ไม่พบผลการค้นหา
“จุดที่ตัดสินใจได้ยากมากที่สุด คือการลุกขึ้นขานชื่อ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นนายกรัฐมนตรี นั่นคือความอึดอัดใจมากที่สุดของผม ขัดใจตัวเองมาก แต่มันเป็นทางเลือกที่เดินหน้าต่อไปได้”

‘จากคนฝ่ายซ้าย สู่พรรคกลางๆ ยอมวางหลักการมาดับทุกข์ประชาชน’ คือบทคัดย่อตัวตน หลัง 'วอยซ์' ได้สนทนากับ ‘ภราดร ปริศนานันทกุล’ วัย 43 ปี อดีต ส.ส.อ่างทอง และโฆษกพรรคภูมิใจไทย ผ่านบทสัมภาษณ์พิเศษ #VoicePolitics

บุตรชายคนโตจากทั้งหมด 4 คนของ ‘สมศักดิ์ ปริศนานันทกุล’ อดีต ส.ส. 9 สมัย อดีต รมว.เกษตรและสหกรณ์ และอดีตรองประธานสภาผู้แทนราษฎร บ้านใหญ่อ่างทอง ที่ต้องยุติบทบาททางการเมืองลงเมื่อปี 2559

แต่เส้นทางของผู้เป็นพ่อส่งผ่านมายังลูกชายนั้นเพิ่งเริ่ม และส่อแววโลดแล่นได้อีกไกล ด้วยฝีปากคมกริบ และไหวพริบเฉียบแหลม ผลักให้เขามีบทบาทเป็น ส.ส.คลื่นลูกใหม่ น่าจับตาในสภาฯ

ไม่ต่างจาก ‘ภูมิใจไทย’ ซึ่งคิดการใหญ่ หมายโตวันโตคืน จนต้องเผชิญวิบากกรรมในช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อก่อนเลือกตั้ง ดังที่ ‘ภราดร’ มองว่า “เป็นเรื่องปกติที่จะโดนรุมกินโต๊ะ เพราะพรรคอื่นได้รับผลกระทบจากการเติบโตของภูมิใจไทย”

ภราดร VoicePolitics  E6354DDB2.jpeg

แม้ ‘พรรคภูมิใจไทย’ จะวางตนเป็นกลาง ไม่เป็นคู่ขัดแย้งใคร แต่ ‘ภราดร’ เปิดใจผ่าน #VoicePolitics ว่า เขาเองเคยยึดมั่นในอุดมการณ์ฝ่ายซ้ายมาโดยตลอด แต่เมื่อเข้าสู่สนามการเมือง และตัดสินใจสวมเสื้อพรรค ‘กลางๆ’ ประสบการณ์สอนเขาให้ยอมวางอุดมการณ์ที่เคยยึดถือลง เพราะบางปัญหาของประชาชน ก็รอไม่ได้

และจุดที่ทำใจลำบากที่สุดก็คือ การเป็น 1 เสียงที่ขานชื่อให้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา มาเป็นนายกรัฐมนตรี

แต่สนามเลือกตั้งไม่มีคำว่าปราณี พรรคภูมิใจไทย ซึ่งรับบทนั่งร้านแข็งแกร่งให้ 'ระบอบประยุทธ์' มาตลอด 4 ปี ถึงเวลาวางทิศทางตั้งหางเสือใหม่ เช่นเดียวกับ ภราดร ที่จะได้พิสูจน์ตัวบนเส้นทางสายกลาง ว่าเขาจะโลดแล่นไปได้อีกไกลเพียงใด

ภราดร LINE_ALBUM_VP_2303222.jpg

  • ชีวิตใน บ้าน (หลัง) ใหญ่ ‘ปริศนานันทกุล’

พ่อผมเป็น สมาชิกสภาจังหวัด (สจ.) ตั้งแต่ปี 2523 ผมเกิดปี 2522 ก็ 40 กว่าปี เริ่มผูกพันอยู่กับการเมือง ผูกพันกับท้องที่ พูดได้เลยว่าทำอาชีพนักการเมือง หลังจากปี 2523 แล้ว ก็มาลงผู้แทนครั้งแรกปี 2526 ปรากฏว่าแพ้ แล้วก็มาเป็น ส.ส.ครั้งแรก ปี 2529 เป็นต่อเนื่องกันมา 9 สมัย แล้วก็ส่งผ่านให้กัน

