อาคารเก่าแก่ที่ถูกเรียกว่า 'บารอน พาเลซ' ในกรุงไคโร เมืองหลวงของอียิปต์ กำลังอยู่ระหว่างการบูรณะซ่อมแซมโดยหน่วยงานท้องถิ่น แต่กลับถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างมากจากผู้ใช้สื่อโซเชียลในอียิปต์ เพราะหลายคนมองว่าการบูรณะโดยใช้หินอ่อนสีขาวมาเสริมแทนหินเดิมที่เป็นสีชมพูอมส้ม เป็นการทำลายความงามดั้งเดิมของอาคารแห่งนี้ไป
'บารอน พาเลซ' เป็นอาคารที่ถูกสร้างขึ้นตั้งแต่ต้นศตวรรษที่ 20 โดยมหาเศรษฐีชาวเบลเยียมที่เป็นเจ้าของโครงการพาณิชย์เก่าแก่ในย่าน 'เฮลิโอโพลิส' ในกรุงไคโรของอียิปต์ ได้รับแรงบันดาลใจจากอังกอร์วัด ซึ่งเป็นศิลปะเขมร และอาคารแห่งนี้เคยได้รับความนิยมอย่างมากในอดีต
แต่อาคารแห่งนี้ถูกปล่อยทิ้งร้างไว้นานมาก หลังจากเจ้าของเสียชีวิตลงไปและกลายเป็นพื้นที่สาธารณะ จนกระทั่งช่วงปลายปี 2017 รัฐบาลอียิปต์ก็ระบุว่า จะบูรณะอาคารแห่งนี้ หลังจากที่มันทรุดโทรมลงเรื่อยๆ จนนกและค้างคาวจำนวนมากเข้ามาสร้างรัง
การบูรณะซ่อมแซมใช้งบประมาณกว่า 100 ล้านปอนด์อียิปต์ และหน่วยงานที่รับผิดชอบตั้งเป้าว่า การบูรณะจะต้องแล้วเสร็จภายในปี 2019 นี้ เพื่อที่จะเปิดใช้งานจริงภายในปี 2020 หลังจากที่ตกแต่งภายในเรียบร้อยแล้ว แต่กลายเป็นว่า ผู้ใช้สื่อโซเชียลในอียิปต์ไม่พอใจอย่างมาก หลังจากที่มีผู้ถ่ายรูปอาคารแห่งนี้ที่กำลังถูกบูรณะด้วยหินอ่อนสีขาวไปเผยแพร่ในโลกออนไลน์ และพวกเขารู้สึกว่านี่เป็นเรื่องไม่ถูกต้อง และหน่วยงานที่รับผิดชอบควรจะใช้หินสีเดิม แล้วก็ไม่เห็นด้วยที่มีการติดตั้งกระจกตรงช่องลมของอาคาร เพราะหลายคนรู้สึกว่านี่เป็นการทำลายความงามดั้งเดิมของอาคารแห่งนี้ไป
เจ้าหน้าที่ซึ่งรับผิดชอบการบูรณะซ่อมแซมจึงได้ออกมาชี้แจงว่า วัสดุที่ใช้และหินทุกก้อนพยายามคงแบบเดิมทุกอย่างแล้ว พร้อมทั้งบอกว่า อาคารเดิมใช้หินสีขาว แต่เมื่อเวลาผ่านไปนาน เจอกับสภาพอากาศที่เปลี่ยนแปลง ก็เลยทำให้หินกลายเป็นสีชมพูอมส้ม ส่วนกรณีที่มีการติดกระจกบริเวณช่องลมและหน้าต่างที่ควรจะเปิดโล่งนั้น เจ้าหน้าที่ก็บอกว่า จำเป็นต้องติด เพราะต้องป้องกันไม่ให้นกหรือค้างคาวบินเข้าไปทำรังเหมือนที่ผ่านมา
สิ่งที่เจ้าหน้าที่ทิ้งท้ายไปถึงผู้ใช้สื่อโซเชียลที่วิจารณ์การบูรณะครั้งนี้ก็คือว่า โครงการนี้เริ่มมาตั้งแต่ปี 2017 และมีการประกาศต่อสาธารณะชัดเจน และปลายปีนี้การบูรณะก็จะต้องทำให้เสร็จทันตามกำหนด การออกมาคัดค้านในตอนนี้อาจจะเป็นเรื่อง 'สายเกินไป' แล้วก็ได้ ซึ่งก็อาจจะต้องดูกันต่อไปว่าผู้ใช้สื่อโซเชียลในอียิปต์จะเคลื่อนไหวเรื่องนี้กันต่อไปอย่างไร