ไม่พบผลการค้นหา
จากกรณีเปิดตัว ขบวนการนักศึกษาแห่งชาติ (Pelajar Bangsa) หนึ่งในกิจกรรมภายในงาน คือการทำแบบสอบถามประชามติ ในหัวข้อ "คุณเห็นด้วยหรือไม่ กับการกำหนดชะตากรรมตนเอง"  โดยกิจกรรมนี้กลายเป็นประเด็นถกเถียงในเวลาต่อมา

13 มิ.ย.2566 ที่ค่ายสิรินธร ต.เขาตูม อ.ยะรัง จ.ปัตตานี พล.ท.ศานติ ศกุนตนาค แม่ทัพภาคที่ 4 และผู้อำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 4 เป็นประธานการประชุมครั้งที่ 2  เพื่อพิจารณาดำเนินคดีกรณีกิจกรรมเปิดตัวขบวนนักศึกษาแห่งชาติ โดยมี พล.ต.ไพศาล หนูสังข์ รองแม่ทัพภาคที่ 4 รองผู้อำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 4 ส่วนหน้า, พล.ต.ปราโมทย์ พรหมอินทร์ รองแม่ทัพภาคที่ 4/รองผู้อำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 4 ส่วนหน้า, พล.ต.ฐาปนันท์ อรุณโชติ ที่ปรึกษาแม่ทัพภาคที่ 4, รองเลขาธิการกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 4 ส่วนหน้า, อัยการพิเศษฝ่ายคดีอาญา 4 ภาค 9, ผู้แทนกองกำลังตำรวจ จังหวัดชายแดนภาคใต้ ร่วมประชุม

มทภ.4 กล่าวอีกว่า ที่ประชุมได้มีความคิดเห็นตรงกันว่า มีแนวโน้มจะหมิ่นเหม่ต่อการกระทำผิดกฎหมาย พร้อมกำชับและมอบหมายให้ส่วนงานที่เกี่ยวข้อง เร่งดำเนินการหาพยานหลักฐานที่ชัดเจน เพื่อดำเนินคดีต่อผู้ที่เกี่ยวข้องทั้งหมดอย่างรัดกุม และรอบคอบ ตรงไปตรงมา

“กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 4 ส่วนหน้า พร้อมให้ความเป็นธรรมภายใต้หลักของความยุติธรรม ขอให้พี่น้องประชาชนในพื้นที่และในประเทศไทยได้รับทราบว่าส่วนที่เกี่ยวข้องไม่ได้นิ่งนอนใจ พร้อมยึดกฎกติกาของบ้านเมืองเป็นสำคัญ ยืนยัน พร้อมดำเนินการตามกฎหมายอย่างรัดกุมที่สุด” พล.ท.ศานติกล่าว

ทั้งนี้ สืบเนื่องจากงานเปิดตัว ขบวนการนักศึกษาแห่งชาติ (Pelajar Bangsa) ที่ห้องประชุมศรีวังสา คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี วันที่ 7 มิ.ย. 2566 โดยมีรองศาสตราจารย์ ดร.มารค ตามไท อาจารย์สาขาการสร้างสันติภาพ มหาวิทยาลัยพายัพเชียงใหม่ กล่าวปาฐากถาพิเศษในหัวข้อ ‘สิทธิในการกำหนดอนาคตตนเอง (Self Determination) กับสันติภาพปาตานี’ และวงสนทนาในห้วข้อดังกล่าวโดยมีสมาชิกพรรคเป็นธรรม พรรคประชาชาติ และองค์กร The Patani เข้าร่วมเป็นวิทยากร 

หนึ่งในกิจกรรมภายในงาน คือการทำแบบสอบถามประชามติ ในหัวข้อ "คุณเห็นด้วยหรือไม่ กับการกำหนดชะตากรรมตนเอง"  โดยกิจกรรมนี้กลายเป็นประเด็นถกเถียงในเวลาต่อมา

วันเดียวกัน (13 มิ.ย.66) The Reporters ได้รายงานบทสัมภาษณ์ของ ​ อักรอม วาบา รองประธานขบวนการนักศึกษาแห่งชาติ และฮุซเซ็น บือแน เลขาธิการขบวนการนักศึกษาแห่งชาติ (Pelajar Bangsa) เขตยะลา ต่อประเด็นดังกล่าวว่า

