ไม่พบผลการค้นหา
‘ก้าวไกล’อัดแหลกงบเพิ่มความมั่นคงประเทศลด ‘งบตำรวจ-ตชด.’ ชงตัดงบ ศาล รธน. 100% ชงเพิ่มงบให้ ศาลสนับสนุนเรื่องสิทธิมนุษยชน ระบุ กกต.ควรได้งบสังเกตการณ์เลือกตั้ง ด้าน 'ชวน' ติง 'อมรัตน์' ใช้ถ้อยคำเสียดสี 'ประยุทธ์' ติดใจวิถีโจร เจอโต้กลับป้อง 'ประยุทธ์'

เมื่อวันที่ 1 มิ.ย. 2565 ที่รัฐสภา ในการประชุมสภาผู้แทนราษฎร พิจารณาเรื่องด่วน ร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2566 วงเงิน 3.185 ล้านล้านบาท ในวาระที่1 ขั้นรับหลักการ อมรัตน์ โชคปมิตต์กุล ส.ส.นครปฐม พรรคก้าวไกล อภิปรายว่า เห็นด้วยกับ พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกลที่ระบุว่า งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2566 เปรียบเสมือนช้างป่วย และควาญช้างยังโง่เขลาเบาปัญหา พาช้างไปสู่ปากเหวลึก อีกทั้งงบประมาณรายจ่ายในหลายๆ ปี แทบไม่เปลี่ยนแปลง หน่วยรับงบประมาณมากกว่า 400 หน่วย จัดงบแบบอยู่ไปวันๆ ไม่ได้แยแสกับปัญหาความเดือดร้อนเฉพาะหน้า

อมรัตน์ กล่าวอีกว่า ทั้งที่ภัยความมั่นคงเปลี่ยนแปลงรูปแบบไป แต่สภาความมั่นคงแห่งชาติกลับได้รับงบมากกว่าเดิม ในยุคที่สามเหล่าทัพประกาศรบกับลาซาด้า วันที่พี่น้องประชาชนรู้สึกสิ้นหวังเหมือนอยู่ก้นเหวลึก กฎหมายไม่เป็นกฎหมาย ศาลไม่เป็นศาล องค์กรอิสระถูกครอบงำ ตนรู้สึกว่า เราไม่ควรสิ้นหวัง เพราะเวลาที่มืดมิดของค่ำคืน คือเวลาใกล้ฟ้าสาง 

อมรัตน์ ระบุว่า งบตำรวจซึ่งเป็นต้นน้ำของกระบวนการยุติธรรม สำนักงานตำรวจแห่งชาติได้งบในปีนี้ไปทั้งสิ้น 115,000 ล้านบาท แต่ 70% เป็นงบบุคลากร หรืองบเงินเดือน อีก 20% เป็นงบสร้างแฟลตตำรวจ และโรงพัก เหลืออีกเพียง 10% เป็นงบที่เกี่ยวข้องกับประชาชน และการบังคับใช้กฎหมาย 

“ขณะที่งบการปฏิรูประบบตำรวจที่โปรยไว้สวยงาม ถ้าดูผิวผินคงจะรู้สึกดี แต่เมืื่อพลิกดูเนื้อในพบว่า เป็นชื่อแค่หลอกตา เพราะงบปฏิรูปตร 3,781 ล้านบาท 80% เป็นงบที่ดิน และสิ่งปลูกสร้าง มันพัฒนาระบบงานตำรวจที่ตรงไหน” อมรัตน์ ถาม 

อมรัตน์ เสริมว่า งบฯ ตำรวจที่อุ้ยอ้ายทุกวัน เกิดมาจากตำรวจที่ต้องแบกภาระงานที่ไม่ใช่ภารกิจของตำรวจซึ่งมันล้าสมัย เพราะฉะนั้นเราควรผลักภาระงานพวกนั้นออกไป เช่นเดียวกับที่เราเคยผลักกองทะเบียนให้ไปอยู่กับกรมการขนส่ง แต่ตอนนี้ภารกิจงานยังล้าสมัย เช่น ตำรวจท่องเที่ยว ตำรวจป่าไม้ กอ.รมน. และตชด. ในวันที่เรามีกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เราไม่มีความจำเป็นต้องมีตำรวจป่าไม้ ตำรวจท่องเที่ยว ไว้ซ้ำซ้อน รวมทั้ง ตำรวจรถไฟ เพราะตอนนี้สถานีตำรวจภูธรกระจายทุกภูมิภาค เมื่อเกิดเหตุบนรถไฟเราสามารถใช้บริการตำรวจใน สภ.นั้นๆ ได้ 

