“ใบตองแห้ง” แนะปล่อยวางพฤติกรรม “มงคลกิตติ์” อย่าไปสนใจ เชื่อเดี๋ยวก็ระบบแทงกั๊กหายไปเอง แต่ อ.วิโรจน์ อดเป็นห่วงไม่ได้ว่าทำให้ “ธุรกิจลิงกินกล้วย” ขยายตัว ที่เดือดร้อนสุด คือ “พี่ศรี” จ่อไปยื่นฟ้อง ป.ป.ช. จัดการวันพุธนี้ ด้าน “มงคลกิตติ์” ไม่หยุด ขุดระบบรัฐสภาอังกฤษมาอ้าง ว่าทำได้
นายศรีสุวรรณ จรรยา เลขาธิการสมาคมองค์การพิทักษ์รัฐธรรมนูญไทย เตรียมยื่น ป.ป.ช. ให้ตรวจสอบกรณีนายมงคลกิตติ์ สุขสินธารานนท์ หัวหน้าพรรคไทยศรีวิไลย์ แต่งตั้งตัวเอง เป็นผู้นำฝ่ายค้านอิสระ อาจขัดต่อ ม.106 ของรัฐธรรมนูญ 60 ที่บัญญัติชัดเจนว่า ภายหลังที่คณะรัฐมนตรี เข้าบริหารราชการแผ่นดิน พระมหากษัตริย์จะทรงแต่งตั้ง สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรผู้เป็นหัวหน้าพรรคการเมืองในสภาผู้แทนราษฎรที่มีจำนวนสมาชิกมากที่สุด เป็นผู้นำฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎร โดยมีประธานสภาฯเป็นผู้ลงนามรับสนองพระบรมราชโองการ
ดังนั้น การที่นายมงคลกิตติ์ ลงนามสถาปนาตัวเองเป็นผู้นำฝ่ายค้านอิสระ และสถาปนานายพิเชษฐ สถิรชวาล เป็นประธานที่ปรึกษาผู้นำฝ่ายค้านอิสระ จึงอาจขัดต่อรัฐธรรมนูญ และ พรป.พรรคการเมือง ซึ่งในระบอบประชาธิปไตยแบบรัฐสภาทั่วโลก มีแต่ผู้นำฝ่ายรัฐบาล กับผู้นำฝ่ายค้านเท่านั้น โดยนายศรีสุวรรณ จะไปยื่นคำร้องต่อ ป.ป.ช.วันพุธที่ 6 พ.ย.2560 เวลา 9.30 น.
ด้าน นายมงคลกิตติ์ โพสต์เฟซบุ๊ก ระบุว่า แนวทางฝ่ายค้านอิสระอย่างนี้ เคยมีในการเมืองอังกฤษ ซึ่งเรียกว่า Confidence and Supply ความหมายของแนวทางนี้ คือ
ข้อตกลงระหว่างพรรคการเมือง ที่มีความผูกพันน้อยกว่า การร่วมรัฐบาลผสม เป็นข้อตกลงระหว่างพรรคการเมืองหนึ่ง กับพรรคที่เป็นรัฐบาลเสียงข้างน้อย พรรคที่เดินนโยบาย C&S นี้ ไม่ส่งคนเข้าร่วมคณะรัฐมนตรี แต่พร้อมจะให้รัฐบาลเสียงข้างน้อยบริหารประเทศด้วยการพร้อมจะยกมือสนับสนุนญัตติสำคัญ โดยเฉพาะร่างกฎหมายงบประมาณและญัตติไม่ไว้วางใจ
แต่ขณะเดียวกัน พรรคฝ่ายค้านอิสระที่ว่านี้ ก็พร้อมจะค้านรัฐบาล ในเรื่องที่ตนเองไม่เห็นด้วย เมื่อเป็นเช่นนี้ก็ย่อมแปลว่า ความอยู่รอดทางการเมืองของรัฐบาลเสียงข้างน้อย ย่อมอยู่ในสภาวะสุ่มเสี่ยง จำเป็นต้องอาศัยเสียงสนับสนุนจากพรรคนอกรัฐบาลนี้ ข้อตกลงเช่นนี้ ย่อมเกิดในกรณีพิเศษเท่านั้น และก็คงเป็นพันธกรณีเฉพาะกิจระยะสั้น เพื่อประคองให้รัฐบาลเสียงข้างน้อยทำงานไประยะหนึ่งก่อน เพื่อรอให้มีการเจรจาให้พรรคอื่นๆ มาร่วมรัฐบาลอย่างเป็นกิจจะลักษณะ ให้มีเสียงรวมกันแล้วมากพอที่จะมีเสถียรภาพพอสมควร หรือไม่ก็รอให้มีการยุบสภาฯ เพื่อเลือกตั้งใหม่ ให้ประชาชนตัดสินอีกครั้งหนึ่ง เผื่อว่าพรรคใดพรรคหนึ่งจะได้รับความไว้วางใจเป็นเสียงส่วนใหญ่ในสภาฯ จะได้บริหารประเทศด้วยความมั่นคงกว่ารัฐบาลเสียงข้างน้อย
กรณีการเมืองไทยวันนี้ เรากำลังเห็นอาการของการตั้งรัฐบาลที่อาจจะเข้าข่ายเป็นรัฐบาลเสียงข้างน้อย เพราะไม่มีแกนนำไหนมีเสียงเกินครึ่งในสภาล่าง คือเกิน 250 เสียง เพื่อป้องกันความพยายามของฝ่ายค้านในอันที่จะคว่ำรัฐบาลได้ แม้จะเชื่อกันว่าพรรคพลังประชารัฐจะได้รับการสนับสนุนของสมาชิกวุฒิสภาที่มาจากการสรรหาและแต่งตั้ง 250 คน แต่หากตั้งรัฐบาลได้ก็เป็นเพียงรัฐบาลเสียงข้างน้อยในสภาฯ โอกาสที่จะถูกอภิปรายไม่ไว้วางใจหรือแพ้โหวตกฎหมายงบประมาณ (ซึ่งใช้เสียงเฉพาะในสภาล่าง) ก็มีสูง จึงตกอยู่ในสภาพที่เสี่ยงต่อการถูกคว่ำได้ตลอดเวลา นี่คือภาวะ Deadlock ที่การเมืองไทยหลังเลือกตั้งกำลังเผชิญอยู่
และเมื่อนักการเมืองรุ่นใหม่ของ ปชป.เสนอให้พรรคตนเองเป็นฝ่ายค้านอิสระ มีบทบาทคล้ายกับ C&S ของอังกฤษในบางจังหวะที่ผ่านมา จึงกลายเป็นประเด็นถกแถลงกันในพรรคและสังคมไทยทั่วไปอย่างคึกคัก เพราะนี่คือ “นวัตกรรมทางการเมือง” อันเกิดจาก “สถาปัตยกรรมการเมือง” ของผู้ร่างรัฐธรรมนูญและเขียนกติกาการเลือกตั้งครั้งนี้อย่างปฏิเสธไม่ได้