ขบวนการนักศึกษาแห่งชาติ ไม่ได้ตั้งขึ้นทดแทน PERMAS ที่ยุติการทำงานขององค์กรไปเมื่อ 2 ปีก่อน แต่ขบวนการนักศึกษามีเป้าหมายเพื่อจะขับเคลื่อนประเด็นต่างๆในสังคมปาตานี เช่น ประเด็นทางการเมือง ทรัพยากรสิ่งแวดล้อม เป็นต้น ซึ่งทางทีมงานมองเห็นถึงความสำคัญในการจัดตั้ง ซึ่งมีความแตกต่างกับองค์กร PERMAS

โครงสร้างขององค์กร PERMAS เป็นองค์กรสมาชิกซึ่งมีองค์การนักศึกษาของแต่ละมหาลัยมาอยู่ใน PERMAS ถือว่าเป็นองค์กรร่ม แต่สมาชิกขบวนการนักศึกษาจะเป็นปัจเจกบุคคลเป็นการรวมกลุ่มผู้ที่เห็นด้วยกับการขับเคลื่อนของขบวนการ เห็นด้วยกับแนวทางประชาธิปไตย หลักสันติภาพ และหลักสิทธิมนุษยชนไม่ได้ยึดในการเป็นสมาชิกขององค์การแต่อย่างใด

ฮูเซ็น กล่าวว่า แนวคิด ‘การกำหนดชะตากรรมตนเอง’ หรือ RSD (Right to Self-determination) เป็นสิ่งที่พูดถึงกันมาหลายสิบปี แต่กลับยังไม่เกิดขึ้นเป็นรูปธรรมเสียที โดยพวกตนต้องการให้ประชาชนเป็นคนกำหนดชีวิตและความต้องการของตนเอง ซึ่งทั้งหมดต้องอยู่ ‘ภายใต้กฎหมาย’

อักรอม วาบา รองประธานขบวนการนักศึกษาแห่งชาติ กล่าวเสริมว่า เรื่องการจัดทำประชามติที่ถูกวิพากษ์วิจารณ์ว่าต้องการแบ่งแยกดินแดน บัตรประชามติเขียนชัดเจนว่า ‘คุณเห็นด้วยหรือไม่ กับการกำหนดชะตากรรมตนเอง’ เพื่อต้องการจะสื่อกับผู้ร่วมงานว่าคุณ​​เห็นด้วยหรือไม่ที่ประชาชนปาตานีสามารถออกเสียงประชามติอย่างถูกกฎหมายเท่านั้น ไม่ใช่สอบถามว่า ‘คุณเห็นด้วยหรือไม่กับความต้องการเอกราช’ ตามที่ข่าวนำเสนอ

อีกทั้งการจัดทำประชามติต้องออกเป็นกฎหมาย ส่วนกิจกรรมที่จัดขึ้น ไม่ใช่การทำประชามติจริง และยืนยันว่า ภายในงานไม่ได้มีการสอบถามการแบ่งแยกดินแดนแต่อย่างใด โดยยอมรับว่ารู้สึกตกใจ เพราะไม่คิดจะทำให้เกิดประเด็นได้เช่นนี้ เนื่องด้วยมีปฏิบัติการข่าวสาร (IO) และการเชื่อมโยงโดยสื่อบางสำนักสื่อสารออกไปว่าพวกเราจะแบ่งแยกดินแดน และมีพรรคการเมืองหนุนหลัง ซึ่งไม่มีเค้าโครงความจริง

ทั้งนี้ กิจกรรมดังกล่าวเป็นกิจกรรมที่จัดขึ้นภายในมหาวิทยาลัย ซึ่งถือเป็นพื้นที่เสรีภาพทางวิชาการ โดยได้เชิญตัวแทนพรรคการเมือง ประกอบด้วย พรรคก้าวไกล พรรคประชาชาติ และพรรคเป็นธรรม เข้าร่วม เนื่องด้วยเป็นพรรคที่ได้รับการสนับสนุนจากคนในพื้นที่ และสนับสนุนประชาธิปไตย ยิ่งในช่วงที่ประชาธิปไตยเบ่งบาน เราจึงมีสิทธิแลกเปลี่ยนความคิดเห็น เรื่อง การกำหนดชะตากรรมตนเองอย่างถูกต้องตามกฎหมาย

ส่วนประเด็นที่ถูกเชื่อมโยว่า มีพรรคการเมืองอยู่เบื้องหลัง อักรอมยืนยันว่า ไม่ได้มีพรรคการเมืองอยู่เบื้องหลัง อาจจะเป็นในตัวบุคคลของคณะทำงานที่มีส่วนเกี่ยวข้องทางด้านความสัมพันธ์ด้านครอบครัวที่มีความเกี่ยวข้องกับสมาชิกพรรคการเมืองบางท่านจึงทำให้ถูกโยงไปอย่างที่เป็นประเด็นมา”

