ไม่พบผลการค้นหา
รู้จัก ‘วรัญชัย โชคชนะ’ ตำนานที่ยังมีชีวิต ชายผู้แอคทีฟทางการเมืองมาตลอดสี่ทศวรรษและเคยลงสมัครเลือกตั้งผู้ว่า กทม. ถึง 6 สมัย จากลูกอีสานพลัดถิ่น สู่ครูสังกัด กทม. ถึง ‘6 ตุลา 19 ‘ ทำให้เห็นเนื้อแท้เผด็จการว่าคือต้นตอปัญหาที่แท้จริง กระแสเปิดตัวผู้สมัครชื่อดังเรียงหน้าออกมาแล้ว แต่ กทม. ในฝันของเขาเป็นอย่างไร

ถ้าพูดถึงพื้นเพดั้งเดิมเขาเป็นคนอีสาน เกิดที่อำเภอวาปีปทุม จังหวัดมหาสารคาม 2495 คือปีเกิด เขามีพ่อแม่เป็นคนจังหวัดอุบลราชธานี และด้วยความที่มีพ่อเป็นปลัดอำเภอ ทำให้ช่วงวัยเด็กเขาย้ายที่อยู่หลายครั้ง ขึ้นอยู่กับพ่อว่าจะได้รับการแต่งตั้งโยกย้ายให้ไปประจำการที่อำเภอไหน

วรัญชัย โชคชนะ ชายในวัย 70 ปี ย้อนถึงอดีตของตัวเองก่อนชีวิตจะพัดพาเขาเข้าสู่เมืองหลวง และกลายเป็นตำนานผู้สมัครรับเลือกตั้งผู้ว่ากรุงเทพฯ 6 สมัย แม้ว่าจะไม่ได้รับเลือกตั้งเลยสักครั้งเดียว แต่คะแนนที่เขาเคยได้รับมากที่สุดในลงสมัครคือ 1 หมื่นกว่าเสียง แน่นอนว่าเขาตั้งใจจะทำลายสถิติตัวเองอีกครั้งในการเลือกตั้งผู้ว่า กทม. ในสมัยนี้ อย่างน้อยก็ขอให้ได้แสดงวิสัยทัศน์ และกระทบไหล่กับบรรดาผู้สมัครรุ่นน้องหลายๆ คน

วรัญชัย_voice-logo_018.jpg

ลูกอีสานพลัดถิ่นสู่ครู กทม. 6 ตุลา 19 ทำความคิดเปลี่ยน

ลูกอีสานพลัดถิ่นต้องย้ายที่อยู่หลายครั้ง จากวาปีปทุมไปบรบือ จากบรบือไปอำนาจเจริญ ไปม่วงสามสิบ และเลิงนกทา เขาเริ่มต้นเรียนหนังสือที่อำนาจเจริญ ก่อนจะย้ายที่เรียนเรื่อยมาจนจบชั้น ป.7 ที่ โรงเรียนอุบลวิทยาคม และได้ย้ายเข้ามาเรียนต่อในกรุงเทพฯ ชั้น มส. ที่โรงเรียนวัดบวรนิเวศ ย่านบางลำภู เมื่อปี 2510 หลังจากนั้นเขาได้อบรมต่อที่วิทยาลัยครูสวนดุสิต และจบปริญาตรีจากคณะคุรุศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏพระนคร ก่อนจะเข้ารับราชการครูในปี 2519 จนกระทั่งตัดสินใจลาออกจากอาชีพที่มั่นคงมาสู่สนามการเมืองอย่างเต็มตัวในปี 2529 

เขาว่า การตัดสินใจจบอาชีพราชการครูเกิดจากการถูกกลั่นแกล้งทางการเมือง เพราะขณะอยู่ในอาชีพครู สิ่งที่เขาทำในฐานะประชาชนคนหนึ่งคือ การเป็นศัตรูกับเผด็จการ แม้จะไม่ได้มีส่วนร่วมในทางตรงกับเหตุการณ์ล้อมปราบนักศึกษาที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เหมือนวันที่ 6 ตุลาคม 2519 แต่ภาพเหตุการณ์ที่ถูกเผยแพร่ออกมาในวันนั้นทำเขาตระหนักรู้ด้วยตัวเองว่า ชีวิตนี้ขอยืนอยู่ฝั่งตรงข้ามกับเผด็จการ

