สิ้นสุดลงแล้ว สำหรับการประกวดมิสยูนิเวิร์ส 2018 ซึ่งไทยเป็นเจ้าภาพ โดยปีนี้ แคทรีโอนา เกรย์ สาวงามจากฟิลิปปินส์ คว้ามงกุฎและตำแหน่งมิสยูนิเวิร์ส คนที่ 67 ไปครอง ด้าน นิ้ง โศภิดา ทำเต็มที่ เข้ารอบ 10 คนสุดท้าย ซึ่งการแข่งขันปีนี้ความน่าสนใจหลายอย่างที่นอกเหนือไปจากการประชันความงามทั่วไป
การประกวดมิสยูนิเวิร์สครั้งที่ 67 ประจำปี 2018 คืออีกหนึ่งปีที่เรียกเสียงฮือฮาจากทั่วโลกได้อย่างมหาศาล ซึ่งประเทศไทยในฐานะเจ้าภาพของปีนี้ก็ได้รับเสียงชื่นชมอย่างมากจากแฟนนางงามทั่วโลกที่เฝ้าตั้งตารอการประกวดนี้มา 1 ปีเต็ม โดยมีรายงานว่าทางผู้จัดได้ทุ่มทุนกว่า 100 ล้านบาทเพื่อให้ทุกอย่างออกมาราบรื่นและสมเกียรติกองประกวดมากที่สุดตั้งแต่วันแรกจนวันสุดท้าย
เห็นได้จากการเนรมิตรเวทีสุดอลังการรูป Super X ซึ่งเป็นการเปลี่ยนรูปแบบเวทีแบบที่ไม่เคยมีมาก่อน ทำให้มีรันเวย์ยาวที่สุดเท่าที่เคยมีมา เปิดโอกาสให้ผู้ชมได้เห็นสาวงามแบบ 360 องศา พร้อมจอความคมชัดระดับ 4K ขนาดยักษ์ที่สูงเท่าตึก 4 ชั้น ทีมงานโปรดิวเซอร์ชุดเดียวกันกับที่เป็นผู้สร้างสรรค์งานประกาศรางวัลออสการ์ และการแสดงพักครึ่งการแข่งขันอเมริกันฟุตบอลซูเปอร์โบลว์ที่ได้บินมาร่วมงานกับสุดยอดทีมงานของไทย ส่งผลให้การถ่ายทอดทุกอย่างออกมาถูกใจแฟนนางงามทุกคน
ในปีนี้ แคทรีโอนา เกรย์ ผู้เข้าประกวดจากประเทศฟิลิปปินส์ วัย 24 ปี อดีต Top 5 มิสเวิลด์ 2016 คือผู้ชนะการประกวดมิสยูนิเวิร์ส 2018 โดยแทมาริน กรีน ผู้เข้าประกวดจากประเทศเซาต์แอฟริการับตำแหน่งรองชนะเลิศอันดับ 1 และเอสเตฟานิ กูติเอร์เรช ผู้เข้าประกวดจากประเทศเวเนซูเอลา รับตำแหน่งรองชนะเลิศอันดับ 2
การประกวดประกาศรายชื่อที่เข้ารอบจากสาวงามที่เข้าประกวดทั้งหมด 94 คน เป็นรอบ 20 คน, รอบ 10 คน, รอบ 5 คน, และ 3 คนสุดท้าย โดยในรอบ 5 คนสุดท้าย คำถามที่ทำให้แคทรีโอนาผ่านเข้าไปในรอบ 3 คนสุดท้ายคือ "แคนาดาเพิ่งจะประกาศให้กัญชาถูกกฎหมายตามอุรุกวัยเป็นประเทศที่สอง คุณมีความคิดเห็นอย่างไร" โดยเธอได้ตอบไปว่า "ฉันเห็นด้วยกับการใช้กัญชาทางการแพทย์ แต่ไม่ใช่สำหรับนันทนาการ และถ้ามีคนไม่เห็นด้วยฉันก็จะถามว่าแล้วการใช้แอลกอฮอล์หรือบุหรี่ล่ะ ทุกอย่างดีหมดนั่นแหละ แต่ต้องอยู่ในทางสายกลางไม่มากไปไม่น้อยไป"
