ไม่พบผลการค้นหา
ผบ.ทอ. เตรียมเคาะเลือกแบบเครื่องบินรบ พ.ค. เชื่อฝ่ายการเมืองไฟเขียวงบจัดซื้อ 19,000 ล้านบาท ปี 68 เหตุรองรับเครื่องบินปลดประจำการ ปี 2572 คงสภาพพร้อมรบ

พล.อ.อ.พันธ์ภักดี พัฒนกุล ผู้บัญชาการทหารอากาศ ให้สัมภาษณ์ภายหลัง นายสุทิน คลังแสงรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ยังดูแลกองทัพ ต่อหลังมีการปรับคณะรัฐมนตรีว่า ไม่ได้สั่งกำชับอะไรเพิ่มเติม เป็นผู้บังคับบัญชา ที่เราปฏิบัติตามแนวทางและนโยบายของท่านมาโดยตลอด ถือว่าได้ทำงานต่อเนื่องกันต่อไป

สำหรับการจัดซื้อเครื่องบินรบฝูงใหม่ จำนวน 4 เครื่อง วงเงิน 19,000 ล้านบาท งบผูกพัน 4 ปี ได้ถูกบรรจุในงบประมาณ 2568 ไปเรียบร้อยแล้ว และผ่านการอนุมัติของคณะรัฐมนตรี แล้วอยู่ระหว่างการดำเนินการในขั้นตอนต่อไป ส่วนการเลือกแบบอยู่ระหว่างการพิจารณาของคณะกรรมการ แต่เชื่อว่าประมาณกลางเดือนมิถุนายนจะมีความชัดเจน โดยในเดือนพฤษภาคมจะทำ workshop ของเครื่องบินทั้ง 2 แบบ (กริพเพน สวีเดน และ ตระกูล F ของสหรัฐฯ) ซึ่งจะต้องทำด้วยความรอบคอบและระมัดระวัง เพราะถือเป็นโอกาสเดียว ในการจัดหา ซึ่งใช้งบประมาณค่อนข้างสูง เพื่อให้ได้ของที่ดีที่สุด

เมื่อถามว่าหนักใจหรือไม่ เพราะมีตัวอย่างกรณีจัดซื้อเรือฟริเกตของกองทัพเรือ ที่ ถูกตีตก ในชั้นคณะกรรมการปี 2567 ผู้บัญชาการทหารเรือ กล่าวว่า กองทัพอากาศมีเหตุผล และความจำเป็นที่ได้ชี้แจง เมื่อ 3 ปีที่แล้ว และมีการขยับการจัดซื้อจัดหา และหากมีเหตุผลที่จำเป็นมากกว่า เราก็ต้องยอมรับ แต่ในส่วนของความมั่นคงเราต้องทำหน้าที่ให้ดีที่สุด ในการที่จะปกป้องงบประมาณที่จะมาดูแล ในการทำหน้าที่ตามบทบาท ความรับผิดชอบของกองทัพอากาศ

เหตุเพราะปี 2572 เป็นต้นไป กองทัพอากาศจะทยอยปลดประจำการ เครื่องบินเป็นจำนวนมากจาก 6 ฝูงบินอาจจะเหลือแค่ 3 ฝูงบิน และมีฝูงบินรบหลักเหลือเพียง 2 ฝูงบินเท่านั้น คือที่กองบิน 7 จังหวัดสุราษฎร์ธานี กับกองบิน 4 จ. นครสวรรค์ เพราะกองบิน 1 จะต้องทยอยปลด ในปี 2572 เป็นต้นไป

พล.อ.อ.พันธ์ภักดี ระบุต่อว่า ถ้าหากดูตามไทม์ไลน์ เราจัดหาในปี 2568 ซึ่งอาจจะช้าไปแล้วด้วย 4+4+4 รวม 12 เครื่อง ครบ 1ฝูง กว่าจะเรียบร้อยเข้ามาประจำการอาจใช้เวลานาน หลังปี 2572 เป็นต้นไปจะต้องทยอยเอาเครื่องบินรบเข้าประจำการในกองบิน 1 ซึ่ง 4 เครื่องแรก ที่จะจัดซื้อในปีงบประมาณ 2568 ยังรับประกันไม่ได้ว่า จะเข้าประจำการ ภายในปี 2572 เพราะว่า ต้องมีการฝึก การรับเครื่องบิน รวมถึงการฝึกพร้อมรบ เพื่อให้นักบินพร้อมปฏิบัติภารกิจ อย่างน้อยที่สุด หากเราได้จัดหาเครื่องบินมาภายในปี 2568 ปลายปี 2572 อาจทำให้กองทัพอากาศมีความพร้อมรบได้ในระดับหนึ่ง