“ผมเริ่มสนใจการเมืองก็ปี 19 แต่ก่อนไม่ได้รู้เรื่องการเมืองหรอก แต่พอถึงปี 19 พวกนักศึกษาเขาออกมาต่อสู้ ต่อต้านเผด็จการถนอม-ประภาส ก็ถูกทหารตำรวจ ทุบตีทำร้าย เอาคนไปแขวนคอใต้ต้นมะขาม ผมถึงได้รู้ว่าเผด็จการมันเป็นยังไง”

“ในช่วง 20 21 ช่วงที่ออกมาไล่รัฐบาลเกรียงศักดิ์ เขาไม่รู้ว่าผมเป็นครู แต่หลังจากนั้นเขารู้ว่าผมเป็นครู เขาก็กลั่นแกล้งสารพัด ให้ย้ายไปไหนต่อไหนสารพัด ผมก็ทนมา แล้วก็ตัดสินใจลาออกในปี 29”

ข้าราชการครูสังกัด กทม. เริ่มต้นชีวิตการเมืองบนท้องถนนด้วยการออกมาขับไล่รัฐบาลเกรียงศักดิ์ ชมะนันทน์ เมื่อปี 2520 เรื่อยมาจนถึงยุคประชาธิปไตยครึ่งใบ ยุคที่น้ำเป็นของปลา ฟ้าเป็นของนก และนายกฯ เป็นของเปรม กระทั่งเกิดการรัฐประหารอีกครั้งในปี 2534 โดยเผด็จการ รสช. ไล่เรียงต่อมาในปี 2535 ที่ผู้คนต่างออกมาประท้วงขับไล่ พล.อ.สุจินดา คราประยูร ร่วมผลักดันรัฐธรรมนูญปี 2540 รวมทั้งการต่อต้านรัฐประหาร 2549 และรัฐประหาร 2557 ไม่ว่าจะในฐานะอะไรก็ตาม วรัญชัย คือคนหนึ่งที่อยู่ร่วมในทุกการเคลื่อนไหว

“พอมาถึงต่อสู้ไล่สุจินดา ผมก็นึกว่าจะหมดไปแล้ว หนอยแน่ปี 49 พล.อ.สนธิ ดันมาไล่ทักษิณ ชินวัตร อีก พอมายิ่งลักษณ์ เอ้าโผล่มาอีกแล้วเผด็จการ ผมคิดว่าบ้านเมืองที่มันไม่เจริญไม่ก้าวหน้าก็เพราะแบบนี้”

ส่วนการเคลื่อนไหวในระลอกล่าสุดเมื่อปี 2563-2564 ที่นำโดยกลุ่มราษฎรนั้น วรัญชัย เปิดเผยว่าเขาเห็นด้วยกับการออกมาเคลื่อนไหวขับไล่เผด็จการของกลุ่มเยาวชน คนรุ่นใหม่ เพราะว่าสิ่งที่เด็กๆ พยายามผลักดันเป็นสิ่งที่มีประโยชน์ต่อประเทศชาติ เพียงแต่ตัวเขายังไม่กล้าขยับตัวเองไปถึงขั้นเรียกร้องการปฏิรูปสถาบัน ส่วนหนึ่งเป็นเพราะไม่พร้อมรับกับความเสี่ยง ฉะนั้นคิดเห็นอย่างไรก็ขอเก็บไว้ในใจก่อน 

เขาเล่าเรื่องราวของชีวิตการต่อสู้ผ่านสมุดวาดเขียน ที่นำมาทำเป็นบันทึกประวัติศาสตร์บนหน้าหนังสือพิมพ์ของตัวเอง ทั้งหมดที่เขาหยิบมาเปิดให้ดูมี 21 เล่ม เมื่อไล่เรียงไปครบทุกเล่มและชวนเขามองกลับไปว่า เขานิยามตัวเองว่าเป็นใคร วรัญชัย ยืนยันเสียงหนักแน่นอนว่า 