อมรัตน์ กล่าวว่า ส่วนกองอำนวยการความมั่นคงภายในราชอาณาจักร (กอ.รมน.) นั้น อยากให้วัดผลสัมฤทธิ์ กับผลงานที่ให้ไปว่า ในวันๆ หนึ่งทำไอโฮหรือเลี้ยงไก่ให้เจ้านาย ถ้าท่านประธานเห็นแย้ง ตนก็ข้อท้าว่า ให้นำผลสัมฤทธิ์ของหน่วยงานเหล่านี้มาดูว่ามีความคุ้มค่ากับงบประมาณหรือไม่ อีกทั้ง ตำรวจตระเวนชายแดนที่เคยถูกตั้งขึ้นมาเพื่อหลอกองค์กรระหว่างประเทศในยุคสงครามเย็น เลี่ยงที่จะใช้คำว่า ‘ทหาร’ แต่คือตำรวจที่ปฏิบัติภารกิจของทหาร และขณะนี้ชายแดนมีบริบทต่างไปแล้วโดยสิ้นเชิง ตนเคยชื่นชมผลงานของครูตชด. แต่ยุคที่การศึกษาทางไกลมีประสิทธิภาพ การคมนาคมพัฒนาแทบจะไม่มีชนบท เราต้องลดบทบาทของตชด.ลง ซึ่งงบที่ตชด.ได้ไปนั้นสูงถึง 3,000 ล้านบาท เทียบเท่ากับ งบของตำรวจนครบาล 1,200 ล้านบาท บวกกับ งบภูธรภาค 1 และงบภูธรภาค 2 คนละ 800 ล้านบาท 

“มองจากดาวอังคารก็เห็นชัดแล้วว่า ควรปรับลดขนาด และงบอย่างรีบด่วน เพื่อนำเงินมาสนับสนุนงานที่เป็นงานของตำรวจจริงๆ นั่นคืองานสอบสวน ที่ตอนนี้มีคนนี้อยากออก ไม่มีคนอยากเข้า ค่าน้ำมันของพนักงานสอบสวน 1 คันได้แค่ 1,990 บาทต่อเดือน ในยุคที่น้ำมันราคา 2 ลิตร 100 บาท ถ้าอยู่ในกทม. ขับวนสนามหลวงครู่เดียวก็หมด เป็นเหตุให้ผกก ไปหาเศษหาเลยจากพ่อค้า เกิดระบบอุปถัมภ์” อมรัตน์ กล่าว 

อมรัตน์ เสริมว่า หลังคสช.เข้ามามีอำนาจ ได้ออกคำสั่งที่ 7/2559 ตัดแท่งเงินความก้าวหน้าของพนักงานสอบสวนไปจนหมด ทั้งๆที่ พ.ร.บ.ตำรวจปี 2547 ให้พนักงานสอบสวนได้มีแท่งความก้าวหน้า แล้วสามารถเลื่อนตำแหน่ง เพื่อสร้างขวัญกำลังใจ และตระหนักดีว่างานสอบสวนเป็นงานหนักทั้งผู้บังคับบัญชา และประชาชน

