ไม่พบผลการค้นหา
ผู้อำนวยการแอมเนสตี้ฯ วอนสังคมเข้าใจการทำงาน โดยเปรียบว่า ต้องการจุดเทียนแม้มีเเสงริบหรี่แต่ดีกว่าก่นด่าความมืด ด้านศาสตราจารย์ชัยวัฒน์ ระบุ "ความเกลียดชังจะกัดกร่อนสายสัมพันธ์และทำลายสังคมในที่สุด"

จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยจัดเวทีจุฬาฯ เสวนา ครั้งที่ 21 “ทุเลาความรุนแรงและความเกลียดชังในสังคมไทย” โดยศาสตราจารย์ พิรงรอง รามสูต รองอธิการบดี กำกับดูแลด้านสื่อสารบริการสังคมและพันธกิจสากล จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ระบุถึงงานวิจัยเกี่ยวกับความไม่ลงรอยกันในสังคมไทย ก่อนเริ่มการเสวนาว่า Hate Speech (การใช้วาจาสร้างความเกลียดชัง) มี 4 ระดับ โดยระหว่างที่มีความขัดแย้งทางการเมืองช่วงปี 2553 นั้น hate speech ของไทยอยู่ระดับ 3 คือ ยั่วยุให้เกิดความรุนแรง แต่ปี 2562 ยังไม่ได้มีการวิจัย

อย่างไรก็ตาม ตลอด 4-5 ปี หลังการรัฐประหาร 2557 พิสูจน์แล้วว่า การพยายามสร้างภูมิคุ้มกันโดยการให้ความรู้และการรู้เท่าทัน เพื่อเตรียมสู่สังคมประชาธิปไตยนั้นยังไม่เพียงพอ โดยมีข้อสังเกตที่ตอกย้ำขั้วการเมือง มีการปล่อยข่าวลวงหรือกุข่าว การแบ่งฝ่ายทางความคิดและปักใจเชื่อโดยไม่สนใจข้อเท็จจริง โดยเฉพาะกลุ่มที่คิดเหมือนกันที่แสดงออกในโซเชียลออนไลน์ 

ศาสตราจารย์ ชัยวัฒน์ สถาอานันท์ หัวหน้าสาขาวิชาการเมืองการปกครอง คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวในการเสวนาว่า กลุ่มสุดขั้วที่ชอบความเกลียดชังมีทั่วโลก ในไทยเองหากใครแสดงความเห็นใจคนอีกฝ่ายหนึ่งก็จะถูกโจมตีจากฝ่ายตรงข้าม อย่างกรณีนายสิรวิชญ์ เสรีธิวัฒน์ หรือจ่านิว นักเคลื่อนไหวที่ถูกทำร้าย ฝ่ายหนึ่งมองว่าเป็นฮีโร่ประชาธิปไตย แต่อีกฝ่ายหนึ่งมองว่าถูกจ้างมา ส่วนตัวมองจ่านิว ซึ่งเคยเรียนในวิชาที่ตัวเองสอนด้วย จึงเห็นเป็นนักศึกษาคนหนึ่งที่มีความสุภาพ อ่อนโยน โดยเฉพาะเวลาที่จ่านิวพูดถึงแม่จะยิ่งมีอ่อนโยนที่สุด ดังนั้นควรมองคนๆ หนึ่งในหลายมิติ มองเห็นความเป็นมนุษย์ ซึ่งจะลดทอนความเกลียดชังต่อกันลงได้

ศาสตราจารย์ ชัยวัฒน์ กล่าวด้วยว่า ความเกลียดชัง ในฐานะที่เป็นความรู้สึกนั้น มีคุณสมบัติพิเศษ คือ สามารถส่งต่อผ่านกันได้เช่รเดียวกับหลายๆความรู้สึก โดยส่วนตัวนิยามว่า "ความเกลียดคือยาพิษ" ที่จะกัดกร่อนสายสัมพันในสังคมและทำลายสังคมในท้ายที่สุด ขณะที่มีโมเดลที่เป็นข้อเสนอจากบางประเทศ คือ "การคุ้มครองป้องกันพลเรือนโดยพลเรือน" ที่ไม่ใช้อาวุธหรือความรุนแรง โดยเรียกว่า "การไปอยู่ด้วยกัน" เพื่อให้ผู้ที่จะทำร้ายคนๆหนึ่ง เมื่อเห็นอีกคนหนึ่งอยู่ด้วย อาจไม่กล้าหรือเลี่ยงที่จะใช้ความรุนแรง และอาจไม่ต้องใช้นักพัฒนาหรือ NGOs แต่มาจากกลไกรัฐสภาด้วยมาตรการบางอย่างก็ได้ พร้อมย้ำว่า แม้คนไทยหรือผู้แทนในสภาไม่เห็นพ้องต้องกันในหลายเรื่อง แต่ควรมองว่า ทุกคนไม่มีสิทธิ์ไปตีหัวใครด้วยไม้เบสบอล