ในกรณีที่ กอ.รมน. ระบุว่าจะดำเนินคดีกับขบวนการนักศึกษาแห่งชาตินั้น ฮูเซ็น เชื่อว่า กิจกรรมและวงเสวนา ยังอยู่ภายใต้กฎหมายและเป็นสิทธิ เสรีภาพในการแสดงออกขั้นพื้นฐานในประเทศระบบประชาธิปไตย  หากสิทธิและเสรีภาพในการพูดคุยผิดกฎหมาย คงเป็นตัวกฎหมายต่างหากที่ผิด 

ด้าน อักรอม กล่าวว่า ที่ผ่านมาตนถูกคุกคามไปถึงครอบครัว ยอมรับว่าเป็นห่วง  อีกทั้งล่าสุดยังได้รับว่ามีเจ้าหน้าที่นอกเครื่องแบบไปถ่ายรูปหน้าบ้านของเพื่อนสมาชิกบ้างแล้ว ซึ่งถือเป็นเรื่องที่ไม่สมควรเพราะเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานในการแสดงออก โดยกล่าวว่า  

"ทุกวินาทีมีค่าสำหรับคนปาตานี ไม่ใช่ให้รอถึง 4 ปี เพราะที่นี่มีคนสูญเสีย มีคนตายด้วยความขัดแย้ง งบประมาณหลายสิบล้านลงมาแต่ไม่ได้รับการพัฒนาและแก้ปัญหา เชื่อว่าการแก้ปัญหาด้วยการกำหนดชะตากรรมตนเองจะตอบโจทย์" อักรอม ทิ้งท้าย

สำหรับความเคลื่อนไหวหลังการจัดงานเปิดตัว ขบวนการนักศึกษาแห่งชาติ (Pelajar Bangsa)เมื่อวันที่ 7 มิ.ย.มีลำดับดังนี้ 

8 มิ.ย. 2566 พล.ต.ปราโมทย์ พรหมอินทร์ รองแม่ทัพภาค 4 และรองโฆษกกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค4 (กอ.รมน.ภาค4) ออกแถลงการณ์ชี้แจงกรณี ‘ขบวนนักศึกษาแห่งชาติ’ จัดปาฐากถาพิเศษ  ได้มีเนื้อหาเกี่ยวข้องกับการทำประชามติแบ่งแยกดินแดน 3 จังหวัดชายแดนภาใต้ และ 4 อำเภอในจังหวัดสงขลา โดยมีนักการเมือง สมาชิกพรรคการเมือง นักวิชาการรวมทั้งเครือข่ายนักศึกษาเข้าร่วมและสนับสนุนกิจกรรมจำนวนหนึ่ง

พล.ต.ปราโมทย์ แถลงว่า “ภาครัฐได้ส่งเสริมและสนับสนุนสิทธิเสรีภาพในการแสดงออกและแสดงความคิดเห็นทางการเมืองภายใต้ระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขของปวงชนชาวไทยทุกเชื้อชาติ ศาสนา โดยไม่เลือกปฏิบัติทางเชื้อชาติในทุกรูปแบบ แต่การแสดงออกดังกล่าวต้องไม่ไปละเมิทต่อหลักกฎหมายและบูรณภาพแห่งดินแดนที่ได้กำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยที่ได้ระบุไว้ว่า ‘ประเทศไทยเป็นราชอาณาจักรอันหนึ่งอันเดียวจะแบ่งแยกมิได้’”

9 มิ.ย.  2566 กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 4 ส่วนหน้า ได้ประชุมครั้งแรกเพื่อพิจารณาหารือแนวทางดำเนินการต่อการจัดกิจกรรมเปิดตัวขบวนการนักศึกษาแห่งชาติ โดยเชิญผู้มีส่วนเกี่ยวข้องร่วมหารือ