ชวน ประชุมสภา -C102-4511-B268-6509714AA21D.jpeg

อมรัตน์ กล่าวอีกว่า พ.ร.บ.ตำรวจ ที่กำลังเข้าสภาอยู่ตอนนี้ ยกเลิกเสียทีที่ให้ภารกิจตำรวจปลูกผัก อย่างคำสั่งล่าสุดของตำรวจภูธรภาค 5 ได้สั่งให้ตำรวจปลูกหัวไชเท้า ข้าวโพดอ่อนเพื่อนำไปทำผัดองอย่างละ 100 กิโลกรัม ตนมองว่า มันไม่ใช่งานที่จะพัฒนาศักยภาพของตำรวจ ทำไมถึงไม่ไปอุดหนุนเกษตรกรที่ยากจน ขณะที่อัยการ และศาล มักมีระเบียบอยู่ 2 เรื่องคือ สั่งเลื่อนนัด และไม่แจ้งเตือน ทำให้ประชาชนเดินทางไกลๆ มาที่สำนักงานอัยการเพื่อฟังประโยคสั้นๆ ว่าเลื่อนไปเดือนหน้า และการที่มีคดีเยาวชนเมื่อไหร่ อยากให้อัยการออกนอกพื้นที่อย่าให้เป็นภาระของเจ้าหน้าที่สอบสวนที่จะต้องพาเยาวชนออกมาพบกับอัยการ ในเรื่องของศาลอยากให้ หลักสูตรทั้งหลายที่ชื่อยาวๆ ไม่ว่าจะเป็น หลักสูตรนิติธรรมเพื่อประชาธิปไตย หลักสูตรผู้บริหารกระบวนการยุติธรรมระดับสูง รวมทั้งการให้ผู้พิพากษาไปร่วมหลักสูตรกับวิทยาลัยป้องกันราชอาณาจักร

“เราทุ่มเทงบประมาณ เพื่อให้ศาล และตุลาการ มีความเป็นอิสระ แต่นี่กลับจัดหลักสูตรสร้างคอนเนคชั่น มันย้อนแย้ง รวมทั้งหลักสูตรภายในซึ่งมีผู้พิพากษามากระซิบว่า เลื่อนจากอุทธรณ์ไปฎีกา หลักสูตรละ 1 เดือน มันสิ้นเปลือง ไม่มีความจำเป็น” อมรัตน์ กล่าว 

อมรัตน์ ยังเสริมถึงงบของศาลรัฐธรรมนูญว่า ถ้าตัดงบประมาณศาลรัฐธรรมนูญออกไป ตนคิดว่า ตัดออกไปได้เลย 100% หากไม่เข้าใจคำว่า ‘ปฏิรูป’ กับ ‘ล้มล้าง’ และไม่สามารถวิพากษ์วิจารณ์ได้ทั้งที่เป็นศาลการเมือง ตนไม่ยอมรับศาลแบนี้ ขอตัดงบศาลรัฐธรรมนูญออกไป และไม่ควรถูกเรียกว่าศาลด้วย 

ในส่วนของเรือนจำ อมรัตน์ อธิบายว่า ปีนี้เรือนจำได้งบไป 14,070 ล้านบาท เป็นงบบุคลากร 5,000 ล้านบาท งบควบคุมผุ้ต้องขัง 6,000 ล้านบาท ซึ่งเป็นงบอาหารถึง 4,400 ล้านบาท ผู้ต้องขังในเรือนจำได้ค่าอาหารมื้อละ 15 บาท น้อยกว่าค่าอาหารกลางวันนักเรียนเล็กในโรงเรียน และงบบำบัดฟื้นฟูนักโทษ ได้เพียง 77 ล้านบาท เฉลี่ยแล้วนักโทษต่อคน ได้งบนี้แค่ 80 สตางค์ ต่อวัน อีกทั้งเรือนจำไทยไม่ได้เป็นที่อยู่ของอาชญากรเท่านั้น แต่ยังเป็นที่อยู่ของคนที่เป็นแพะเพราะความบกพร่องของกระบวนการยุติธรรม 

“การกักขังในเรือนจำคือการลงโทษให้สูญเสียอิสรภาพ ไม่ได้หมายความว่า ให้เขาสูญสิ้นความเป็นคน การปฏิบัติต่อผู้ต้องขังคือการจำกัดไม่ให้รับรู้ข้อมูลข่างสารข้างนอก ดิฉันคิดว่าให้เขาได้มีโอกาสรับรู้ข่าวสารข้างนอก เพื่อปรับตัวให้เข้ากับโลกภายนอกได้” อมรัตน์ กล่าว 

