จากกรณีที่นายชูชาติ ศรีแสง อดีตผู้พิพากษาศาลฎีกาโพสต์ บนเฟซบุ๊กส่วนตัว www.facebook.com/chuchart.srisaeng โดยมีความตอนหนึ่งว่า
...ในเดือนมิถุนายนและกรกฎาคมปีนี้ ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ได้นัดพิจารณาคดีที่นายทักษิณ ชินวัตร ถูกฟ้องเป็นจำเลยซึ่งคดีค้างพิจารณาอยู่ตามคำร้องขอของโจทก์คืออัยการสูงสุด และคณะกรรมการ ป.ป.ช. ที่ขอให้ยกคดีขึ้นมาพิจารณา
กรณีที่มีกลุ่มคนบางกลุ่มออกมาตำหนิ โจมตี ด่าผู้พิพากษาศาลยุติธรรมด้วยถ้อยคำที่หยาบคายอย่างรุนแรงในขณะนี้ โดยยกเอาเรื่องที่สำนักงานศาลยุติธรรมดำเนินก่อสร้างอาคารศาลอุทธรณ์ ภาค 5 และบ้านพักตุลาการที่เชียงใหม่ มาเป็นเหตุอ้าง ทั้งๆ ที่ผู้พิพากษาไม่ได้มีส่วนรู้เห็นหรือเกี่ยวข้องในการดำเนินการก่อสร้างของสำนักงานศาลยุติธรรมเลย
.....การที่ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ยกเอาคดีดังที่กล่าวข้างต้นขึ้นมาพิจารณา นายทักษิณและบริวารทั้งหลายพอจะคาดหมายได้ว่าผลของคดีจะเป็นอย่างไร โดยเฉพาะบางคดีที่ได้มีคำพิพากษาลงโทษจำเลยบางคนไปแล้ว
.....จึงเชื่อได้ว่านี่คือสาเหตุอันแท้จริงที่เป็นเหตุให้ผู้พิพากษาศาลยุติธรรมโดยรวมถูกด่าด้วยถ้อยคำที่หยาบคายอย่างรุนแรงอยู่ในขณะนี้ ทั้งนี้เพื่อต้องการทำลายความน่าเชื่อถือของศาลยุติธรรมของไทยที่นายทักษิณและบริวารได้กระทำมาก่อนหน้านี้
นักวิเคราะห์มองว่า การต่อต้านบ้านพักตุลาการเชิงดอยสุเทพ เกิดจากความรู้สึกสำนึกสาธารณะของชาวเชียงใหม่ ที่มองว่าต้องมีส่วนร่วมในการจัดการพื้นที่ รัฐไม่ควรนำไปทำอะไรก็ได้ ทั้งนี้คนเชียงใหม่ ค้านหลายโครงการจากรัฐบาล ไม่ว่าจะเป็น งานพืชสวนโลก กระเช้าไฟฟ้า ไนท์ซาฟารี หรือแม้แต่กรณีที่วัดจะทำโดม ก็มีการคัดค้าน ขณะที่ในยุคออนไลน์ กรณีบ้านพักศาลคนทั้งประเทศเห็นภาพป่าแหว่ง ก็เกิดจิตสำนึกสาธารณะร่วม และมองว่าเชิงดอยสุเทพเป็นป่า แม้ตามกฎหมายระบุว่าไม่ใช่ป่า โดยกรณีนี้ เกี่ยวกับเรื่องตุลาการภิวัฒน์ ตรงที่องค์กรศาล เป็นองค์กรมีเกียรติ คนเกรงใจ ให้ความเคารพ แต่ภาพที่ออกมาขัดแย้งกัน
ขณะที่รัฐบาลก็ไม่ได้นิ่งนอนใจในเรื่องนี้ และได้มีการส่งเจ้าหน้าที่ไปพูดคุยกับคนในพื้นที่ด้วย ซึ่งต้อนลุ้นกันต่อว่าจะจบอย่างไร ม.44 รื้อทิ้ง หรืออย่างไร?