ไม่พบผลการค้นหา
ตัวแทนนักวิชาการทั่วประเทศ ยื่นหนังสือ ขอประธานองคมนตรี ทำหน้าที่ตามรธน. หาแนวทางยุติวิกฤตต่อชีวิตนักกิจกรรมอดอาหารประท้วงอย่างมีมนุษยธรรม มองเป็นแนวทางถกปัญหาอย่างใกล้ชิด-จริงจัง แยกออกจากสถาบันไม่ได้

เวลา 14:00 น. ที่ทำเนียบองคมนตรี พระราชอุทยานสราญรมย์ แขวงพระบรมมหาราชวัง เขตพระนคร กทม. รศ.ดร.อนุสรณ์ อุณโณ ในฐานะตัวแทนเครือข่ายนักวิชาการ นักคิด นักเขียนกว่า 90 คน จากทั่วประเทศ เข้ายื่นหนังสือถึงประธานองคมนตรี เพื่อขอพิจารณาหาวิถีทางในการยุติวิกฤติต่อชีวิตอย่างมีมนุษยธรรม สืบเนื่องจากปัญหาการอดอาหารประท้วงภายในเรือนจำของเยาวชนนักกิจกรรมอย่าง ทานตะวัน ตัวตุลานนท์ หรือ ตะวัน และ อรวรรณ ภู่พงศ์ หรือ แบม ที่กำลังเกิดขึ้นในขณะนี้และเวลาล่วงเลยมานาน จนเข้าขั้นวิกฤตต่อชีวิตร่างกายของผู้ประท้วง 

จม.ถึงประธานองคมนตรี_๒๓๐๑๓๑_1.jpgจม.ถึงประธานองคมนตรี_๒๓๐๑๓๑_3.jpgจม.ถึงประธานองคมนตรี_๒๓๐๑๓๑_5.jpg

โดย อนุสรณ์ ระบุว่า สิ่งสำคัญกว่าการถกเถียงเรื่องวิธีการประท้วง หรือการมีความผิดตามกฎหมายหรือไม่ คือการรักษาชีวิตของทั้งสองคนไว้ และเครือข่ายฯ เห็นว่าคณะองคมนตรีเป็นหนึ่งในสถาบันหลักของชาติ มีอำนาจหน้าที่ตามรัฐธรรมนูญอย่างชัดเจน จึงอยากให้ประธานองคมนตรีได้ทำหน้าที่ตามรัฐธรรมนูญเพื่อคลี่คลายปัญหาของสังคมก่อนจะเกิดการสูญเสีย 

โดยอาศัยความตามรัฐธรรมนูญมาตรา 10 ที่ระบุว่า “พระมหากษัตริย์ทรงเลือกและทรงแต่งตั้งผู้ทรงคุณวุฒิเป็นประธานองคมนตรีคนหนึ่งและองคมนตรีอื่นอีกไม่เกินสิบแปดคนประกอบเป็นคณะองคมนตรี

คณะองคมนตรีมีหน้าที่ถวายความเห็นต่อพระมหากษัตริย์ในพระราชกรณียกิจทั้งปวงที่พระมหากษัตริย์ทรงปรึกษา และมีหน้าที่อื่นตามที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ”

ผู้สื่อข่าวรายงานเพิ่มเติมว่า การยื่นหนังสือถึงประธานองคมนตรีครั้งนี้ เป็นความพยายามครั้งที่สอง หลังความพยายามครั้งแรกเกิดขึ้นเมื่อเช้าวันที่ 20 ก.ย. 2563 โดย ปนัสยา สิทธิจิรวัฒนกุล หรือ รุ้ง แกนนำแนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุม พร้อมประชาชนที่เดินขบวนมาจากท้องสนามหลวง แต่ถูกสกัดกั้นไว้ก่อน และได้ยื่นหนังสือต่อ ผบช.น. ตัวแทนในขณะนั้นแทน 

ทั้งนี้ อนุสรณ์ ยืนยันว่า จะมีการติดตามความคืบหน้าของหนังสือฉบับนี้ว่าจะถูกส่งถึงมือประธานองคมนตรีหรือไม่ พร้อมร้องขอให้มีการช่วยคลี่คลายวิกฤติของบ้านเมืองโดยเร็ว

“วิกฤตที่เกิดขึ้นครั้งนี้ เป็นเรื่องที่หน่วยงานอย่างองคมนตรีมีพันธกรณีเกี่ยวข้องโดยตรง กล่าวคือเป็นเรื่องที่ไม่สามารถแยกออกจากสถาบันได้ เราจึงอยากใช้ช่องทางนี้ขยับเข้าใกล้การพูดคุยถึงปัญหาเหล่านี้อย่างจริงจังมากขึ้น” อนุสรณ์ ระบุ