ไม่พบผลการค้นหา
'ยุทธพร'วิเคราะห์การเมืองไทยรอยต่อก่อน-หลังเลือกตั้ง
Jun 18, 2018 10:03

รองศาสตราจารย์ประจำสาขาวิชารัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช คาดการณ์แนวโน้มผู้นำรัฐบาลหลังเลือกตั้ง อาจสวนทางเจตจำนงค์ประชาชน ขอคสช.เร่งปลดล๊อคพรรคการเลือกตั้ง สร้างความยุติธรรม ป้องกันวิกฤตในอนาคต พร้อมกังวลร่างยุทธศาสตร์ชาติไม่ตอบโจทย์ประเทศ และประชาชน 

รองศาสตราจารย์ดร.ยุทธพร อิสรชัย รองศาสตราจารย์ประจำสาขาวิชารัฐศาสตร์ และอดีตรองอธิการบดี มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช แสดงความกังวลร่างยุทธศาสตร์ชาติ ที่ผ่านการพิจารณารับหลักการโดยสภานิติบัญญัติแห่งชาติเมื่อวานนี้ และเป็นหนึ่งในแนวทางปฏิรูปที่จะบังคับทิศทางประเทศในอนาคต 

โดยระบุว่า ร่างยุทธศาสตร์นับเป็นแนวทางบริหาร และนโยบายสาธารณะรูปแบบหนึ่ง ที่ควรยืดหยุ่น และปรับตัวได้กับสภาวะแวดล้อม ตลอดจนเชื่อมโยงกับประชาชน แต่แนวคิด และกระบวนการจัดทำร่างดังกล่าวผิดทิศทาง ร่างกลับมีสภาพบังคับ ผูกพันต่อรัฐบาล และองค์กรต่างๆ พร้อมบทลงโทษหากไม่ปฏิบัติตาม นอกจากนี้กระบวนการจัดทำยังไร้การมีส่วนร่วมจากประชาชน และดำเนินการโดยองค์กรที่ไม่เชื่อมโยงกับประชาชน ทั้งๆที่ประชาชนมีบทบาททางการเมืองมากขึ้น หลังรัฐธรรมนูญ 2540 ดังเห็นได้จากความสนใจต่อนโยบายของพรรคการเมือง มากกว่าแผนการปฏิรูปที่ทำโดยแทคโนแครตอย่างแผนพัฒนาเศรษฐกิจ และสังคมแห่งชาติ 

รองศาสตราจารย์ดร.ยุทธพร ระบุว่า ที่ผ่านมาเราเคยมีตัวอย่างกฎหมายที่ไม่ถูกปรับเปลี่ยน คือ กฎหมายระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน ที่กำหนดให้รัฐไทยมีโครงสร้างแบบรัฐรวมศูนย์ สิ่งนี้ทำให้เราไม่สามารถแก้ไขปัญหาต่างๆได้ อาทิ การทุจริต หรือคุณภาพของนักการเมือง เนื่องจากไม่ได้แก้ไขโครงสร้างรัฐ แม้จะมีการปรับเปลี่ยนกลไกทางรัฐธรรมนูญบ่อยครั้ง ร่างยุทธศาสตร์ชาติจึงไม่แตกต่างกับกฎหมายบริหารราชการแผ่นดิน 

อย่างไรก็ตาม คาดว่า สมาชิกวุฒิสภาที่มาจากการสรรหาโดยคสช.จะไม่ยิมยอมให้เกิดการแก้ไขร่างยุทธศาสตร์ แม้สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร หรือนักการเมืองจะได้รับฉันทามติจากประชาชน และกลไกรัฐธรรมนูญเปิดช่องให้แก้ไขได้ เว้นแต่จะมีวิกฤติทางการเมืองเหมือนในช่วงหลังพฤษภาคมปี 35 สิ่งที่เกิดขึ้นขณะนั้นส่งผลให้หลายภาคส่วนยินยอมพร้อมใจแก้ไขกฎหมายที่เป็นปัญหา เช่น ที่มานายกรัฐมนตรี เป็นต้น 

นอกจากนี้ รองศาสตราจารย์ดร.ยุทธพร เชื่อว่า พรรคการเมืองที่มีอุดมการณ์ประชาธิปไตยน่าจะชูการแก้ไขร่างยุทธศาสตร์ชาติ และรัฐธรรมนูญเป็นนโยบาย เนื่องจากพวกเขามองว่าจะเป็นแนวทางทำให้การเมืองเดินหน้าได้ ส่วนตัวยังเชื่อว่าแนวนโยบายนี้จะไม่นำไปสู่วิกฤติทางการเมือง ดังที่หลายฝ่ายกังวล เนื่องจาก มีหลายปัจจัยที่ส่งผลต่อการเกิดวิกฤติมากกว่า หนึ่งในนั้นคือ ผลจากการบังคับใช้คำสั่งคสช.ที่ 53/2560 ที่ทำให้เกิดความได้เปรียบเสียเปรียบของการแข่งขันทางการเมือง จนอาจส่งผลต่อความโปร่งใส และยุติธรรมของการเลือกตั้ง ก่อให้เกิดปัญหาทางกฎหมาย และความขัดแย้งทางการเมืองรอบใหม่ได้

ขณะที่ผลการเลือกตั้งครั้งถัดไป รองศาสตราจารย์ดร.ยุทธพร เชื่อมั่นว่า ผลดังกล่าวไม่ใช่แค่การเลือกรัฐบาล แต่คือ การเลือกอุดมการณ์ทางการเมือง เช่นเดียวกับแนวทางของพรรคการเมืองขณะนี้ก็แตกต่างอย่างชัดเจน และสถานการณ์ทางการเมืองก็บีบให้นักการเมืองต้องแสดงท่าทีให้ชัดเจนขึ้น 

นอกจากนี้ยังเชื่อว่า มีความเป็นไปได้ที่การยกมือเลือกนายกรัฐมนตรีของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรอาจสวนทางกับเจตนารมย์ของประชาชน เนื่องจากกลไกรัฐธรรมนูญเปิดช่องไว้ ทั้งการให้เลือกนายกรัฐมนตรีคนนอก มีสามรายชื่อ และองค์ประกอบของสมาชิกวุฒิสภาจากคสช.ที่จะเข้ามามีส่วนเลือกนายกรัฐมนตรี ตลอดจนคำสั่งที่ 53/2560 สิ่งเหล่านี้ทำให้คณิตศาสตร์ทางการเมืองทำงานได้อย่างดี และกลายเป็นการต่อรองเชิงผลประโยชน์

สำหรับข้อเสนอขณะนี้ มองว่า คสช.ควรปรับแก้ และยกเลิกคำสั่งคสช. 53/60 และปลดล๊อคพรรคการเมือง เพราะปัจจัยที่จะทำให้การเลือกตั้งถูกเลื่อนแทบจะไม่มี เพราะกฎหมายลูกไม่ได้มีปัญหาแล้ว คณะกรรมการการเลือกตั้งก็ตอบรับอย่างดี ส่วนตัวมองว่า ท่าทีที่คสช.ยังไม่ดำเนินการผ่อนคลาย น่าจะเกิดความพยายามช่วงชิงความได้เปรียบทางการเมืองของกลุ่มการเมืองต่างๆ 

Voice TV
กองบรรณาธิการ วอยซ์ทีวี
181Article
60261Video
0Blog