หลังการหารือ พลตรี ปราโมทย์  พรหมอินทร์ รองแม่ทัพภาคที่ 4  โฆษกกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 4 ให้สัมภาษณ์กับสื่อมวลชนว่า การหารือในข้อกฎหมายกรณีเหตุการณ์ที่ขบวนการนักศึกษาแห่งชาติมีการจัดกิจกรรม โดยมีนักการเมือง สมาชิกพรรคการเมือง นักวิชาการ และนักศึกษาเข้าร่วมจนเป็นประเด็นที่สังคมให้ความสนใจอย่างกว้างขวาง ขณะนี้กองการรักษาความมั่นคงภายในภาค 4 ส่วนหน้า ได้เชิญคณะทำงานด้านกฎหมายเข้าร่วมประชุม หารือ เพื่อกำหนดแนวทางในการดำเนินการ ซึ่งผลจากการหารือพบว่า สามารถที่จะนำไปสู่การกำหนดแนวทางดำเนินการใน 2 เรื่อง ประกอบด้วย การสร้างความเข้าใจ ซึ่งถือว่าเป็นเรื่องที่มีความสำคัญ และการดำเนินการทางกฎหมาย ซึ่งเป็นสิ่งที่ต้องดำเนินการด้วยความรอบคอบ และต้องมีการรวบรวมพยานหลักฐาน ข้อมูลพฤติกรรม พร้อมทั้งความเชื่อมโยงต่างๆ ที่เกี่ยวข้องอย่างละเอียด ต้องขอเวลาให้คณะทำงานด้านกฎหมายได้มีเวลาดำเนินการ ซึ่งจะมีการนัดประชุมกันอีกครั้ง

นอกจากนี้ พล.อ.สุพจน์ มาลานิยม เลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ ได้รายงานกรณีการจัดกิจกรรมของขบวนการนักศึกษาแห่งชาติ ที่มีการจัดพิมพ์บัตรสอบถามความเห็นผ่านสื่อโซเชียล สอบถามประชาชนเรื่อง ประชาชนปัตตานีสามารถออกเสียงประชามติแยกตัวเป็นเอกราชได้อย่างถูกต้องตามกฎหมายให้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมรับทราบตั้งแต่วันที่จัดงาน มีความกังวลเกรงว่าจะมีการยุยงปลุกปั่นให้เกิดความแตกแยกจึงได้สั่งการตรวจสอบข้อเท็จจริงและดำเนินการตามกฎหมายอย่างเป็นธรรม

พล.อ.สุพจน์ ยืนยันว่าการออกเสียงประชามติแยกตัวเป็นเอกราชเป็นการกระทำที่ผิดกฎหมาย ไม่สามารถดำเนินการได้และไม่เกิดประโยชน์กับประชาชนเพราะเป็นหน้าที่ของ ส.ส.ที่ได้รับจากการเลือกตั้งในการทำหน้าที่สะท้อนความต้องการ ในส่วนของนโยบายสำหรับพื้นที่ภาคใต้โดยเฉพาะกฎหมายความมั่นคงที่จำเป็นจะต้องใช้เพื่อให้เกิดความสงบ ไม่ต้องการให้เกิดความเสียหายในชีวิตและทรัพย์สินของประชาชน ทั้งยังสนับสนุนเรื่องวัฒนธรรมประเพณี อัตลักษณ์ ศาสนาและการศึกษาอย่างเต็มที่ รวมถึงกลไกการพูดคุยสันติสุขที่เปิดโอกาสให้หลายภาคส่วนเข้าร่วม ดังนั้นบรรดานักวิชาการสามารถเข้าร่วมได้โดยไม่จำเป็นจะต้องแยกตัววไปทำอะไรสุ่มเสี่ยงให้เกิดความแตกแยก

ในวันเดียวกัน (9 มิ.ย.) คณะทำงานย่อย 8 พรรคร่วมจัดตั้งรัฐบาลว่าด้วยสันติภาพชายแดนใต้-ปาตานี ประชุมกันที่พรรคก้าวไกล โดยมีตัวแทนจาก 8 พรรค  อาทิ พิจารณ์ เชาวพัฒนวงศ์ รองหัวหน้าพรรค รอมฎอน ปันจอร์ ว่าที่ ส.ส. พรรคก้าวไกล, พล.ท.ภราดร พัฒนถาบุตร เลขานุการคณะกรรมการกิจการพิเศษ พรรคเพื่อไทย, ส่วนพรรคประชาชาติ มี พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง เลขาธิการพรรคประชาชาติ, อารีเพ็ญ อุตรสินธุ์ และ มุข สุไลมาน รองหัวหน้าพรรค, กัณวีร์ สืบแสง เลขาธิการพรรคเป็นธรรม, และ ชวลิต วิชยสุทธิ์ กรรมการยุทธศาสตร์พรรคไทยสร้างไทย

