ช่วงเดือนมีนาคมข่าวร้อนแรงที่สุดในวงการบันเทิงเอเชียคงหนีไม่พ้นเรื่องอื้อฉาวของซึงรี สมาชิกวง BIGBANG ที่เริ่มจากลูกค้ารายหนึ่งถูกพนักงานทำร้ายในผับ Burning Sun ที่ซึงรีเป็นผู้บริหาร ต่อด้วยข่าวการใช้เสพยาติดและล่วงละเมิดทางเพศในผับ ตามด้วยกรุ๊ปแชทของซึงรีและเพื่อนๆ ที่ถูกนักข่าวเปิดโปงว่ามีการพูดคุยเรื่องซื้อขายหญิงบริการจนไปถึงการส่งคลิปแอบถ่าย
เรื่องฉาวของซึงรีส่งผลลูกโซ่ไปถึงคนวงการบันเทิงมากมายจนอาจเรียกได้ว่านี่เป็นกระแส #MeToo ระลอกสองอย่างกลายๆ ไม่ว่าจะนักร้องนักแสดง จองจุนยอง, ยงจุนฮยอง (วง Highlight), ชเวจงฮุน (FT ISLAND) และอีจงฮยอน (CNBLUE) โดยเฉพาะคนหลังที่ทำเอาแฟนคลับช็อกสุดๆ เนื่องจากเป็นคนที่มีภาพลักษณ์เรียบร้อยนิ่งขรึมมาตลอด ซึ่งบุคคลเหล่านี้ส่วนใหญ่ก็ประกาศรีไทร์จากวงการไปแล้ว
ส่วนในฝั่งสหรัฐอเมริกาเมื่อช่วงต้นเดือนมีนาคมก็มีประเด็นร้อนแรง เมื่อสารคดี Leaving Neverland ของแดน รีด ออกฉายทางช่อง HBO เนื้อหาว่าด้วยการสัมภาษณ์ จิมมี่ เซฟชัค และ เวด ร็อบสัน ชายสองคนที่ออกมาเปิดเผยว่าตัวเองเคยถูก ไมเคิล แจ็คสัน ล่วงละเมิดทางเพศเมื่อครั้งยังเป็นเด็ก หลังจากสารคดีออกฉายก็ทำให้เกิดการถกเถียงมากมาย มีทั้งฝ่ายเชื่อและไม่เชื่อ หนักไปกว่านั้นคือสถานีวิทยุในหลายประเทศพร้อมใจกันงดเปิดเพลงของแจ็คสัน หรือซีรีส์ The Simpsons ก็ประกาศถอดตอนที่เขาเคยพากย์เสียงเอาไว้
Leaving Neverland เป็นสารคดีที่มีความยาวถึง 4 ชั่วโมง (แบ่งฉายเป็นสองตอน) องค์ประกอบหลักๆ ของสารคดีคือการสัมภาษณ์เซฟชัค/ร็อบสันในวัยสี่สิบและสมาชิกครอบครัวของทั้งสอง ตัดสลับกับฟุตเทจของแจ็คสันในอดีต
เสียงตอบรับต่อภาพยนตร์เรื่องนี้ออกมาในทิศทางเดียวกันว่ามันเป็นหนังที่หยุดดูไม่ได้ แม้ว่ามันจะช่างน่ากระอักกระอ่วนใจและแสนเจ็บปวด
ต้นตอความเจ็บปวดอยู่ตรงที่ทั้งเซฟชัคและร็อบสันนั้นต่างรักแจ็คสันเอามากๆ แต่ด้วยความที่พวกเขาใกล้ชิดกับแจ็คสันในช่วงวัย 7-14 ขวบ ทั้งคู่จึงไม่รู้ว่าตัวเองกำลังถูก ‘ล่วงละเมิดทางเพศ’ (ในสารคดีนี้พวกเขายังบรรยายอย่างละเอียดว่าถูกนักร้องชื่อดังทำอะไรบ้าง) เมื่อเติบโตมาเป็นผู้ใหญ่และเริ่มเข้าใจว่าอะไรเป็นอะไร ชายทั้งสองจึงรู้สึกสับสน เกิดความขัดแย้งในใจว่าเขาควรจะรักหรือเกลียดแจ็คสันกันแน่