“ผมเป็นนักต่อสู้เพื่อประชาธิปไตย ผมต่อสู้กับเผด็จการ ผมไม่อยากเห็นบ้านเมืองนี้เป็นเผด็จการแน่นอน ไม่ใช่คนที่มาจากการลากตั้ง ยึดอำนาจมาแล้วมาเป็น”

วรัญชัย_voice-logo_006.jpg


กรุงเทพในความทรงจำ และเหตุผลที่ลงสมัครผู้ว่า กทม.

วรัญชัยมีความผูกพันกับหลายพื้นที่ในกรุงเทพ แม้จะเข้ามาเรียนหนังสือตอนปี 2510 แต่เขาเข้ากรุงเทพฯครั้งแรกเมื่อปี 2506 เพราะพ่ออยากให้มาสัมผัสบรรยากาศของเมืองหลวง ครั้งนั้นเขานั่งรถไฟจากอุบลฯ ตอน 6 โมงเช้า เดินทางมาถึงสถานีสามเสนตอน 3 ทุ่ม วรัญชัยพูดติดตลกว่า สมัยนี้ดีขึ้นกว่าเดิมนิดหน่อยถ้านั่งรถไฟตอนเช้า เย็นๆ ก็คงถึงกรุงเทพ 

เขาเข้ามาใช้ชีวิตที่กรุงเทพฯ จริงๆ เมื่อปี 2510 โดยอาศัยอยู่ตามบ้านญาติพี่น้อง ครั้งแรกเขาพักอยู่แถวศรีย่าน ความทรงจำที่พอจะนึกออกเกี่ยวกับศรีย่านในเวลานั้นคือ ร้านขายก๋วยเตี๋ยวลูกชิ้นน้ำใส นอกจากนั้นก็เคยไปอาศัยอยู่ตามวัดไม่ว่าจะเป็นวัดนรนาถสุนทริการาม วัดเทวราชกุญชรวรวิหาร วัดสระเกศราชวรมหาวิหาร จากนั้นก็ไปอยู่กับญาติแถวบางขุนเทียน แล้วก็ย้ายมาอยู่กับเพื่อนแถวสะพานใหม่ ก่อนจะมาลงหลักปักฐานที่บ้านพักของตัวเองย่านดอนเมือง ฉะนั้นกรุงเทพฯ ที่เขาเห็นในอดีตหากเทียบกับปัจจุบันมีทั้งสิ่งที่แตกต่าง และสิ่งที่ยังคงเป็นเหมือนเดิม 

“สมัยผมเข้ามาแรกๆ เขายังทำรถรางกันอยู่ ตอนนั้นไม่มี ขสมก. ทางด่วนก็ไม่มี รถไฟฟ้าใต้ดินบนดินไม่มีเลย เปลี่ยนไปเยอะเหมือนกัน คนมากขึ้น รถราก็มากขึ้น พอเป็นแบบนี้มันก็เริ่มแออัด ชุมชนแออัด ถนนแออัด คนลำบากมากขึ้น คำขวัญของผมคือ จงเพิ่มล้อ แต่อย่าเพิ่มรถ หมายความว่าให้มีรถขนส่งมวลชนให้มากขึ้น”

ในปี 2533 คือครั้งแรกที่วรัญชัย ลงสมัครรับเลือกตั้งผู้ว่า กทม. เมื่อถามถึงความตั้งใจในครั้งนั้น เขาเห็นว่า หลังจากที่เข้ามาอยู่ในกรุงเทพฯเพื่อเรียน และทำงานเป็นเวลาหลายปี เขาพบเห็นปัญหาของกรุงเทพฯ หลายอย่าง และอยากจะเข้าไปแก้ไขปัญหาด้วยตัวเอง ไม่ว่าจะเป็นด้านการโยธา การคลัง การศึกษา และการสาธารณสุข โดยในการเลือกตั้งครั้งแรกเขาได้รับคะแนนเสียง 1 หมื่นกว่าคะแนน หากจัดอับดับเขาอยู่ในอันดับที่ 5 ส่วนในปีนั้นผู้ชนะคือ พล.ต.จำลอง ศรีเมือง ได้คะแนนเสียงไปประมาณ 7 แสนคะแนน