พ่อผมไม่เคยเข้าบ้านตรงเวลา ไม่เคยมีเวลาให้กับครอบครัวเท่ากับครอบครัวอื่นเขา เราจะเห็นว่าบางคนพ่อไปรับที่โรงเรียน ไปส่งที่โรงเรียน พาไปกินข้าว พวกผมนี่นานๆ ทีปีหนึ่งจะได้มีโอกาสไปเที่ยวต่างจังหวัดกับพ่อสักครั้ง บางครั้งนัดไว้แล้วแต่ติดภารกิจสำคัญ เร่งด่วน ก็ต้องเลื่อนนัดกันไป ตอนนั้นก็ค่อนข้างจะไม่เข้าใจ ด้วยสถานะที่ยังเป็นเด็กอยู่ แต่พอเรามาเป็น ส.ส.เอง เราเริ่มรู้ว่าเมื่อก่อนนี้ที่พ่อเป็นอย่างนั้น เพราะเหตุผลมันเป็นอย่างนี้เอง

ถ้าถามว่าท่านไม่มีเวลา ใช่ แต่พ่อก็ยังเอาใจใส่ ถามสารทุกข์สุขดิบ พอจะมีเวลาให้บ้าง ก็พาไปต่างจังหวัด ก็พาไปกินข้าวกันบ้าง

ภราดร ปริศนานันทกุล  VoicePolitics
  • ผู้เป็นพ่อได้ถ่ายทอดวิชาการเมืองให้ลูกชายบ้างหรือไม่

ไม่ใช่เป็นการถ่ายทอด หรือบอกเล่ากันด้วยคำพูด ผมได้มีโอกาสไปลงพื้นที่กับพ่อตั้งแต่สมัยผมเด็ก ถ้าผมจำความได้น่าจะ ป.1-2 ผมก็ไปแล้ว บางทีน้ำท่วม พ่อก็ลงไปเยี่ยมชาวบ้าน เอาของไปมอบให้ชาวบ้าน ไปดูแลชาวบ้าน เราก็ได้มีโอกาสติดตามไปแล้วก็รู้ว่าพ่อทำงานแบบนี้

ถึงแม้ว่าวันนี้คุณพ่ออายุ 72 ปี ก็ยังทำต่อเนื่องไป แม้ว่าวันนี้ไม่มีตำแหน่งหน้าที่ ไม่ได้เป็นผู้แทน ไม่ได้เป็นอะไรทั้งสิ้น ก็ยังลงพื้นที่แทนพวกผม ลงพื้นที่ช่วยพวกผมทำงาน

ผมว่าพ่อเป็นทุกอย่างครับ เป็นทั้งครู ทั้งผู้ให้กำเนิด เป็นทั้งผู้นำทางความคิด เป็นทั้งคนที่สอนวิชาทางการเมืองให้พวกเราด้วย บนเส้นทางการเมือง ผมว่าพ่อเป็นต้นแบบที่ดีให้กับพวกผม

ภราดร VoicePolitics  4622120B6C.jpeg
  • เมื่อมาเป็นนักการเมืองเอง หน้าที่ของเราต่างจากภาพในวัยเด็กหรือไม่

แบ่งได้เป็น 2 ส่วนชัดเจน พ่อผมไม่มีวันหยุดนะ ในสมัยก่อน แบ่งหน้าที่เป็น 2 ส่วน ส่วนแรกที่เราเห็นคือ ส่วนที่มาทำหน้าที่เป็นตัวแทนชาวบ้านในสภา อีกส่วนหนึ่งคือหลังจากที่มีการประชุมสภาแล้ว ว่างเว้นจากงานประชุมสภาคืองานพื้นที่ ซึ่งเขาก็ได้แสดงว่า เขาลงไปในพื้นที่ ทำงานเกาะติดกับปัญหาของชาวบ้าน เอาปัญหาเข้าไปพูดในสภา ผมจำได้ดี ปัญหาที่เขามาพูดในสภาแล้วผมเปิดดูทีวีบ่อยๆ คือปัญหาเรื่องชาวนา เกษตรกร เรื่องเพลี้ยกระโดดสีน้ำตาลบ้าง เรื่องราคาข้าวตกต่ำบ้าง สิ่งนี้เขาก็มาสะท้อนในสภา เป็นภาพที่เราเห็นติดตา