แน่นอนว่าแฟนเพลงของแจ็คสันอาจมองว่าชายสองคนนี้กำลังโกหกหน้าด้านๆ เพื่อสร้างชื่อเสียงให้ตัวเอง แต่ปฏิเสธไม่ได้เลยว่าแจ็คสันเองก็มีพฤติกรรมที่น่าสงสัยกับการที่เขามี ‘เพื่อนสนิท’ เป็นเด็กชายหน้าใหม่ตลอดเวลา ในอีกฝั่งหนึ่ง ผู้ชมก็เกิดคำถามว่าทำไมพ่อแม่ของเซฟชัคและร็อบสันถึงยอมปล่อยของลูกตัวเองไปค้างอ้างแรมกับชายแปลกหน้า เหตุผลอาจมีสองประการด้วยกัน หนึ่ง-เขาคนนั้นคือ ไมเคิล แจ็คสัน นักร้องที่คนทั้งโลกหลงใหล และสอง-ในยุค 90 ผู้คนจำนวนมากยังไม่เข้าใจคอนเซ็ปต์ของ Pedophilia พอๆ กับยุคนี้ที่เราเพิ่งมาตื่นตัวกันเรื่อง Consent หรือ Sexual harassment
ไม่ว่าแจ็คสันจะล่วงละเมิดเด็กเหล่านั้นจริงหรือไม่ สิ่งหนึ่งที่แน่ชัดคือชีวิตของเขาเต็มไปด้วยความ ‘เซอร์เรียล’ โดยเฉพาะอาณาจักรเนเวอร์แลนด์ที่เขาเชื้อเชิญบรรดาเด็กชายและครอบครัวมาเที่ยวเล่น แต่ความเซอร์เรียลของเขาก็ช่างใหญ่โตจนส่งผลต่อชีวิตคนอื่น เช่นกรณีของร็อบสันที่อยู่ดีๆ ตัดสินใจย้ายจากออสเตรเลียมาอเมริกาตามคำเชิญของแจ็คสัน ซึ่งทำให้เขาต้องตัดขาดจากครอบครัวไปโดยปริยาย ส่วนเซฟชัคเองไม่สามารถคุยกับแม่ได้อย่างสนิทใจอีกต่อไป เพราะลึกๆ แล้วเขารู้สึกว่าแม่มีส่วนทำให้เขากลายเป็นเหยื่อของแจ็คสัน
อย่างไรก็ดี ปัญหาอย่างหนึ่งที่ตามมาหลังจากการออกฉายของ Leaving Neverland คือผู้คนพยายามเค้นหาคำตอบว่าตกลงแล้วแจ็คสัน ‘ทำแบบนั้น’ จริงหรือไม่ ซึ่งส่วนตัวแล้วผู้เขียนมองว่านั่นไม่ใช่ประเด็นสำคัญที่สุด อย่างที่ มิคาเอล ฮาเนเก้ (ผู้กำกับเรื่อง Funny Games) เคยพูดเอาไว้ทำนองว่า “โลกนี้ไม่มีความจริงสัมบูรณ์ มีแต่ความจริงส่วนตัว” กรณีนี้มันอาจจะซับซ้อนเกินกว่าจะฟันธงด้วยคำตอบแบบ Yes หรือ No สิ่งที่ทำได้คงเป็นการใคร่ครวญว่าเราได้บทเรียนอะไรจากเรื่องนี้ ส่วนใครจะฟังหรือไม่ฟังเพลงของแจ็คสันต่อก็สุดแล้วแต่
ผู้เขียนมักพูดกับเพื่อนๆ น้องๆ อยู่บ่อยครั้งว่า “ศิลปินมีไว้ชื่นชม ไม่ได้มีไว้รู้จัก” อันหมายถึงว่าบางครั้งการรู้จักศิลปินผ่านเพียงผลงานและไม่ต้องไปรู้เรื่องราวชีวิตอะไรของเขามากก็เป็นเรื่องดี แต่แน่นอนว่ายิ่งเป็นคนดัง เรื่องส่วนตัว (Private) มักจะกลายเป็นเรื่องส่วนรวม (Public) จนทำให้เราต้องรับรู้เรื่องทางลบของบุคคลนั้นไปโดยปริยาย (เขาเจ้าชู้, เธอขี้วีน ฯลฯ) บ้างก็มีการตั้งเกณฑ์ว่าศิลปินจะทำเรื่องแย่ๆ อะไรก็ตาม หากไม่มาหนักหัวกบาลเราก็ยังถือว่า ‘โอเค’