“ที่ประทับใจที่สุดคือครั้งแรก ตอนนั้นผมไม่ได้หมายเลข 1 แล้ว อสมท.ช่อง 9  เขาเอารายชื่อผู้สมัครไปประชาสัมพันธ์ สมัยนั้นยังไม่มี Voice ยังไม่มีช่องดาวเทียม ยังไม่มีอะไรทั้งนั้น มีแค่ 3 5 7 9 แล้วก็ 11 อะไรทำนองนี้ พอตกเย็นมาก็เอาแล้วผู้สมัครผู้ว่า กทม. เบอร์ 1 นายวรัญชัย โชคชนะ คนเขาก็รู้จักผมหมดเลย ผมได้อันดับ 5 แต่คุณจำลองได้เป็นผู้ว่า กทม. ต่ออีกสมัย”

แม้ในการลงสมัครรับเลือกตั้งครั้งแรกจะยังไม่ชนะ แต่วรัญชัยยังคงลงสมัครรับเลือกตั้งผู้ว่า กทม. เรื่อยมารวม 6 สมัย และได้คะแนนเสียงลดลงมาเหลืออยู่เพียงแค่ไม่เกิน 2 พันคะแนน แต่สาเหตุที่เขายังคงเดินหน้าต่อไปในเส้นทางนี้ โดยที่อาจจะรู้ตั้งแต่แรกว่าไม่มีทางสู้กับแคนดิเดตอันดับต้นๆ ได้เป็นเพราะ เขามองเห็นว่า การอยู่ในฐานผู้สมัครนั้นมีพื้นที่ให้เขาได้สะท้อนปัญหา และแสดงวิสัยทัศน์ต่อการแก้ปัญหาของ กทม. 

“หนึ่งผมเห็นว่า ปัญหา กทม. ยังไม่ได้รับการแก้ไข สองมันเป็นเวทีที่เราสามารถแสดงความเห็นได้อย่างเต็มที่ สามเราไม่จำเป็นต้องสังกัดพรรค และสี่มันทำให้เราออกไปสะท้อนปัญหาของ กทม. ได้ดีขึ้น”

วรัญชัย_voice-logo_014.jpg

หวังทำลายสถิตตัวเองลงสมัครครั้งที่ 7 ชูสโลแกน ‘4 ดี - 7 ส.’

“รอบนี้ผมก็น้อยใจอยู่เมือนกัน 3 คนเขาเปิดตัวกันไปแล้ว ก็มีข่าวกันไปก่อน ผมนี่ยังยังไม่ได้เปิดตัวอะไรเลย แย่ เอาไว้ตอนวันสมัครนี้แหละจะได้กระทบไหล่กันหน่อย”

เมื่อถามถึงการเลือกตั้งผู้ว่า กทม. ที่กำลังจะมาถึงในอีกไม่นานนี้ วรัญชัย ในวัย 70 ปี เปิดเผยอย่างตรงไปตรงมาว่า เขาอยากจะลงสมัครอีกสักครั้ง แต่ติดปัญหาที่ว่าค่าสมัครผู้ว่า กทม. มีราคาแพงเกินไปสำหรับเขา หากจะลงจริงๆ ก็คงต่อถามพรรคพวกว่าพร้อมสนับสนุนอยู่หรือไม่ แน่นอนว่าหนทางชนะค่อนข้างไกล แต่เขาเชื่อมั่นว่าบนเวทีแสดงวิสัยทัศน์เขาสู้ได้ทุกคนไม่เป็นสองรองใคร และเชื่อด้วยว่าสิ่งที่เขาจะพูดน่าจะมีคนฟังแล้วนำไปปรับใช้เพื่อแก้ไขปัญหา กทม. 