สมศักดิ์ ปริศนานันทกุล พรรคชาติไทยพัฒนา

  • วันที่เกิดเหตุการณ์ถูกตัดสิทธิทางการเมือง สร้างผลกระทบกระเทือนมากหรือไม่

ผมก็อยู่ในเหตุการณ์นั้นด้วย วันที่ศาลพิพากษา ก็เห็นความแข็งแกร่งของพ่อ ลองนึกสภาพของคนที่ไม่มีอาชีพอื่น คนที่ทำอาชีพเดียวมาตลอดชีวิต 40 ปี ปรากฏว่าถึงเวลาบอกให้คุณหยุดทำ คุณต้องเลิกทำ ทำไม่ได้ตามกฏหมาย แต่ก็ห้ามได้แต่เฉพาะตามกฏหมาย แต่ในทางปฏิบัติเขาก็ยังคงทำหน้าที่ของเขาอยู่ ยังทำวัตรปฏิบัติเหมือนเดิมของเขา

ตื่นมาพ่อผมวิ่งทุกวันนะครับ ทุกวันนี้อายุ 70 กว่า วิ่งวันละ 6-7 กม. ขยันกว่าผมอีก (หัวเราะ) วิ่งเสร็จแล้วก็ถึงเวลาก็ไปสำนักงาน ไปรับแขก คุยกับคนนู้นนี้ ชาวบ้านมาร้องเรียน งานบุญ งานบวช ก็ไปเยี่ยมเยียนเขา หรือมีงานประชุมในชุมชนมีชาวบ้าน มีโอกาสก็ไปเยี่ยมเยียนไปให้ข้อคิด ก็ยังทำอยู่อย่างนี้ทุกวัน

ศาลพิพากษาความเป็นนักการเมือง ฆ่าเขาทางการเมืองไปแล้ว แต่ว่าในทางจิตวิญญาณของเขา เขายังไม่ตาย เขาก็ยังคงทำกิจกรรมทางการเมืองอยู่


  • สำหรับเส้นทางชีวิตของพ่อที่เป็นแบบอย่างให้เรา เมื่อเข้าสู่เส้นทางการเมืองของตัวเอง อะไรในพรรคภูมิใจไทยที่ถูกต้องสำหรับเรา จึงย้ายเข้ามาจากพรรคชาติไทย

ผมว่าพรรคนี้ไม่ได้อยู่ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง เป็นพรรคตรงกลาง และข้อเด่นของพรรคนี้คือเป็นพรรคปฏิบัติการ เขาพูดไม่เยอะ แต่เขาทำ เมื่อเขาสัญญาอะไรกับชาวบ้านไปแล้ว เขาจะพยายามทำให้ได้ เป็นบุคลิกของเขา จึงเป็นที่มาของคำว่าพูดแล้วทำ ผมว่าเป็นบุคลิกที่แข็งแกร่งของพรรคภูมิใจไทยที่สามารถนำไปขายในตลาดได้

ภราดร IMG_3272.jpg

พรรคภูมิใจไทยจะทำงานเป็นระบบมากขึ้น มากกว่าพรรคชาติไทยที่มีลักษณะเป็นครอบครัวขนาดเล็ก ภูมิใจไทยเป็นครอบครัวที่มีขนาดใหญ่ขึ้น แต่สิ่งที่เขาคล้ายๆ กันก็คือ เป็นพรรคที่มีความเป็นครอบครัวสูงมาก หมายถึงผู้บริหารพรรคกับสมาชิกพรรคพูดคุยกันได้ทุกเรื่องนะครับ ใครมีปัญหาที่จะไปพูดคุยกับหัวหน้าพรรค เลขาธิการพรรค ก็เข้าถึงง่าย ไม่เหมือนกับพรรคอื่นๆ ซึ่งผมก็ไม่รู้นะ ได้ยินมาว่ามันมีขั้นตอน มีนายด่าน ก่อนที่จะพบหัวหน้า เลขาฯ อะไรแบบนี้ ของเราไม่เป็น

ทั้งผู้บริหารพรรค ทั้งหัวหน้า ทั้งเลขาฯ ก็กำชับทุกคน ว่าทุกคนต้องมีโมเดลแบบเดียวกันนะ มีบุคลิก มีอัตลักษณ์ของพรรคที่ชัดเจน คือการทำหน้าที่ในสภา คุณห้ามขาด เพราะฉะนั้นจะเห็นว่าวันพุธ พฤหัสเนี่ย สภาล่มแล้วล่มอีก ภูมิใจไทยอยู่ครบนะ เพราะเราได้รับการกำชับเข้มงวดมา ใครขาดต้องเรียกเข้าไปคุยนะ เพราะอะไรทำไมไม่อยู่ในสภา ไม่เป็นองค์ประชุมให้เขา คุณเป็นพรรคร่วมรัฐบาล คุณมีหน้าที่รักษาองค์ประชุม โดนเข้าห้องเย็น