ส่วนรอบ 3 คนสุดท้ายทุกคนต้องตอบคำถามเดียวกันคือ “บทเรียนที่สำคัญที่สุดที่ได้เรียนรู้ในชีวิตคืออะไรและนำมาปรับใช้กับการเป็นมิสยูนิเวิร์สได้อย่างไร”
แคทรีโอนาตอบว่า “ที่กรุงมะนิลา ประเทศฟิลิปปินส์ เต็มไปด้วยความยากจน ความเศร้า ฉันมักสอนตัวเองให้พยายามมองหาความสวยงาม ความงามที่อยู่ในสายตาของเด็ก ๆ แล้วจะนำมุมมองเหล่านี้มาใช้ในฐานะมิสยูนิเวิร์ส ในการมองหาสิ่งดี ๆ ที่จะสามารถช่วย หรือจะสามารถให้ได้ในฐานะกระบอกเสียง และก็อยากจะสอนให้คนรู้จักขอบคุณสิ่งที่เกิดขึ้น ซึ่งจะทำให้เรามีโลกที่สวยงาม ที่ทัศนคติในแง่ลบจะไม่สามารถมาบั่นทอนความสวยงามนี้ได้ และเด็กทุกคนก็จะได้มีรอยยิ้ม”
รางวัลชุดประจำชาติยอดเยี่ยมปีนี้ตกเป็นของ นางสาวอรอนงค์ หอมสมบัติ ผู้เข้าประกวดจากประเทศ สปป.ลาว ในชุด 'Stream of Generosity’ ที่ออกแบบโดย ‘คำภีร์ อลังการ’ ดีไซเนอร์คนไทย สร้างสรรค์ผลงานออกมาได้อย่างวิจิตรงดงามผ่านรูปแบบของนางกินรี 2 นาง ซึ่งอรอนงค์กว่าวว่ารู้สึกภูมิใจมากที่คว้ารางวัลนี้กลับบ้านได้
ขณะเดียวกัน บนเวทีการประกวดมีการเผยแพร่ภาพวิดีโอผู้เข้าประกวดจากป���ะเทศเสปน ‘อังเคลา ปอนเซ’ ผู้หญิงข้ามเพศคนแรกที่เข้าประกวดมิสยูนิเวิร์ส โดยเธอได้เดินออกมาทักทายแฟนนางงามเกือบ 2 นาทีเต็ม พร้อมถอดสายสะพายชื่อประเทศสเปนออกแล้วชูขึ้นตลอดช่องการเดินโชว์ตัว เรียกเสียงเชียร์กระหึ่มฮอลล์อย่างท่วมท้น โดยเนื้อหาตอนหนึ่งในคลิปวิดีโอที่เปิดบนเวทีการประกวดมีเนื้อหาว่า เธอไม่ต้องการเป็นผู้ชนะจากการประกวด แต่เธอต้องมายืนอยู่บนเวทีนี้ เพื่อแสดงถึงความเท่าเทียมกันของมนุษย์
นอกจากการเปิดกว้างด้านสิทธิเสรีภาพของความหลากหลายทางเพศแล้ว เวทีมิสยูนิเวิร์สปีนี้ยังสร้างปรากฏการณ์ครั้งสำคัญ ในการเลือกใช้คณะกรรมการที่เป็นผู้หญิงทั้งหมด และเป็นคณะกรรมการชุดเดิมตั้งแต่รอบคัดเลือกยันรอบตัดสิน ซึ่งหนึ่งในนั้นคือคุณปุ๋ย พรทิพย์ ไซมอน นาคหิรัญกนก มิสยูนิเวิร์สปี 1988 และในปีนี้กองประกวดยังเปลี่ยนชื่อเรียกคณะกรรมการจาก Judge มาเป็น Selection Committee เพื่อความหมายที่ดีขึ้นอีกด้วย