“ถ้าผมได้เป็นผู้ว่าฯ ผมจะเปิดเวทีประชาธิปไตย ให้คน กทม. ทั้ง 50 เขตที่มีปัญหาต่างๆ ได้เสนอเรื่องไปที่ผู้อำนวยการเขต เพราะแค่ผู้ว่า กับรองผู้ว่า ดูแลได้ไม่หมดหรอก แล้วผมก็ต้องการพัฒนาคน กับพัฒนาเมือง พัฒนาคนหมายความว่า ทำให้คนกรุงเทพฯในแต่ละเขตอยู่ดีกินดี พัฒนาเมืองก็ต้องดูแล บ้านคนยากคนจนในสลัม แหล่งเสื่อมโทรมต่างๆ ควรจะพัฒนา คนเร่ร่อน คนไร้บ้านก็ต้องไปช่วยเขา ส่วนถนนก็ต้องไปดูว่าซ่อมอะไรก็บ่อยมาก น้ำในคลองก็ต้องทำให้สะอาด ฝุ่นมลพิษต่างๆ ก็ต้องจัดการ การจราจรจะแก้ไขยังไง รถไฟฟ้าทำไมมันแพงนัก แพงขนาดนี้คนก็ขึ้นกันไม่ไหว”

วรัญชัย สะท้อนปัญหาของ กทม. เป็นพิเศษโดยเฉพาะในด้านการเดินทาง และการจราจร ซึ่งเขาเห็นว่าเป็นปัญหาเรื้อรังมานาน แม้จะมีการทำส่วนต่อขยายรถไฟฟ้าเพิ่มขึ้นหลายจุดแล้วก็ตาม แต่ปัญหาที่ตามมาคือ คนยังใช้บริการขนส่งมวลชนน้อยเกินไป และทำให้เกิดการกระจุกตัวกันบนท้องถนน แน่นอนเขาเห็นว่า ค่าโดยสารรถไฟฟ้า หาถูกลงกว่าที่เป็นอยู่จะตอบโจทย์ทุกอย่างได้ 

นอกจากนี้เขายังโชว์สโลแกนของตัวเอง คือ ‘4 ดี และ 7 ส.’ 4 ดี ที่ว่าคือ เกิดดี กินดี อยู่ดี และตายดี ที่หมายถึงได้รับการรักษาพยาบาลที่ดีก่อนที่จะตาย ส่วน 7 ส. เขาหมายถึง สะอาด สะดวก สะบาย สดชื่น สวยงาม สงบ สว่าง นั่นคือสโลแกนกว้างที่เขาวางไว้สำหรับการเปลี่ยนแปลงกรุงเทพฯ 

วรัญชัย_voice-logo_005.jpg

ไม่ใช่แค่คนกรุงเทพฯ ที่ควรได้เลือกผู้ว่าฯ แต่คนต่างจัดหวัดก็ควรได้เลือก

วรัญชัย ย้ำด้วยว่า สิ่งที่เขาต้องการให้เกิดขึ้นจริงๆ คือการเปิดให้มีการเลือกตั้งผู้ว่าราชการได้ทุกจังหวัด เพราะเห็นว่า คนต่างจังหวัดก็เป็นคนไทยเหมือนกัน เสียภาษีเหมือนกัน และมีความคิดความอ่านเหมือนกัน ก็ควรที่จะให้คนต่างจังหวัดได้เลือกผู้ว่าฯ ของตัวเอง 

“เสียภาษีเหมือนกัน คนก็ฉลาดเท่ากัน ข่าวสารก็เข้าถึงเหมือนกัน คนมันเท่าเทียมกันหมดแล้ว แล้วมันเรื่องอะไรที่จะให้เฉพาะคนกรุงเทพฯ ได้เลือกผู้ว่าฯ มันเอาเปรียบกันเกินไป”