เมื่อถามว่าฝ่ายการเมืองจะมีความเข้าใจ ฝ่ายค้านและตัวของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ถึงความจำเป็นของกองทัพอากาศใช่หรือไม่ พล.อ.อ.พันธุ์ภักดี ระบุว่า ท่านเชื่อมั่นด้วยเหตุผลที่กองทัพอากาศได้นำเสนอไปตั้งแต่แรกทุกอย่างท่านมีแนวทาง ที่จะตอบได้ว่าเราทุกคน ต้องมีความมั่นใจในเรื่องความมั่นคง ในการที่จะให้กองทัพดูแลผลประโยชน์ของประเทศชาติเพราะฉะนั้นเราจะทำหน้าที่ของเราให้ดีที่สุดและเชื่อว่าท่านมีความเข้าใจ และ ท่านจะสนับสนุน

ผู้บัญชาการทหารอากาศ ยังระบุอีกว่า นอกจากการจัดหาเครื่องบินรบ แล้ว กองทัพอากาศยังมีอีก 3-4 โครงการ เพียงแต่ต้องพิจารณาว่าโครงการที่เสนอไป จะต้องไม่เกินกรอบงบประมาณ ที่กองทัพอากาศจะได้รับ เพราะ หากเสนอไปมาก จะทำให้งบประมาณโป่งพอง เกินกรอบงบประมาณของส่วนอื่น จึงพยายามทำให้อยู่ในกรอบของกองทัพอากาศ ซึ่งได้หายรือกับสำนักงบประมาณตลอดเวลา เพราะจะมีเรื่องของเฮลิคอปเตอร์ ที่ใช้สำหรับช่วยเหลือกู้ภัย ที่ยังมีไม่ครบ ซึ่งถือว่ามีความจำเป็น


ร่างกฎหมายสกัดรัฐประหารแค่ข้อเสนอ

พล.อ.อ.พันธ์ภักดี ให้สัมภาษณ์ข้อเสนอแก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัติ จัดระเบียบราชการกระทรวงกลาโหม (ฉบับที่…) พ.ศ. … และร่างพระราชบัญญัติธรรมนูญศาลทหาร (ฉบับที่…) พ.ศ. … ซึ่งถูกวิพากษ์วิจารณ์ว่าอาจป้องกันการรัฐประหารว่า เป็นแค่การนำเสนอในที่ประชุมสภากลาโหมยังไม่ได้มีการลงไปในรายละเอียดถือเป็นแนวทางความคิด


ปัดการท่าฯ เซ้งสนามกอล์ฟ ทอ.

พล.อ.อ.พันธ์ภักดี กล่าวถึงการดูแลพนักงาน แคดดี้ ร้านค้าต่างๆ หากนำ สนามกอล์ฟกานตรัตน์ หรือสนามงู ให้การท่าอากาศยานแห่งประเทศไทย ไปพัฒนาต่อยอดตามนโยบายของรัฐบาลว่า ตนได้ไปพูดคุยกับ สุริยะจึง รุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการคมนาคม รวมถึงผู้ที่เกี่ยวข้อง ได้ยกประเด็นนี้ขึ้นมา ซึ่งกองทัพอากาศมองว่า ตามนโยบายของนายกรัฐมนตรี หากต้องการให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางการบิน (ฮับ) ของภูมิภาค หากใช้ประโยชน์สนามกอล์ฟกานตรัตน์ได้ กองทัพอากาศ ก็มีความยินดี ในการสนับสนุน และทางนายกรัฐมนตรี ได้ให้ความกรุณาในการหารือกับการท่าอากาศยานแห่งประเทศไทย ว่าควรที่จะให้ค่าชดเชยให้กับกองทัพอากาศ อย่างเช่นกรณีที่ผู้สื่อข่าวถาม จะดูแล แคดดี้ ร้านค้า พนักงาน ที่ทำงานในสนามกอล์ฟกานตรัตน์ได้อย่างไร เพราะปัจจุบันแคดดี้มี 300 คน ไม่รวมครอบครัวที่เขาต้องดูแล และยังมีร้านค้าอีกหลายครอบครัวเช่นกัน ซึ่งนายกรัฐมนตรีได้คุยกับทางการท่าอากาศยานแห่งประเทศไทยว่า ต้องมีการเยียวยาดูแล สำหรับค่าใช้จ่ายก็ยังต้องหารือร่วมกันว่าจะต้องเป็นจำนวนเงินเท่าใด คงไม่ใช่ 3,000 ล้านบาท อย่างที่เป็นข่าว เป็นเพียงการประมาณการว่าค่าชดเชยต่อปีเท่าไหร่ นายกรัฐมนตรี ต้องการให้การท่าแห่งประเทศไทยได้ดูแลกองทัพในเรื่องสวัสดิการ ให้มีความต่อเนื่องต่อไป เพื่อให้เกิดความเหมาะสม