อมรัตน์ กล่าวว่า ที่จะพูดไม่ได้คือเรื่องของการปฏิบัติกับผู้ต้องขังหญิง ซึ่งองค์การสหประชาชาติ ได้กำหนดข้อกำหนดที่จะปฏิบัติต่อผู้ต้องขังหญิงว่า ข้อกำหนดกรุงเทพตั้งแต่ปี 2553 ให้ดูแล ผู้ต้องขังหญิงที่ตั้งครรภ์ และให้นมบุตร แต่ปรากฏว่าตนไม่เห็นงบในส่วนนี้ เพื่อจะดูแลผู้ต้องขังหญิง หรือเด็กที่ติดผู้ต้องขัง ในส่วนของนมผง ผ้าอ้อม และอุปกรณ์ของใช้สำหรับเด็ก กรมราชทัณฑ์ เลือกใช้วิธีง่ายๆ คือ รับบริจาคจากหน่วยงานเอกชนซึ่งเป็นการลดทอนศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ของผู้ต้องขัง

“ผลพวงจากการรัฐประหารเมื่อ 8 ปีก่อนได้ทำลายประเทศนี้อย่างย่อยยับทุกด้าน โดยเฉพาะเรื่อง ระบบกฎหมาย ถูกทุบทิ้งทำลายอย่างไม่ละอายต่อคนรุ่นหลัง ต่อบาปบุญคุณโทษ เมื่อทุกอย่างพังยับเยินขนาดนี้ ความหวังเดียวคือ การเลือกตั้งครั้งหน้า” อมรัตน์ กล่าว 

อมรัตน์ กล่าวว่า องค์กรที่เกี่ยวข้องกับการเลือกตั้ง คือ กกต. แต่งบไม่ได้ถูกตั้งไว้ ขณะที่คุณวิษณุแก้ไขว่า ตั้งงบไปปีที่แล้วก็ยังไม่พอ ถ้าจะไปใช้งบกลาง มันจะสุ่มเสี่ยง เมื่อมีแผนงานแล้วควรตั้งงบให้เพียงพอ หรือ พล.อ.ประยุทธ์คิดว่าจะไม่มีการเลือกตั้ง หรือติดใจวิถีโจรที่เคยทำมาตั้งแต่ปี 2557 

จากนั้น ชวน หลีกภัย ประธานสภาผู้แทนราษฎรทำหน้าที่ประธานการประชุมในขณะนั้น ได้ตักเตือนอีกครั้ง เนื่องจาก อมรัตน์ ใช้คำถ้อยคำว่า ‘วิถีโจร’ ซึ่งไม่เหมาะสม โดย อมรัตน์ ถามกลับว่า คำพูดดังกล่าวผิดอย่างไร ในเมื่อเขาเป็นโจรปล้นประชาธิปไตย ประธานฯ จะปกป้องเขา หรือเพราะเห็นด้วยกับการรัฐประหาร

ชวน กล่าวว่า หน้าที่ของประธานฯ คือควบคุมการประชุมให้เป็นไปตามข้อบังคับ มีหลายถ้อยคำเสียดสีที่อนุโลมไปได้ แต่ถ้อยคำใดที่หนักเกินไป เช่น กล่าวหาว่าเป็นโจรก็ไม่ควร โดยจะไม่ได้ให้ถอนคำพูด เพื่อให้ถ้อยคำได้จารึกไว้ว่าได้พูดอย่างไร และประธานฯ ได้เตือนแล้ว จากนั้นจึงได้อภิปรายต่อ และ อมรัตน์ ได้กล่าวว่า ตนไม่นับญาติกับโจร

ระหว่างนั้น กรณิศ งามสุคนธ์รัตนา ส.ส.กทม. พรรคพลังประชารัฐ ได้ประท้วงตามข้อบังคับที่ 69 ว่ามีการกล่าวร้าย เพราะรัฐบาลนี้มาจากการเลือกตั้งอย่างถูกต้องตามกฏหมายในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข พร้อมยกสุภาษิตไทย สำเนียงส่อภาษา กริยาส่อสกุล