“ทำไมคนต่างจังหวัดจะต้องรอรับผู้ว่าฯ จากมหาดไทย โชคดีก็ได้ผู้ว่าฯดี โชคไม่ดีก็แย่อีก ได้ผู้ว่าฯ ที่ไม่เก่ง แล้วทุกวันนี้เราก็พากันยกย่อง ผู้ว่าฯ หมูป่า ผู้ว่าปั่นจักรยาน มันจะมีกี่คนที่เป็นอย่างนั้นละ แต่เรื่องการทำงานพัฒนาไม่รู้แค่ไหนนะ ผมยังไม่รู้ฝีไม้ลายมือ”

เขายืนยันว่า คนไทยทุกคนควรมีโอกาสเลือกตั้งผู้ว่าฯ เหมือนกับคนกรุงเทพฯ เพราะการได้เลือกตั้งผู้ว่าฯ นั้นสามารถทำให้ประชาชนได้เลือกคนที่เขาคิดว่าเก่ง ทำงานได้ แก้ปัญหาได้เข้ามาทำงาน หากไม่ดีไม่เก่งแบบที่คิด 4 ปีก็เลือกใหม่ แล้วประชาชนก็จะไม่เลือกไปเอง แต่การที่ส่งคนมาจากมหาดไทยนั้นไม่ได้มีความผูกโยงอะไรกับประชาชนเลย บางทีก็ได้ผู้ว่าฯ ที่ไม่เอาไหน อยู่แค่จวนผู้ว่า ศาลากลาง แล้วก็ไปต้อนรับเจ้านายอยู่ที่สนามบิน 

วรัญชัย_voice-logo_011.jpg

วิจารณ์ผู้ว่าฯ แต่งตั้ง เชื่อเลือกตั้งรอบนี้คึกคักสุด 

วรัญชัย เล่าต่อว่าผู้ว่าฯ กทม. ที่มาจากการเลือกตั้งนั้น เคยถูกคว่ำลงหลังการรัฐประหารแล้ว 2 คนคือ ธรรมนูญ เทียนเงิน ผู้ว่าฯ คนแรกที่มาจากการเลือกตั้ง ถูกคว่ำโดยรัฐบาลธานินทร์ กรัยวิเชียร หลังเหตุการณ์ 6 ตุลา 19 ซึ่งหลังจากนั้นไม่มีการเลือกตั้งผู้ว่าฯ ยาวนานถึง 8 ปี ต่อมาคนที่ 2 คือ หม่อมราชวงศ์สุขุมพันธุ์ บริพัตร ซึ่งถูกคำสั่งคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ให้พ้นจากตำแหน่งเมื่อวันที่ 18 ต.ค. 2559 และให้พล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง รองผู้ว่าฯ กทม. ในขณะนั้น ขึ้นเป็นผู้ว่าฯ กทม.แทน

วรัญชัยเรียก พล.ต.อ.อัศวิน ว่า ผู้ว่าฯส้มหล่น และเมื่อถามว่ามองการทำงานของผู้ว่าฯ กทม. ที่ได้มาจากการแต่งตั้งอย่างไร วรัญชัยเห็นว่า คนเหล่านี้ส่วนใหญ่เป็นข้าราชการ ไม่ใช่นักการเมือง การทำงานจึงเป็นไปแบบข้าราชการ ไม่ได้มีความคิดสร้างสรรค์มากนัก

“คนล่าสุด (พล.ต.อ.อัศวิน) ผมคิดว่าเขาหมดไฟแล้ว ถ้าเป็นมวยก็หมดสภาพชกแล้ว ถ้าเทียบกับผมยังไฟแรงกว่า การพูดแกสู้ผมไม่ได้ แกปราศรัยเป็นหรือเปล่ายังไม่รู้เลย วิสัยทัศน์อะไรผมก็ไม่รู้เหมือนกัน แล้วดันเอาลูกชายเข้าไปเป็นโฆษกอีก ผมก็ไม่เข้าใจเหมือนกัน”