รอมฎอน แถลงผลการหารือว่า “เป็นการวางกรอบการทำงาน ระดมความเห็นแต่ละพรรคในเบื้องต้น การตั้งสมมุติฐานของปัญหาจังหวัดชายแดนใต้ไม่ว่าจะเป็นการสร้างสันติภาพ การแสดงความเห็นทางการเมืองที่ยังมีความขับข้องหมองใจ รวมถึงการแก้ปัญหาปากท้องประชาชน ดังนั้นวันนี้เราคุยกรอบกว้างที่แต่ละพรรคให้สัญญาประชาชนไว้ แต่ครั้งหน้าถ้าจะลงลึกรายละเอียดว่าจะวางกรอบสร้างสันติภาพ ตอบสนองแนวนโยบายอย่างไรให้กับประชาชน โดยนัดหารือที่พรรค ปช. ในวันที่ 19 มิถุนายนนี้ ที่ประชุมยังเห็นว่า แนวทางการแก้ปัญหา วันนี้อาจต้องลดบทบาท วิธีคิด และกลไกทางทหารลง แต่เพิ่มบทบาทพลเรือน โดยเฉพาะตัวแทนที่ผ่านการเลือกตั้งจากประชาชน นั่นคือบทบาทรัฐสภาและสภาผู้แทนราษฎร”

รอมฎอน ระบุว่า ที่ประชุมยังได้พูดถึงกรณีเปิดตัวขององค์กรนักศึกษาสามจังหวัดชายแดนใต้ ขบวนนักศึกษาแห่งชาติ โดยสัมผัสได้ว่ามีความกังวลของผู้คนที่มองปรากฏการณ์ทำกิจกรรมของนักศึกษากลุ่มนี้ ซึ่งในนามของว่าที่รัฐบาลใหม่ กรอบที่ยืนอยู่นั้นยังอยู่ภายใต้รัฐธรรมนูญ ซึ่งกำลังพูดถึงสถานภาพของรัฐเดี่ยวที่มองไปข้างหน้าและจะกระจายอำนาจ ให้อำนาจให้กับประชาชนท้องถิ่นมากขึ้น พร้อมยืนยันว่าไม่เห็นด้วยกับการแยกตัวออกไปของรัฐปัตตานี (ปาตานี) 

“เราอยู่ภายใต้รัฐธรรมนูญแต่ต้องมีพื้นที่ให้แสดงความเห็น ซึ่งการพูดคุย รับฟังความเห็นต่างๆ รวมถึงกลุ่มนักศึกษาฯ เป็นหนึ่งในกระบวนการทำงานของคณะทำงาน ไม่ห่วงว่าเรื่องนี้จะนำไปสู่ความแตกแยก แต่ส่วนตัวมองว่านี่คือหน้าตาที่แท้จริงของความขัดแย้ง และต้องการความกล้าหาญทางการเมืองภายใต้การนำของ ‘พิธา ลิ้มเจริญรัตน์’ หัวหน้าพรรค ไปเผชิญปัญหา แต่สิ่งที่กังวลคือเรื่องของความรุนแรง เพราะอีกไม่กี่เดือนก็จะครบรอบ 20 ปีของเหตุการณ์รุนแรงในจังหวัดชายแดนภาคใต้ โดยเชื่อว่าภายใต้รัฐบาลใหม่ที่จะเกิดขึ้นการกล้าเผชิญ คือจุดเริ่มต้นของการแก้ปัญหา”

ส่วนการพูดคุยกับหน่วยงานความมั่นคงนั้น รอมฎอน มองว่า หน่วยงานความมั่นคงก็เป็นระบบราชการภายใต้รัฐบาลอยู่แล้ว จะต้องมีการพูดคุย แต่ระหว่างนี้ผู้รับผิดชอบของ 8 พรรคการเมือง ก็ได้มีการพูดคุยกับเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องอยู่แล้ว เพื่อเตรียมความพร้อม ส่วนแนวคิดการพูดคุยกับกลุ่มบีอาร์เอ็น เพื่อสร้างสันติสุขจังหวัดชายแดนภาคใต้เหมือนที่รัฐบาลเดิมได้ทำมานั้น

ด้าน กัณวีร์ ได้กล่าวถึงกรณีดังกล่าว “ถ้าเป็นการทำประชามติเพื่อสนับสนุนการแบ่งแยกดินแดน เราไม่สนับสนุนเพราะอยู่นอกกรอบรัฐธรรมนูญ แต่เราเปิดเสรีในการแสดงออกของประชาชนและไม่กังวลกับเรื่องที่เกิดขึ้นเพราะดำเนินการตามกรอบรัฐธรรมนูญ”

12 มิ.ย. 2566 ‘ศูนย์รวมประชาชนปกป้องสถาบัน’ เดินทางไปยื่นหนังสือถึงนายกรัฐมนตรี เพื่อเรียกร้องให้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา รักษาการนายกรัฐฒนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ดำเนินการตรวจสอบ และยกเป็นวาระเร่งด่วน เนื่องจากแถลงการณ์ เสวนา และการจำลองประชามติ อาจเข้าข่ายความผิดความมั่นคงนั้น