ขณะที่ อมรรัตน์ ยังคงอภิปรายต่อว่า สิ่งที่ กกต.ควรปรับเปลี่ยนคือรูปแบบบัตรเลือกตั้ง ต้องมีรายละเอียดให้ครบเพื่อลดจำนวนบัตรเวีย ให้คนในเรือนจำ และผู้ป่วยติดเตียงมีสิทธิเลือกตั้ง อีกทั้งยังสนับสนุนให้มีงบสนับสนุนการมีส่วนร่วมสังเกตการณ์การเลือกตั้ง เพื่อให้หน่วยเลือกตั้ง 92,000 หน่วย มีความบริสุทธิ์ 

ณัฐชา ก้าวไกล ประชุมสภา -7F7B-44F9-A28F-5891C52C732C.jpegณัฐชา ประชุมสภา -1A4D-4292-A8D7-3995B283446A.jpeg

‘ณัฐชา’ ซัดการเคหะฯ เบิกงบไปแล้ว แต่โครงการซ่อมแซมบ้านเอื้ออาทรไม่ถึงไหน

ด้าน ณัฐชา บุญไชยอินสวัสดิ์ ส.ส.เขตบางขุนเทียน พรรคก้าวไกล อภิปรายเกี่ยวกับการใช้งบประมาณของการเคหะแห่งชาติ ที่มีความล่าช้า ไม่ทันต่อความเดือดร้อนของประชาชน โดยอดีตของการเคหะแห่งชาตินั้น เป็นรัฐวิสาหกิจที่ได้ของบประมาณโครงการพัฒนาที่อยู่อาศัย ปี 2566 อยู่ประมาณ 830 ล้านบาท เพื่อดูแลที่อยู่อาศัยของผู้มีรายได้น้อย แต่อัตราการเบิกจ่ายตั้งแต่ปี 2561 ของการเคหะแห่งชาติ มีอัตราเบิกจ่ายเกินกว่าค่าเฉลี่ย แต่ในปี 2562 จนถึงปัจจุบัน เพิ่งเบิกจ่ายไปได้เพียง 9% หรือได้ไม่ถึงครึ่ง

งบประมาณปี 2565 มีการตั้งงบซ่อมแต่เบิกจ่ายไม่ได้ ดังจะเห็นจากโครงการซ่อมแซมบ้านเอื้ออาทรที่สภาอนุมัติงบประมาณฯ ไปแล้ว แต่เบิกจ่ายไมได้ โครงการยังคงมีสภาพชำรุดทรุดโทรมแม้ผ่านมาเป็นปีแล้ว แต่ไม่ได้ทุเลาความทุกข์ทรมานของพี่น้องประชาชนเลย ต้องเรียกว่าเป็นการทำงานอย่างขาดประสิทธิภาพหรือไม่ หรือจะทำแต่ในส่วนที่มีผลประโยชน์เกี่ยวข้องเท่านั้น

“งบประมาณการเคหะแห่งชาติ หาเงินเองได้ 8 พันกว่าล้าน ก็ใช้ไปเต็มอัตรา แต่งบประมาณแผ่นดินที่ขอจากสภาผู้แทนราษฎรที่ได้อนุมัติไปแล้ว และเกี่ยวโยงกับความเป็นความตาย ความอยู่รอดของพี่น้องประชาชน กลับล่าช้า ยิ่งคุณเบิกจ่ายล่าช้าไปเท่าไหร่ พี่น้องประชาชนก็ต้องยิ่งทนทุกข์อยู่เท่านั้น”

นอกจากนี้ ยังมีโครงการซ่อมด่วนภายใน 72 ชั่วโมง ที่การเคหะแห่งชาติให้ความสำคัญ และโฆษณาอย่างดิบดี ภายใต้นโยบายของ จุติ ไกรฤกษ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) โดยได้ตั้งงบไว้ 2 ล้านบาท ระยะเวลาโครงการ 1 ปี เบิกจ่ายไปทั้งสิ้นเพียง 45,075 บาทเท่านั้น ผ่านไปครึ่งปี โครงการซ่อมด่วนทำได้เพียง 11 เรื่อง กล่าวได้ว่าไม่ได้ดูดำดูดีต่อประชาชนเลย