ด้านนายวันชัย ตันติวิทยาพิทักษ์ นักเขียนรางวัลศรีบูรพาและอดีตผู้อำนวยการฝ่ายข่าวสถานีโทรทัศน์แห่งหนึ่ง กล่าวว่า ท่ามกลางสถานการณ์ต่างๆ โดยเฉพาะความขัดแย้งทางการเมือง สำหรับองค์กรสื่อสารมวลชนแล้วมี 2 ทางเลือก คือ "จะฆ่าความจริงที่เกิดขึ้นหรือจะพูดความจริง พร้อมยืนยันว่า การพูดความจริงจะสร้างความน่าเชื่อถือและความเป็นมืออาชีพให้กับองค์กร และสำหรับองค์กรหรือหน่วยงานด้านอื่นๆ การยอมรับความจริงก็จะสร้างความน่าเชื่อถือให้กับองค์กรนั้นเช่นเดียวกัน 

นายวันชัย กล่าวด้วยว่า สังคมไทยชอบเรื่องดราม่าหรืออะไรที่มีพระเอกกับผู้ร้าย ซึ่งจะกระพือข่าวได้ง่าย และอีกด้านคนไทยก็ถูกสอนให้เชื่อฟัง ไม่ตั้งคำถามจึงไม่นำสู่การค้นหาความจริง และที่น่าสลดใจคือการไม่ทันได้ฟัง แต่ก็ปักใจเชื่ออย่างสื่อบางสำนักพาดหัว ข่าวกับเนื้อข่าวต่างกัน เมื่อคนเห็นเพียงพาดหัวข่าวก็เชื่อและส่งต่อทางออนไลน์ในทันที 

พร้อมย้ำว่า สื่อเลือกข้างเป็นเรื่องปกติซึ่งมีอยู่ทั่วโลก แต่ต้องมุ่งค้นหาความจริงไม่เช่นนั้นก็ไม่ต่างจาก พนักงาน Forward mail แม้ว่าการทำข่าวภาคสนามจะถูกคัดกรองหรือเซ็นเซอร์บางอย่าง จากผู้มีตำแหน่งสูงกว่าหรือเจ้าของกิจการสื่อก่อนนำเสนอออกไป แต่ความน่าเชื่อถือจะเป็นภูมิคุ้มกันสื่อเองและจะช่วยทุเลาความรุนแรงในสังคมได้ ส่วนตัวเชื่อว่าการฆ่าความจริง จะขยายวงเร็ว แต่ในระยะยาวการพูดความจริงจะชนะในท้ายที่สุด

ขณะที่ นางสาวปิยนุช โคตรสาร ผู้อำนวยการแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย ระบุถึง การทำงานที่ผ่านมา โดยเฉพาะการรณรงค์ช่วยเหลือผู้ลี้ภัยและคัดค้านโทษประหารชีวิต มักจะถูกสังคมอีกฝ่ายหนึ่งโจมตีและคุกคามโดยเฉพาะในโลกออนไลน์ด้วยอคติ จึงอยากให้มองถึงความเป็นมนุษย์ของคนทุกคน แม้ไม่เห็นด้วยกับการเคลื่อนไหว แต่ไม่ควรใช้ความรุนแรง และหวังให้ทุกฝ่ายเข้าใจการทำงานของแอมเนสตี้ฯ ที่พยายามให้สังคมตระหนักถึงสิทธิมนุษยชนและการเคารพศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ แม้อาจมีหวังเพียงริบหรี่ แต่ก็ยืนยันในหลักคิดการทำงานที่ว่า "การจุดเทียนดีกว่าก่นด่าความมืด" 

อย่างไรก็ตาม นางสาวปิยนุช ได้ให้สัมภษณ์ก่อนการเสวนาโดยเสนอว่า ภาครัฐเปิดพื้นที่และต้องคุ้มครองการเคลื่อนไหว, ชุมนุมหรือแสดงออกทางการเมืองอย่างสันติของประชาชน เพราะที่ผ่านมามีการทำร้ายนักกิจกรรมและหลายกรณียังไม่สามารถจับคนร้ายได้ มิหนำซ้ำยังมีการใช้อคติทางโซเชียลมิเดียทับถมผู้เสียหาย จึงทำให้สังคมตกอยู่ภายใต้ความกลัวและไม่มีหลักประกันที่จะทำให้ประชาชนมั่นใจต่อความปลอดภัยในชีวิต พร้อมกันนี้เรียกร้องให้ทุกฝ่ายช่วยกันเปิดพื้นที่รับฟังความเห็นที่แตกต่าง เคารพศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ของกันและกัน มุ่งร่วมกันแสวงหาความจริง และตำรวจต้องทำงานอย่างอิสระ โปร่งใส เป็นไปตามหลักสากล