เฟซบุ๊กอนุญาต 'หัวเว่ย' เข้าถึงข้อมูลผู้ใช้งาน
เฟซบุ๊ก อนุญาตให้ 'หัวเว่ย' เข้าถึงฐานข้อมูลผู้ใช้งานได้ แต่ยังต้องอยู่ภายใต้การสอดส่องของรัฐบาลสหรัฐฯ อย่างใกล้ชิด
สำนักข่าวต่างประเทศ นิวยอร์กไทมส์ รายงานว่า เฟซบุ๊กมอบสิทธิพิเศษกับ 'หัวเว่ย (Huawei)' แบรนด์เทคโนโลยีจากจีน ให้สามารถเข้าถึงข้อมูลของผู้ใช้งานเฟซบุ๊กได้แล้ว โดยเฟซบุ๊กและหัวเว่ยได้ทำข้อตกลงร่วมกันมาตั้งแต่ปี 2010 ซึ่งนอกจากหัวเว่ยแล้ว เฟซบุ๊กได้ทำข้อตกลงในลักษณะเดียวกันนี้กับแบรนด์เทคโนโลยีอีกหลายเจ้า ทั้งเลอโนโว ออปโป และ ทีซีแอล เช่นกัน
เฟซบุ๊กทำข้อตกลงในครั้งนี้ เพื่อให้ผู้ใช้สามารถใช้งานเฟซบุ๊กบนโมบายล์ดีไวซ์ได้ดีที่สุด โดยฟรานซิสโก วาเรลา (Francisco Varela) รองประธานฝ่ายบริการด้านพาร์ตเนอร์ชิปของเฟซบุ๊ก ออกมายืนยันว่า ข้อมูลต่างที่ได้จากการร่วมมือหัวเว่ยในครั้งนี้จะถูกเก็บไว้ในเครื่องของผู้ใช้งานเท่านั้น ไม่ได้เก็บเข้าไปไว้ในเซิร์ฟเวอร์ของหัวเว่ยแต่อย่างใด
นอกจากนี้ เฟซบุ๊กยังร่วมมือกับแบรนด์เทคโนโลยีอื่น ๆ ให้เข้าถึงข้อมูลผู้ใช้งานได้อีกกว่า 60 แบรนด์ รวมทั้งบริษัทยักษ์ใหญ่อย่างแอมะซอน ไมโครซอฟท์ ซัมซุง และแบล็กเบอร์รีอีกด้วย // ซึ่งการร่วมมือในครั้งนี้ถูกจับตามองจากรัฐบาลของสหรัฐฯ อย่างใกล้ชิด เนื่องจากเกรงว่าข้อมูลของผู้ใช้งานจะตกไปอยู่ในเซิร์ฟเวอร์ของยักษ์ใหญ่ในฝั่งจีนนั่นเอง
Live Listen ฟีเจอร์ใหม่ใน iOS12 ที่ช่วยเรื่องการได้ยิน
หลังจากที่แอปเปิลเปิดตัว ไอโอเอส 12 ไปในวันแรกของงานประชุมนักพัฒนาประจำปี WWDC 2018 ที่เมืองซานโฮเซ ในสหรัฐฯ เมื่อวันก่อน ล่าสุด เทคครันช์ เว็บไซต์ข่าวเทคโนโลยีต่างประเทศ รายงานว่า แอปเปิลได้เพิ่มฟีเจอร์ 'Live Listen' เข้ามาในไอโอเอส 12 โดยฟีเจอร์นี้จะช่วยให้ผู้ใช้งานสามารถได้ยินเสียงได้ชัดเจนมากขึ้น แม้อยู่ในที่ที่มีเสียงดัง
หลักการทำงานง่าย ๆ คือ ไอโฟน ไอแพด หรือไอพอดทัช ที่รันระบบปฏิบัติการไอโอเอส 12 นั้น จะทำหน้าที่รับเสียงผ่านไมโครโฟนในตัวเครื่อง จากนั้นจะสตรีมเสียงไปยังหูฟังไร้สายแอร์พ็อดได้แบบเรียลไทม์ ช่วยให้ผู้ใช้งานที่อยู่ในสถานที่ที่เสียงดัง เช่น โรงอาหาร ห้องประชุม หรือห้องเรียนใหญ่ ๆ แล้วต้องการโฟกัสที่เสียงเฉพาะบุคคล สามารถได้ยินเสียงที่ต้องการได้ชัดเจนยิ่งขึ้น แต่ฟีเจอร์นี้อาจจะไม่ได้ช่วยแก้ปัญหาสำหรับผู้ที่มีความบกพร่องทางการได้ยิน
ขณะนี้แอปเปิลปล่อย ไอโอเอส 12 ให้นักพัฒนาได้ทดลองใช้เท่านั้น คาดว่าจะเปิดให้ผู้ใช้งานทั่วไปได้อัปเดตกันภายในเดือนสิงหาคมนี้
นักวิจัยอังกฤษ สอนโดรนบินตรวจจับความรุนแรงในฝูงชน
ทีมนักวิจัยจากมหาวิทยาเคมบริดจ์ในอังกฤษ กำลังซุ่มพัฒนาโปรเจกต์ 'Eye in the Sky' ซึ่งเป็นการสอนให้โดรนตรวจจับพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสม และเสี่ยงที่จะเกิดความรุนแรงในฝูงชนได้จากภาพมุมสูง โดยโปรเจกต์ในครั้งนี้ใช้โดรนรุ่น Parrot AR 2.0 ซึ่งมีราคาไม่แพงมากนัก และมีการนำเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์เข้ามาช่วยระบุท่าทางของมนุษย์ที่สัมพันธ์กับความรุนแรงที่บันทึกไว้ในระบบ ไม่ว่าจะเป็นการบีบคอ การชกต่อย การเตะ การยิง รวมไปถึงการแทง
โดยปัจจุบัน ระบบสามารถตรวจจับได้เป็นรายคนเท่านั้น ซึ่งระบบสามารถตรวจจับการชกต่อยได้แม่นยำ 89 เปอร์เซ็น ส่วนการเตะอยู่ที่ 94 เปอร์เซ็น แต่โดยภาพรวมแล้ว หากทดสอบการตรวจจับในฝูงชนที่มีหลาย ๆ คน อาจจะยังไม่แม่นยำนัก เนื่องจากซึ่งการทดสอบในครั้งนี้ ยังไม่ได้ใช้โดรนขึ้นบินในสถานที่ที่เกิดเหตุร้ายจริง เป็นเพียงแค่การใช้อาสาสมัครมาทดสอบเท่านั้น ต้องติดตามกันต่อไปว่า เทคโนโลยีดังกล่าวจะถูกพัฒนาให้เสร็จสมบูรณ์ และพร้อมใช้งานจริงเมื่อไร