เฟซบุ๊กทุ่มงบศึกษาและทดลองให้ปัญญาประดิษฐ์อ่านความคิดมนุษย์ได้ โดยหวังว่าจะผลิตอุปกรณ์ช่วยให้คนพิมพ์ข้อความต่างๆ ได้ เพียงแค่คิดเท่านั้น แต่หลายฝ่ายยังกังวลประเด็นความเป็นส่วนตัวของผู้ใช้
เฟซบุ๊ก บริษัทยักษ์ใหญ่ด้านเทคโนโลยีของสหรัฐฯ เปิดเผยว่า ได้ทุ่มงบสำหรับการศึกษาและพัฒนาอัลกอริธึมแบบแมชชีนเลิร์นนิงที่จะแปลงกิจกรรมทางสมองให้เป็นคำพูด โดยเฟซบุ๊กหวังว่า เทคโนโลยีนี้จะเป็นการปูทางไปสู่การประดิษฐ์ “อุปกรณ์สวมใส่ที่ไม่คุกคามผู้ใช้” ในการแปลงคลื่นสมองเป็นคำพูด
วิจัยฉบับนี้ถูกตีพิมพ์ใน Nature Communications โดยการศึกษานี้เริ่มกับผู้ป่วยโรคลมชักที่ติดตั้งอุปกรณ์บันทึกคลื่นไฟฟ้าสมองเพื่อหาจุดกำเนิดอาการชักก่อนการผ่าตัด โดยนักวิทยาศาสตร์จากมหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย ซานฟรานซิสโกขอให้ผู้ป่วยตอบคำถามง่ายๆ แบบมีตัวเลือกให้ แล้วอัลกอริธึมจะศึกษาเพื่อประมวลผลว่า ผู้ป่วยถูกถามว่าอะไร ซึ่งสามารถระบุได้ถูกต้องถึงร้อยละ 75 และยังสามารถประมวลผลว่าผู้ป่วยตอบว่าอะไรได้ถูกต้องร้อยละ 61
ศาสตราจารย์เอ็ดดี ชาง กล่าวว่า ก่อนหน้านี้ การศึกษามุ่งเน้นไปที่การถอดรหัสคำพูดออกมาเท่านั้น แต่การศึกษานี้แสดงให้เห็นคุณค่าของการถอดรหัสบทสนทนา ทั้งคำถามที่ได้ยินและสิ่งที่ตอบ เป็นการตอกย้ำสมมติฐานว่า การพูดไม่ได้เกิดขึ้นจากความว่างเปล่า และการถอดรหัสสิ่งที่ผู้ป่วยที่มีความบกพร่องในการพูดต้องการจะสื่อสารจะทำได้ดีขึ้นด้วยการพิจารณาบริบททั้งหมดที่ผู้พูดต้องการจะสื่อสาร
ปัจจุบัน ผู้ป่วยที่มีความบกพร่องด้านการพูดเนื่องจากอัมพาตยังต้องสะกดคำออกมาช้าๆ ด้วยการเคลื่อนไหวลูกตาหรือการกระตุกกล้ามเนื้อเพื่อควบคุมเครื่องคอมพิวเตอร์ที่ประมวลผล แต่ในหลายกรณี ข้อมูลที่จำเป็นต่อการพูดอย่างคล่องแคล่วก็ยังคงอยู่ในสมอง เพียงแต่จะต้องมีเทคโนโลยีที่จะช่วยให้พวกเขาพูดออกมาได้สะดวกขึ้น
ด้านเดวิด โมเสส นักวิจัยกล่าวว่า จำเป็นต้องระลึกไว้ว่า การถอดรหัสบทสนทนานี้ใช้คำศัพท์อย่างจำกัดมาก แต่ในอนาคต พวกเขาหวังว่าจะเพิ่มความยืดหยุ่นและความแม่นยำมากขึ้น ขณะที่เฟซบุ๊กกล่าวว่า ขณะนี้การวิจัยยังอยู่ในขั้นต้นเท่านั้น แต่หวังว่าต่อไปจะสามารถพัฒนาอุปกรณ์แปลงคลื่นสมองเป็นคำพูด ซึ่งจะสามารถถอดรหัสได้แบบเรียลไทม์ ประมาณ 100 คำต่อนาที มีคลังคำศัพท์ 1,000 คำ และมีอัตราการแปลงคำผิดต่ำกว่าร้อยละ 17
ก่อนหน้านี้ บริษัทนูรัลลิงก์ของอีลอน มัสก์ได้ยื่นขออนุญาตจากทางการสหรัฐฯ ว่าจะเริ่มทดลองใช้สายสื่อประสาทเชื่อมต่อสมองมนุษย์เข้ากับคอมพิวเตอร์ หลังมีการทดสอบเทคโนโลยีนี้กับลิงมาแล้ว
สมองจะยังเป็นพื้นที่ปลอดภัย?
หลายฝ่ายเริ่มตั้งคำถามกับเทรนด์การพัฒนาเทคโนโลยีเชื่อมความคิดมนุษย์เข้ากับคอมพิวเตอร์ว่า ควรมีการพิจารณาเรื่องจรรยาบรรณในการทำวิจัยลักษณะนี้และความเป็นไปได้ที่อาจเกิดขึ้นในอนาคตจากเทคโนโลยีนี้ เพราะแม้เทคโนโลยีการอ่านความคิดอาจเป็นประโยชน์ แต่ก็อาจหมายความว่าเฟซบุ๊กจะสามารถรับรู้คลื่นสมองของเราได้ ซึ่งจะทำให้เฟซบุ๊กได้ข้อมูลจากเราไปอีกมาก
ศาสตรจารย์นิตา ฟาราฮานี นักจริยศาสตร์ด้านสมองจากมหาวิทยาลัยดยุกแสดงความเห็นว่า สมองเป็นพื้นที่ปลอดภัยสำหรับเสรีภาพทางความคิด จินตนาการ และการต่อต้าน “เราได้มาถึงด่านสุดท้ายของความเป็นส่วนตัวที่จะไม่ได้รับการปกป้องใดๆ อีกแล้ว”
เมื่อไม่นานมานี้ เฟซบุ๊กถูกตัดสินให้จ่ายค่าปรับ 5,000 ล้านดอลลาร์ในข้อหาหลอกลวงผู้ค้าเกี่ยวกับการนำข้อมูลส่วนตัวไปใช้แต่เฟซบุ๊กก็ยืนยันว่า จะรักษาความเป็นส่วนตัวอย่างจริงจัง ข้อมูลสมองทั้งหมดที่เก็บที่มหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย ซานฟรานซิสโกก็จะเก็บอยู่ที่มหาวิทยาลัย ไม่ได้อยู่กับเฟซบุ๊ก แต่พนักงานของเฟซบุ๊กยังสามารถไปที่ศึกษาข้อมูลเหล่านี้ได้ที่มหาวิทยาลัย
อย่างไรก็ตาม มาร์เซลโล เอียนคา นักวิจัยด้านสมองต่อประสานที่มหาวิทยาลัยอีทีเอชในซูริคของสวิตเซอร์แลนด์ กล่าวว่า นโยบายด้านความเป็นส่วนตัวของเฟซบุ๊กไม่เพียงพอ