นอกจากนี้วรัญชัยเชื่อว่า ในการเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม. ในครั้งนี้จะมีความคึกคักเป็นพิเศษ เพราะคนไม่ได้ได้ใช้สิทธิเลือกตั้งผู้ว่าฯ ของตัวเองมานาน เขายกตัวอย่างถึงการเลือกตั้งท้องถิ่นที่ผ่านมาทั้งสามครั้งว่า มีคนออกไปใช้สิทธิจำนวนมาก และคาดว่าสำหรับการเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม. จะเป็นการเลือกตั้งที่คนมาใช้สิทธิมากที่สุด และจะยิ่งใหญ่มากกว่าทุกครั้งที่ผ่านมา

“ที่เปิดตัวกันมาตอนนี้ ผมก็เคยคุยมาหมดแล้ว ชัชชาติก็เคยคุย วิโรจน์ก็เคยคุย แล้วรสนาก็เคยคุยกัน ส่วนที่ไม่เคยคุย แต่เขาน่าจะรู้จักผมอยู่เหมือนกันก็คือ ดร.เอ้ ถามว่าจะมีกันแค่นี้ไหมผมว่าไม่น่าใช่ คิดว่าจะมีมากกว่านี้ ส่วนถามว่าแอบเชียร์ใคร ตอนนี้ถามผมลงก็ต้องเชียร์ตัวเองเอาไว้ก่อน จะให้ไปเชียร์คนอื่นไม่ได้มันขัดความรู้สึก ส่วนที่ถามว่าอยากได้ผู้ว่าฯ แบบไหน ก็ต้องเป็นคนที่แก้ปัญหาได้รวดเร็วทันใจ และรับฟังปัญหาประชาชนจริงๆ”

นอกจากนี้เขายังเห็นว่า คุณสมบัติของการเป็นผู้ว่าฯ กทม. ที่ดี ควรจะเป็นนักประสานงานที่ดีด้วย การจะมาปัดความรับผิดชอบว่าเรื่องนี้ไม่เกี่ยวกับ กทม. เป็นสิ่งที่ไม่ควรทำ อย่าพูดว่าเรื่องนี้เป็นเรื่องของไฟฟ้า ประปา องค์การโทรศัพท์ ขสมก. ฯลฯ เพราะอย่าลืมว่า กทม. เป็นเจ้าของพื้นที่ 

สิ่งที่วรัญชัยคาดหวังที่สุด ไม่ว่าใครจะได้มาเป็นผู้ว่า กทม. คือ อยากให้ผู้ชนะทำตัวให้สมกับการเป็นผู้ว่าฯ ที่มาจากการเลือกตั้ง และทำงานให้สมกับความไว้วางใจของประชาชน

สุดท้ายเมื่อถามว่า ที่ผ่านมามีหลายคนดูถูกว่า คนอย่างวรัญชัยไม่มีอะไรหรอกเขาก็แค่อยากดัง วรัญชัยสบตา พร้อมยืนยันคำตอบว่า 

“นักต่อสู้ นักเคลื่อนไหวทางการเมืองจะต้องไม่หวั่นไหวต่อคำติฉินนินทา นี่คือหลักสัจธรรม ถ้ามัวแต่ไปหวั่นไหวก็ทำงานไม่ได้ เขาจะว่าไง เราก็รับฟังไว้ แต่อย่าไปท้อถอย ส่วนที่ว่าเราอยากดัง ถ้าเราไม่มีเหตุมีผล ถ้าเราไม่ต้องสู้กับสิ่งที่ไม่ถูกต้อง ทำในสิ่งที่เป็นประโยชน์กับชาติบ้านเมือง ถึงดังไปก็ไม่มีประโยชน์ แต่ถ้าต่อสู้เพื่อความเป็นธรรม ต่อสู้เพื่อประชาธิปไตย ดังหรือไม่ดังมันก็ไม่ได้อยู่ที่ตัวคนสู้ มันอยู่ที่สื่อมากกว่า ถ้าเราเคลื่อนไหวแล้วไม่เข้าท่าเขาก็ไม่สนใจเอง”