"พื้นที่สนามกอล์ฟกานตรัตน์ เป็นของกรมธนารักษ์ และมอบให้กองทัพอากาศได้ดูแล ซึ่งบริเวณนี้มีอยู่ประมาณ 5,000 กว่าได้ และได้ให้การท่าไปแล้ว 3,600 ไร่ ที่ใช้เป็นพื้นที่สนามบินในปัจจุบัน เพื่อให้ได้นำไปใช้ประโยชน์ ที่ผ่านมากองทัพอากาศไม่ได้รับเงินอะไรจากการท่าอากาศยานแห่งประเทศไทย "

เมื่อถามว่าการมอบพื้นที่สนามกอล์ฟกานตรัตน์ให้การท่าอากาศยานแห่งประเทศไทย นำไปต่อยอดโดยจ่ายค่าชดเชยให้กองทัพเปรียบเสมือนการเซ้งหรือไม่ ผู้บัญชาการทหารอากาศ กล่าวว่า ไม่เหมือน เพียงแต่ว่าอยู่ที่ความเหมาะสม ว่า การท่าอากาศยานแห่งประเทศไทย จะดูแลสวัสดิการของคนที่ทำงานอยู่อย่างไร และนายกรัฐมนตรียังให้แนวคิดในการไปปรับปรุงสนามกีฬาธูปะเตมีย์ ให้เป็นสปอร์ตคอมเพล็กซ์ เพื่อรองรับพนักงานที่จะย้ายจากสนามกอล์ฟกานตรัตน์ อีกทั้งยังเปิดให้ประชาชนทั่วไปมาใช้งานอย่างเต็มรูปแบบ

เมื่อถามว่าตัวเลข 3 พันล้าน เกินจริงไปหรือไม่ ผู้บัญชาการทหารอากาศ กล่าวว่า เป็นตัวเลขที่เราได้ประเมินไว้เช่น ในแต่ละปีมีค่าใช้จ่าย แคดดี้เท่าไหร่ ค่าใช้จ่ายของร้านค้า พนักงาน จะมีกำไรที่มาเป็นทุนให้กับลูกหลานกองทัพอากาศ และเราไปซื้อประกันภัยพิทักษ์พลหมู่ กำไรจากสนามกอล์ฟกาญจนาลักษณ์ปีละ 5 ล้านบาท แต่รายรับทั้งหมดประมาณ 90 กว่าล้าน แต่เราก็มีรายจ่าย ที่ต้องดูแลหลายภาคส่วน ในส่วนที่มาช่วยงานค่าจ้างต่างๆ ตัวเลข 3,000ล้านเป็นการคำนวณระยะยาว กองทัพอากาศ ไม่ได้คาดหวังถึงขนาดนั้นแต่อยากให้คุยในเรื่องตัวเลขความเหมาะสมมากกว่า ซึ่งทางการท่าอากาศยานแห่งประเทศไทยก็ยินดี ที่จะพูดคุย เพื่อหาที่ลงตัวเหมาะสมที่สุด และในระหว่างที่อยู่ ขั้นตอนการดำเนินการสนามกอล์ฟก็ยังเปิดใช้งานได้ตามปกติ แม้จะเป็นสนามกอล์ฟที่อยู่ติดกับรันเวย์ก็จริง แต่ผ่านการ รับรองจากองค์กรการบินระหว่างประเทศ หรือ ICAO ว่าเป็นสนามบินที่ปลอดภัย ไม่เป็นอันตรายต่อการบิน