จะเห็นว่าพรรคภูมิใจไทย 90% ทุกครั้ง เรามี ส.ส. 50-60 คน 80-90% เราเป็นองค์ประชุมทุกครั้ง นอกจากบางท่านที่มีธุระจำเป็นจริงๆ ซึ่งมีธุระจำเป็นก็ต้องเข้าห้องเย็น นี่คือหน้าที่ในสภา หน้าที่ข้างนอกก็บอกเหมือนกันทุกคน พวกคุณไม่มีวันหยุดเสาร์ อาทิตย์ มันคือวันทำงานอีกแบบนึงของพวกคุณ คุณต้องไปลงพื้นที่ ไปรับฟังปัญหาของชาวบ้าน ชาวบ้านมีปัญหามาบอกหัวหน้า เดี๋ยวหาทางแก้ไขปัญหาให้

นี่เป็นการทำงานเหมือนที่ผมบอกว่าเป็นพรรคเชิงปฏิบัติการ ให้ความสำคัญกับชาวบ้านกับประชาชนมาก ให้ความสำคัญกับการแก้ไขปัญหาของประชาชนมาก

ภราดร VoicePolitics  E-8B87-26FB97E802F2.jpeg

  • เมื่อพูดว่าพรรคภูมิใจไทยเป็นพรรคปฏิบัติการ ประชาชนบางส่วนอาจมองว่า ปฏิบัติการต้องมาคู่กับอุดมการณ์ ตั้งแต่สมัย พล.อ.ประยุทธ์ ยึดอำนาจมา ก็เริ่มมีพรรคการเมืองที่ชูอุดมการณ์ว่า ไม่เอาเผด็จการ รัฐประหาร จุดนี้จะถือเป็นข้อท้าทายของภูมิใจไทยหรือไม่

ผมว่าตลอดชีวิตผม ผมอยู่ฝ่ายซ้ายมาตลอด ผมซ้ายมากนะ ผมยืนอยู่กับหลักการ ยืนอยู่กับอุดมการณ์ แต่พอเข้ามาเจอกับสถานการณ์จริง เจอชาวบ้านมีปัญหาเดือดร้อนแบบนี้ เราจะเอาอุดมการณ์ไปแก้ไขปัญหาให้เขาได้ไหมล่ะ จะเอาหลักการไปแก้ไขปัญหาให้เขาได้ไหมล่ะ ปัญหาของท่านเป็นปัญหาเชิงโครงสร้างนะ เป็นปัญหาเชิงหลักการนะ ก็เขาจะเอาอย่างนี้ ปัญหาเขาเกิดเดี๋ยวนี้ ก็ต้องแก้เดี๋ยวนี้ ต้องภายในครึ่งปี 3 เดือนนี้ต้องแก้ให้เขา

แล้วเรามัวแต่ไปยึดบนหลักการ ไม่หาช่องทางที่จะนำไปสู่การแก้ไขปัญหา คนที่เดือดร้อนคือชาวบ้านนะครับ ผมคิดว่าเมื่อเติบโตขึ้นมา เราเห็นปัญหามากขึ้น และเราก็คิดว่าสิ่งที่เร่งด่วนมากกว่าหลักการ ก็คือปัญหาของชาวบ้านนะ เร่งด่วนมากกว่าอุดมการณ์ที่เรายึดถือมาตลอดชีวิตเนี่ย คือปัญหาของชาวบ้านไง

  • นักการเมืองต้องเป็นอย่างนี้ใช่หรือไม่ คือต้องวางหลักการบางเรื่องไว้ แล้วไปเร่งแก้ปัญหาก่อน นักการเมืองไม่มีขาวสุดดำสุด ต้องอยู่ตรงกลาง

ผมว่าประเด็นหลักที่สุดของการมาเป็นนักการเมือง หรือการเป็นผู้แทนเนี่ย ถ้าคุณมาจากประชาชน เมื่อประชาชนเขาเรียกร้องอะไร คุณต้องฟังเขา ปัญหาไหนของประชาชน คนที่เป็นผู้แทน หรือคนที่เป็นรัฐบาลก็แล้วแต่ ต้องรับฟัง และนำไปสู่การแก้ไขปัญหานั้น บางส่วนอาจจะติดหลักในข้อกฎหมายบ้าง เราก็ต้องย้อนไปดูว่าข้อกฎหมายเป็นธรรมไหม กฎหมายไหนที่เราดูแล้วรู้สึกว่ามันเอาเปรียบประชาชน เราก็ต้องพร้อมที่จะทำลายข้อจำกัด เพื่อยึดเอาผลประโยชน์ของประชาชนเป็นหลัก นี่คือแนวคิดของพรรคภูมิใจไทยที่ยึดและทำมาโดยตลอด

