ผู้บริโภคชาวญี่ปุ่นจำนวนมากสนับสนุนการลดเวลาการดำเนินการของร้านสะดวกซื้อ และให้ความสำคัญกับสินค้าเหลือทิ้ง เพื่อเจ้าของและสิ่งแวดล้อม
ผู้บริโภคชาวญี่ปุ่นสนับสนุนการปรับตัวของอุตสาหกรรมร้านสะดวกซื้อที่มีอยู่ทั่วทุกหัวถนน โดยตัวเลขร้านสะดวกซื้อในญี่ปุ่นโตขึ้นกว่า 70 % ภายในช่วง 20 ปี ที่ผ่านมา ขึ้นไปแตะที่ราว 58,000 ร้านทั่วประเทศ ส่งผลให้ร้านสะดวกซื้อเหล่านี้กลายเป็นสิ่งสำคัญของครอบครัวที่อาศัยอยู่คนเดียวและคนที่ทำงานเลิกดึก สะท้อนให้เห็นจากยอดขายที่สูงขึ้นกว่า 90 % ขึ้นไปแตะเม็ดเงิน 11 ล้านล้านเยน หรือประมาณ 3.18 ล้านล้านบาท
อย่างไรก็ตาม 2 สิ่งที่ตามติดมาเป็นเงาตามตัวจากอัตราการเติบโตอย่างรวดเร็วก็คือ การเปิดดำเนินการ 24 ชั่วโมง และรายการสินค้ายิบย่อยครบวงจร แต่วงการร้านสะดวกซื้อญี่ปุ่นกำลังเกิดการเปลี่ยนแปลงขึ้นเมื่อช่วงเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา เมื่อ เซเว่น-อีเลฟเว่น แฟรนไชส์ในญี่ปุ่น ตัดสินใจลดเวลาการเปิดดำเนินการร้านสะดวกซื้อในเมืองโอซากาลงเหลือเพียง 19 ชั่วโมงต่อวัน ส่งผลให้คู่แข่งหลายรายต้องดำเนินธุรกิจแบบเดียวกัน
โดยปกติแล้ว ต้นทุนหลักของร้านสะดวกซื้อประกอบไปด้วย คนงาน ค่าสาธารณูปโภค และการขาดทุนจากสินค้าที่ขายไม่ได้ โดยประเด็นหลังสุดกำลังเป็นสิ่งที่ทุกฝ่ายต่างถกเถียงกันอยู่ในปัจจุบัน ว่าสินค้าเหลือทิ้งเหล่านั้นกลายมาเป็นขยะที่ส่งผลเสียต่อสิ่งแวดล้อม ซึ่งปัจจัยที่ทำให้สินค้าเหลือทิ้งเหล่านี้เพิ่มสูงขึ้นนั้นมาจากการแข่งขันที่หนักหน่วงในอุตสาหกรรมร้านสะดวกซื้อเพื่อให้แน่ใจว่าร้านของตนมี 'ทุกสิ่ง' ที่ลูกค้าต้องการ ทำให้ต้องมีการตุนสินค้าจำนวนมาก และร้านสะดวกซื้อก็มองว่ากำไรที่ได้จากการเป็นสถานที่ที่ลูกค้ารู้ว่ามีสินค้าทุกอย่างนั้น คำนวณแล้วคุ้มกับต้นทุนสินค้าเหลือทิ้งเหล่านั้น