเศส-อิตาลี Luxottica ในมูลค่ากว่า 125.17 ล้านยูโร (ประมาณ 4.59 พันล้านบาท)
หน่วยงานการแข่งขันของฝรั่งเศสพบว่าทางบริษัท Luxottica, LVMH และ Logo ได้จำกัดเสรีภาพในการตั้งราคาของผู้ค้าปลีกแว่น จากการขายแว่นตาแฟชั่นจากแบรนด์ต่างๆ อย่าง Chanel, Ray Ban, Prada และ Bulgari โดยทางเหล่าบริษัทดังกล่าวลงโทษผู้ค้าปลีกที่ตั้งราคาแว่นเองด้วยการไม่ยอมส่งสินค้าให้
นอกจากนี้ หน่วยงานการค้ายังได้ตรวจพบว่า Luxottica, LVMH และ Chanel สั่งห้ามขายแว่นตาออนไลน์ในแบรนด์แฟชั่นอย่าง Prada, Dolce & Gabbana และ Bulgari ยิ่งไปกว่านั้น EssilorLuxottica บริษัทแว่นตายักษ์ใหญ่ในเครือของ Luxottica กำลังอยู่ภายใต้การพิจารณาของคณะกรรมาธิการยุโรป เพื่อให้กลุ่มบริษัทดังกล่าวมีอัตราการขยายตัวภายใต้กรอบกฎเกณฑ์การควบรวมกิจการของสหภาพยุโรป
สำนักงานบริหารจัดการกฎระเบียบตลาดแห่งรัฐ (SAMR) ออกคำสั่งเมื่อช่วง ก.ค.ของปีก่อน ให้ปรับเงินบริษัทยักษ์ใหญ่ด้านเทคโนโลยีของจีนอย่าง Alibaba, Tencent และ Didi Chuxing เป็นเงินกว่า 500,000 หยวน (ประมาณ 2.5 ล้านบาท) หลังพบข้อผิดปกติในการควบรวมกิจการตลอดทศวรรษที่ผ่านมา
ก่อนหน้านี้ Alibaba เคยถูกทางการจีนสั่งปรับเงินด้วยความผิด 6 ข้อหา ที่เกี่ยวข้องกับการละเมิดกฎการผูกขาดในประเทศจีน ซึ่งคิดเป็นเงินค่าปรับกว่า 1.8 หมื่นล้านหยวน (ประมาณ 9.17 ล้านบาท) ทั้งนี้ ทั้งสามบริษัทได้ทำการเข้าซื้อหุ้นของกิจการอื่นๆ โดย Alibaba ที่เข้าซื้อหุ้นคลับฟุตบอลของ Evergrande กว่า 50% และการเข้าซื้อหุ้น 40% ของ Landmilk บริษัทผลิตนมในเซี้ยงไฮ้
ส่วน Tencent ถูกสั่งปรับจากความผิดใน 5 กรณี เช่น การเข้าซื้อหุ้น 32.4% ของ 58.com ในช่วงเดือน มิ.ย. 2563 การซื้อหุ้น 10% จาก Cheetah Mobile บริษัทพัฒนานาซอฟต์แวร์อินเทอร์เน็ตของโทรศัพท์มือถือ ในปี 2554 รวมถึงการเข้าซื้อหุ้น 36.5% ของบริษัทเสิร์ชเอนจินอย่าง Sogou ในปี 2556 ด้วยเช่นกัน
เช่นเดียวกันกับ Didi ที่ถูกทางการจีนจัดการอย่างหนักด้วย 2 ข้อหาของการละเมิดกฎการควบรวมกิจการ หลังมีหลักฐานพบว่า บริษัทดังกล่าวเสนอขายหุ้นให้แก่ประชาชนทั่วไปในนิวยอร์ก สหรัฐฯ เป็นมูลค่ากว่า 4.4 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ (ประมาณ 1.4 แสนล้านบาท) มาตรการการปรับบริษัททั้งสามครั้งใหญ่ ยังเป็นอีกส่วนหนึ่งในการเข้าควบคุมกิจการเอกชนของรัฐบาลจีนในช่วงเวลาไม่กี่ปีที่ผ่านมาด้วยเช่นกัน
ตัวอย่างดังกล่าวจากต่างประเทศชี้ว่า ไม่มีอะไรที่เกินความสามารถของหน่วยงานภาครัฐในการควบคุมการผูกขาดของบริษัทเอกชนรายใหญ่ในประเทศ ไทยเองกำลังมีประเด็นการควบรวมธุรกิจโทรคมนาคมระหว่าง DTAC กับ True ซึ่งถูกตั้งข้อกังวลจากภาคผู้บริโภคว่าอาจนำมาซึ่งการผูกขาดตลาดโทรคมนาคมในไทยหรือไม่ เรื่องเหล่านี้จะเกิดขึ้นไม่ได้หากรัฐไทยบังคับใช้กฎหมายควบคุมการผูกขาดที่เข้มงวดและไม่เอื้อต่อเจ้าสัวรายใดๆ ก็ตามอย่างเคร่งครัด