ภราดร ปริศนานันทกุล  VoicePolitics ภราดร ปริศนานันทกุล  VoicePolitics

  • บางฝ่ายไม่พอใจว่า เดิมทีพรรคภูมิใจไทยเคยประกาศว่าจะไม่เอานายกฯ ที่ไม่ได้มาจากการเลือกตั้ง แต่สุดท้ายพรรคก็เข้าไปร่วมรัฐบาล อยู่ในหลักคิดแบบเดียวกันหรือไม่

ผมว่าสิ่งนี้เป็นข้อกล่าวหาคุณอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกฯ และ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข หัวหน้าพรรคภูมิใจไทย มาตลอดนะครับ ผมได้ฟังการสัมภาษณ์เวทีนั้นของคุณอนุทินด้วย เขาไม่ได้บอกว่าเลือกฝ่ายนู้นฝ่ายนี้ เขาบอกว่าเขาจะอยู่ข้างพรรคที่มีเสียงข้างมากในสภา เขาจะไม่ให้ ส.ว.ไปแต่งตั้งนายกฯ หมายความว่าเขายึดสภาล่างเป็นหลัก ถ้าสภาล่างมีเสียงเกินกึ่งหนึ่งแล้ว เขาจะอยู่ฝ่ายนั้น แล้วนายกฯ มาจากใครล่ะ ก็กลุ่มพวกเรานี่แหละ หมายความว่าถ้าใครได้เสียงข้างมากในสภาล่าง คนนั้นแหละจะได้เป็นนายก

ซึ่งครั้งนั้นพรรคพลังประชารัฐได้เสียงข้างมากในสภา เขาก็มีสิทธิที่จะเอาคนที่เป็นแคนดิเดตนายกฯ ของเขามาอยู่ในกลุ่มที่เป็นพรรคร่วม ผมไม่ได้เข้าข้างคุณอนุทินนะ ผมฟังที่เขาให้สัมภาษณ์มา แล้วก็เข้าใจในสิ่งที่เขาพูด

แต่ว่าเมื่อถูกตัดเป็นท่อนเล็กท่อนน้อยอะไรแบบนี้ อาจทำให้ข้อมูลคลาดเคลื่อนไปได้บ้าง แต่ว่าเจตนาของเขา  คือรัฐบาลเสียง 200 เสียงจาก 500 เสียง จัดตั้งแบบนั้นไม่ได้หรอก รัฐบาลเสียงข้างน้อยในสภาล่างมันเกิดขึ้นไม่ได้ เจตนาที่เขาจะพูดก็คือว่า เมื่อมีเสียงข้างมากในสภา เขาก็พร้อมที่จะสนับสนุน

ภราดร VoicePolitics  F91BE99EA.jpeg
  • พูดมาถึงสภาบน-สภาล่าง คุณรู้สึกอย่างไรกับระบบ 250 ส.ว.

ผมไม่เห็นด้วย เพราะว่า ส.ว. มาจากการแต่งตั้งโดย คสช. พูดง่ายๆ ก็คือผลัดกันเกาหลังนี่แหละ ซึ่งบนหลักการแล้วมันไม่สมควรที่กติกาบ้านเมืองจะออกมาเป็นแบบนี้ ภูมิใจไทยก็พยายามแสดงจุดยืนหลายครั้ง เรื่องการแก้ไขรัฐธรรมนูญ เราชูจุดยืนเป็นพรรคแรกนะ และเรายื่นแก้ไขรัฐธรรมนูญมาตรา 256 เป็นพรรคแรก  ในการที่จะสร้างกติกาใหม่ด้วยการตั้ง สสร. เรายื่นก่อนพรรคเพื่อไทย ก่อนก้าวไกล เรายื่นร่างของเราเพื่อไปแก้มาตรา 256 เราแสดงจุดยืนชัดเจนเลยว่า กติกาบ้านเมืองมันต้องมาจากการเขียนของประชาชน

กฏหมายรัฐธรรมนูญเป็นกฏหมายมหาชน แต่ว่าเขียนจากเผด็จการ แบบนี้ผมว่ามันไม่ตอบโจทย์ การเขียนกติกาของคนทุกคนในประเทศมันควรจะต้องมาจากประชาชนเป็นผู้เขียน