แต่สำหรับกรณี Burning Sun นั้นอาจจะต่างออกไป เพราะมีเรื่องทางกฎหมายมาเกี่ยวข้องจนเป็นเรื่อง ‘ไม่โอเค’ อย่างซึงรีนั้นไม่ได้จบแค่การเจ้าชู้ขี้หลี แต่อาจกลายเป็นเรื่องจัดหาหญิงบริการเพื่อธุรกิจ ซึ่งที่จริงถกเถียงกันต่อได้ว่าฝ่ายหญิงเต็มใจหรือไม่ แต่ซึงรีดันอยู่ในบริบทของประเทศเกาหลีใต้ที่การค้าประเวณีเป็นเรื่องผิดกฎหมาย ส่วนเคสของจองจุนยอง การส่งคลิปโป๊ให้กับเพื่อนชายในกรุ๊ปแชทอาจไม่ใช่เรื่องผิด แต่พอเป็นการส่งคลิปแอบถ่ายขณะเขามีเซ็กซ์กับผู้หญิงโดยที่อีกฝ่ายไม่ยินยอม มันเป็นเรื่องยอมรับไม่ได้โดยทันที
ดราม่าของซึงรีและเพื่อนๆ ก็มีปัญหาเรื่องปฏิกิริยา ‘สองขั้ว’ คล้ายกับ Leaving Neverland กล่าวคือ มีฝั่งที่ปกป้องศิลปินอย่างไม่ลืมหูลืมตา เช่น การบอกว่าเรื่องแบบนี้เป็นเรื่องปกติที่ผู้ชายที่ไหนก็ทำ (แต่ฝั่งนี้จะน้อยลงเรื่อยๆ เมื่อข้อมูลถูกเปิดเผยว่ามันไม่ใช่แค่เรื่องเที่ยวผู้หญิงหรือส่งคลิปหวิว) ส่วนอีกฝั่งก็รุมประณามซึงรีกับจองจุนยองอย่างเอาเป็นเอาตาย ล่าสุดถึงขั้นด่าที่มีข่าวว่าซึงรีไปเข้าร้านทำผมก่อนไปให้การกับตำรวจหรือการที่จองจุนยองอ่านการ์ตูนขณะที่ควบคุมตัว
อีกปฏิกิริยาที่ผู้เขียนรู้สึกรำคาญใจคือการจับผิดว่า ซึงรีหรือจองจุนยองไม่ได้ ‘รู้สึกผิด’ จริงหรอก พวกเขาแค่แถลงขอโทษไปงั้นๆ ซึ่งมันไม่ใช่เรื่องที่เราจะไปวัดว่าพวกเขารู้สึกผิดแค่ไหนหรือรู้สึกผิดจริงหรือเปล่า เพราะนอกจากนั้นมันจะวัดไม่ได้แล้ว ประเด็นที่สำคัญกว่าคือบทลงโทษที่พวกเขาจะได้รับทางกฎหมาย (จำคุกและปรับ) และทางจารีต (การถูกแบนจากวงการ) รวมถึงการมองข้ามช็อตไปว่าหลังจากรับโทษทางกฎหมายครบถ้วน สังคมควรมีปฏิกิริยาต่อพวกเขาอย่างไร เพราะในสังคมที่ศิวิไลซ์แล้วการเข้าคุกคือกระบวนการขัดเกลาเพื่อให้พวกเขา ‘กลับ’ เข้าสู่สังคมได้อีกครั้ง ไม่ใช่เพื่อ ‘กีดกัน’ ออกไปจากสังคม
เช่นนั้นแล้วสมมติว่า ซึงรีกับจองจุนยองถูกตัดสินว่ามีความผิดจนต้องติดคุก เมื่อพ้นโทษออกมาแล้ว เราควรให้โอกาสพวกเขากลับมาทำงานในวงการบันเทิงได้หรือไม่ หากนั่นถือเป็นรูปแบบหนึ่งที่พ���กเขาพยายามจะกลับมาใช้ชีวิตตามครรลองที่ดีอีกครั้ง แฟนเพลงจะส่งเสียงเชียร์ให้ซึงรีหรือไม่หากเขากลับมาในฐานะสมาชิก BIGBANG หรือผู้ชมจะหัวเราะไปกับรายการ 2 Days & 1 Night ได้หรือไม่ถ้าจองจุนยองกลับมาร่วมรายการ นั่นอาจเป็นคำถามที่เราต้องเตรียมตัวหาคำตอบไว้ตั้งแต่เนิ่นๆ