ภราดร ปริศนานันทกุล  VoicePolitics
  • ตอนนี้สังคมเริ่มมีการแบ่งแยกทางความคิด ระหว่างคนรุ่นเก่ารุ่นใหม่ เริ่มมีการออกมาเรียกร้อง ต้องการเปลี่ยนรัฐบาล เปลี่ยนนายกฯ หรือข้อเสนอที่สูงกว่านั้น มองบรรยากาศแบบนี้อย่างไร และอนาคตจะเดินต่อไปอย่างไร

ถ้าจะมองการเมืองในวันนี้ ค่อนข้างแบ่งแยกกันชัดเจน เพราะมีคนที่ไปพยายามขีดเส้นแบ่งให้ชัดเจน ว่าคนรุ่นใหม่มันต้องเป็นแบบนี้ ไปกำหนดเส้นทางให้เขาเดิน ซึ่งผมว่าก็ไม่ค่อยแฟร์เท่าไหร่ แน่นอนผมรับฟังนะ รับฟังคนทุกรุ่นนี่แหละ คนรุ่นใหม่ก็รับฟัง แต่การรับฟังมันก็ต้องรับฟังในพื้นฐานที่ว่า เป็นไปได้ไหม เข้ากับสถานการณ์ได้ไหม ถ้าทำไปแล้ว สุดมากเกินไป จะเกิดอะไรขึ้น

เราเคยผ่านเหตุการณ์สุดทางมากเกินไปมาแล้ว เราเคยผ่านเหตุการณ์สุดซอยมาแล้ว เราจะเห็นว่าคนมีอำนาจรัฐรับเต็มมือเลย เมื่อทำอะไรสุดทางมากเกินไป แน่นอนที่สุด เหมือนกับลูกตุ้ม เหวี่ยงไปแรงเท่าไหร่ ก็สะท้อนกลับมาแรงเท่านั้น สังคมเป็นแบบนี้ จะทำให้สังคมมันเดินไปได้ต้องสร้างสมดุลของอำนาจกัน

ภราดร ปริศนานันทกุล  VoicePolitics

สิ่งไหนที่พอเป็นไปได้ เรียกร้องแล้วไม่ตึงจนเกินไปนัก จนทำให้อีกฝ่ายหนึ่งรู้สึกว่าเขาอึดอัด เมื่อไหร่ที่อีกฝ่ายหนึ่งถูกบีบคั้นเขาก็จะแสดงออกมา เหมือนวันนี้ที่ฝ่ายซ้ายโดนบีบคั้นโดยฝ่ายผู้มีอำนาจ เขาก็ทะลุออกมา เหมือนกันวันหนึ่ง ถ้าเกิดฝ่ายขวาถูกบีบคั้นจากฝ่ายซ้ายแบบนี้ ฝ่ายขวาเขาก็ทนไม่ได้ เขาก็ออกมาแบบนี้เหมือนกัน

เหมือนอย่าง พ.ร.บ.สุดซอยเมื่อปี 2557 ก็จะเกิดเหตุการณ์แบบนี้ ทางที่ดีที่สุดก็คือ พยายามอย่าทำอะไรให้สุดโต่งมากจนเกินไป เพราะสังคมเราเป็นแบบนี้แล้ว ผมผ่านประสบการณ์แบบนี้มาแล้ว

ผมเจอความสุดขั้วมาเยอะ แล้วก็เห็นจุดจบของมันว่าคืออะไร คือเดินหน้าสู่การเมืองที่ไม่ปกติ ถ้าเกิดการเมืองที่มันไม่ปกติ แล้วก็สุดขั้วเข้าไปอีก ก็เกิดความสูญเสียขึ้น แน่นอนที่สุดแล้ว หลีกหนีตรงนั้นไม่ได้ ถ้าจะเดินกันแบบสุดขั้วแบบที่หลายคนเขาปรารถนา ผมว่ามันไม่คุ้มค่ากันเลยครับกับการสูญเสีย

คนที่เป็นแกนนำ หรือคนที่เรียกร้องเอาประชาชนออกมา พวกนี้ไม่เคยเสียชีวิต พวกนี้ไม่เคยสูญเสีย คนสูญเสียคือคนที่เชื่อคนพวกนี้ แล้วออกมา เราจะเห็นได้ทุกๆ สมัยที่มีการเรียกร้องมา แกนนำก็ไม่เห็นเป็นอะไรสักคน ส่วนคนที่ต้องเดือดร้อนก็คือคนที่เชื่อคนพวกนี้

ผมว่าผมผ่านมาพอสมควร การเรียกร้องไม่ใช่เรื่องที่มากจนเกินไป เป็นสิ่งที่สังคมประชาธิปไตยสามารถเกิดขึ้นได้ แต่ว่ามันไม่สามารถจะเปลี่ยนแปลงได้ภายในชั่วข้ามคืน ไม่ใช่วันนี้พรุ่งนี้เปลี่ยนได้เลย การเปลี่ยนแปลงมันเป็นพลวัตร ก็จะค่อยๆ เปลี่ยนแปลงไปตามยุคตามสมัยใหม่ ผมเชื่ออย่างนั้น


  • แปลว่าไม่เป็นไรใช่ไหม หากภูมิใจไทยจะไม่ได้รับความนิยมในหมู่คนรุ่นใหม่

เราจะไม่เปลี่ยนตัวเองไปตามกระแสของสังคม เพราะการเปลี่ยนไปแบบนั้น เราไม่มีหลักอะไรเลย เราไปล้อตามคลื่นของการเปลี่ยนแปลงแบบนี้ หลักของเราคืออะไร สู้เรายืนหลักของเราให้ชัดว่า หลักของเราคือ ยึดมั่นกติกา เมื่อเราสัญญาไปแล้ว เราต้องตอบโจทย์ สามารถที่จะทำให้กับเขาได้ ผมเชื่อว่าวันหนึ่ง เขาน่าจะเข้าใจ

ภราดร VoicePolitics 0DC5A68A153.jpeg

  • มองว่าอะไรคือปัญหาสำคัญที่สุด ของประชาธิปไตยแบบไทย

(หัวเราะ) ผมว่าสิ่งที่เป็นปัญหามากที่สุด คือการไม่เคารพกติกา ทุกฝ่าย เราจะเห็นที่ผ่านมามีการชุมนุมเรียกร้อง มีการออกมาเดินขบวนในเรื่องการเมืองเยอะมาก ไม่ใช่ว่าในสังคมประชาธิปไตยไม่สามารถที่จะแสดงสิทธิเสรีภาพได้อย่างเสรีนะ เราสามารถที่จะแสดงออกได้ แต่สิ่งที่เป็นปัญหาก็คือ เรายังไม่รู้จักรอมากเพียงพอ

ผมยกตัวอย่างย้อนกลับไปเมื่อ ปี 2557 ก่อนที่จะมีปฏิวัติรัฐประหาร ขณะนั้นมีพี่น้อง กปปส.ออกมาเรียกร้องเยอะมาก ถ้าหากว่าวันนั้นเนี่ย รอไปอีกสักนิด แล้วปล่อยให้มีการเลือกตั้งปกติ ซึ่งปี 2557 ตอนนั้นก่อนที่จะปฏิวัติ มีการเลือกตั้งไป ที่เป็นโมฆะ ทุกคนออกไปใช้สิทธิ์เลือกตั้งตามกติกา ตามครรลอง แล้วไม่เรียกอำนาจพิเศษออกมา ผมว่ารัฐบาลเปลี่ยนนะครับ วันนั้นรัฐบาลเปลี่ยน อาจจะไม่ใช่รัฐบาลพรรคเพื่อไทยกลับมาเป็นรัฐบาลแล้ว วันนั้นอาจจะพลิกขั้วกลับไปเป็นพรรคประชาธิปัตย์หรือพรรคการเมืองอื่น

แต่ว่าเราไม่รู้จักรอไงครับ ไม่รู้จักรอที่จะเล่นตามกติกา แล้วไปลุ้น ไปใช้อำนาจพิเศษ ไปเลือกที่จะใช้ทางออกพิเศษให้กับประเทศ ก็จะวนอยู่แบบนี้แหละครับ แล้วที่สำคัญก็คือ มีคนเห็นด้วยกับการใช้อำนาจพิเศษ มีคนพยายามคิดว่าการปฏิวัติรัฐประหารคือทางออกทางการเมืองอีกทางหนึ่งของประเทศนี้ ซึ่งเป็นหลักคิดที่ผิดมาก

ต้องทำให้คนในสังคมรู้สึกรังเกียจกับการปฏิวัติรัฐประหารให้ได้มากที่สุด เมื่อรังเกียจมาก นั่นคือเมื่อมีการรัฐประหารแล้วจะไม่มีคนชื่นชม เมื่อไม่มีการชื่นชมกับการรัฐประหาร แน่นอนคนที่จะทำในอนาคต ไม่มีใครคิดทำ เพราะไม่ได้รับการตอบสนองจากสังคม ผมคิดว่าเป็นหลักใหญ่เลยนะของประชาธิปไตยในบ้านเรา อย่าไปมองว่าการรัฐประหารคือทางออกหนึ่งของการเมืองไทย มันผิดหลักประชาธิปไตยอย่างมาก

  • ท่ามกลางความขัดแย้ง พรรคภูมิใจไทยที่ยังชูเรื่องเป็นกลาง ไม่เป็นศัตรูกับใคร จะมีบทบาทผสานความขัดแย้งอย่างไร หรือจะเป็นไปตามข้อกล่าวหาว่าจะเป็นนั่งร้านให้รัฐบาลนี้ เพื่อสืบทอดอำนาจต่อไปเรื่อยๆ

(หัวเราะ) ผมว่า การเลือกตั้งครั้งหน้าจะเป็นคำตอบว่าจะมีการสืบทอดอำนาจกันต่อไปได้หรือไม่ ถ้าหากว่าพรรคที่ท่านนายกฯ ไปสังกัด (รวมไทยสร้างชาติ) ออกมาแล้ว กรณีที่ 1 คือได้ไม่ถึง 25 เสียง ก็ไม่มีโอกาสสืบทอด ในกรณีที่พรรคออกมา 100 กว่าเสียง นั่นคือความชอบธรรมที่เขามีโอกาสเดินหน้าต่อ ทั้งหมดทั้งสิ้น ไม่ได้อยู่ที่คนการเมืองหรอก อยู่ที่ประชาชนว่าเขาจะตัดสินยังไง

ภราดร VoicePolitics  EC9EB04AE97.jpeg

  • ถ้าครั้งหน้าภูมิใจไทยได้เป็นรัฐบาลจริงๆ อาจจะเจอกับรัฐประหารบ้างก็ได้

ผมถึงได้บอกว่า การรัฐประหารคือสิ่งที่สังคมไม่ควรที่จะชื่นชม และไม่ควรที่จะปรารถนา ผมคิดว่าทุกฝ่ายควรที่จะต้องออกมาปฏิเสธการรัฐประหาร เพราะงั้นผมยังไม่เห็นช่องทางว่า เมื่อถึงเวลาแล้ว แม้ว่าทางพรรคภูมิใจไทยขึ้นมาเป็นรัฐบาลจะต้องถูกรัฐประหารหรือไม่ ถ้าประชาชนก็ไม่เห็นด้วย เขาก็ทำไม่ได้ครับ

  • เมื่อก่อนมีความเป็นนักอุดมคติ เป็นคนฝ่ายซ้าย จนกระทั่งมาชนกันระหว่างอุดมการณ์กับปฏิบัติการ มีจุดที่เป็นทุกข์ หรือขัดแย้งในตัวเองมากจนจัดการไม่ได้หรือไม่

เอาจริงๆ นะครับ ไอ้จุดที่มันเป็นทุกข์ (suffer) มากที่สุด ที่ตัดสินใจได้ยากมากที่สุดเลย คือการลุกขึ้นขานชื่อ พล.อ.ประยุทธ์ นี่คือความอึดอัดใจมากที่สุดของผม แต่เมื่อทิศทางทางการเมืองพรรคการเมืองเราเดินหน้าแบบนี้ พรรคการเมืองเขาตัดสินใจเดินหน้าแบบนี้ เราเมื่อเป็นลูกพรรค เห็นว่าเป็นแนวทางที่สามารถเดินหน้าประเทศไปได้ เพราะถ้าหากวันนั้นไม่ตัดสินใจแบบนี้ ไปยืนอยู่อีกฝั่ง ไม่จบครับ ปัญหาอื่นก็จะเกิดตามมาอีก

เพราะฉะนั้นเราเลือกในทางเดินที่เรารู้สึกว่าเราขัดใจตัวเองมาก แต่เป็นทางเลือกที่เดินหน้าต่อไปได้ เราคิดว่าอย่างนั้นนะ ... ผมยึดหลักว่าทำแล้วชาวบ้านจะได้ประโยชน์

  • ถามเล่นๆ ว่า หวังเก้าอี้รัฐมนตรีในสมัยหน้าไหม

(หัวเราะ) เอาให้ได้เป็นผู้แทนก่อนดีกว่าครับ ครั้งนี้ขอกลับมาเป็นผู้แทนก่อน ครั้งหน้าค่อยว่ากัน

ภราดร ปริศนานันทกุล ภูมิใจไทย  VoicePolitics ภราดร VoicePolitics  077DFF410507.jpeg

ภาพ - เสกสรร โรจนเมธากุล

ชยพล มาลานิยม
18Article
0Video
0Blog