สำหรับดราม่าที่รุนแรงที่สุดในกองประกวดมิสยูนิเวิร์ส 2018 คงจะหนีไม่พ้นกระแสต่อต้านซารา โรส สาวงามจากสหรัฐฯ หลังจากที่เธอได้คอมเมนต์อย่างดุเดือดระหว่างไลฟ์สดกับสาวงามจากโคลอมเบียและออสเตรเลีย โดยระบุว่า “มิสยูนิเวิร์สจากเวียดนามเธอน่ารักดี แต่ชอบแสร้งทำเป็นใช้ภาษาอังกฤษได้ดี บางทีพอคุยกันจนจบไปแล้วเธอก็ได้แต่พยักหน้าแล้วก็ยิ้ม ส่วนมิสยูนิเวิร์สจากกัมพูชาปีนี้พูดอังกฤษไม่ได้เลย แล้วก็ไม่มีใครในนี้พูดภาษาเธอได้อีก” ส่งผลให้แฟนนางงามและสื่อจากทั่วโลกวิจารณ์เธออย่างหนักว่าเป็นการแสดงความเห็นที่ใช้คำพูดและท่าทางที่เหยียดอย่างมาก
หลังจากการประกวดจบสิ้นลง สิ่งหนึ่งที่ทั่วโลกพูดถึงไม่หยุดคือเรื่องชุดราตรีที่แคทรีโอนาสวมใส่ในรอบไฟนอล เป็นชุดสีแดงเพลิงระยิบระยับฝีมือของ Mak Tumang ดีไซเนอร์ชาวฟิลิปปินส์ ได้แรงบันดาลใจสำคัญมาจากภูเขาไฟมายอน โดยชุดนี้ส่งตัวนางงามให้สวยสะดุดตาอย่างมาก โดยเฉพาะเมื่อเธอยืนเทียบกับเหล่านางงามในรอบ 5 คนสุดท้าย ความร้อนแรงสีแดงเพลิงสะกดสายตาคนดูได้ดีเยี่ยม บวกกับอินเนอร์ความมั่นใจของแคทรีโอนา และท่าโพสที่ถูกออกแบบและซ้อมมาเป็นอย่างดี ทำให้เธอสวยสง่าในชุดนี้แบบไร้ที่ติ ซึ่งเธอเองให้สัมภาษณ์หลังการประกวดเรื่องสีแดงของชุดด้วย เธอบอกว่าตอนเธออายุ 13 แม่ของเธอฝันว่าเธอชนะเวทีมิสยูนิเวิร์สขณะสวมชุดสีแดง
ส่วนภูเขาไฟ ที่เป็นแรงบันดาลใจลูกนี้ตั้งอยู่บนเกาะลูซอน ทางตะวันออกเฉียงใต้ของฟิลิปปินส์ เคยระเบิดมาแล้ว 40 ครั้งในเวลา 400 ปีที่ผ่านมาและเป็นภูเขาไฟที่ยังไม่สงบ เปรียบเสมือนความร้อนแรงของแคทรีโอนาที่พร้อมจะปะทุขึ้นมาได้ทุกเมื่อ โดยงานปักของตัวชุดนั้นเน้นรายละเอียดการจัดวางโทนสีได้ดีมาก สังเกตดูชัด ๆ จะเป็นการถ่ายทอดความรู้สึกราวกับลาวาที่กำลังไหลลงมา กลืนเป็นเนื้อเดียว และส่องแสงระยิบระยับเมื่อต้องแสงไฟบนเวที
อีกหนึ่งไฮไลต์ของการประกวดหนีไม่พ้นช่อดอกไม้ ที่ถูกส่งมอบให้กับแคทริโอนา เกรย์เป็นฝีมือของคุณปิยวัฒน์ มีไพฑูรย์ จากร้าน FLOWDESIGN โดยได้แรงบันดาลใจมาจาก ‘พญานาค’ ตัวฐานรองช่อดอกไม้ ถอดแบบจำลองจากอิริยาบถของพญานาค โดยการเย็บแบบจากผ้าสีครีม รวมถึงประดับด้วยไข่มุกแท้ โดยการเดินเส้นลายกนกพญานาค ส่วนตัวช่อดอกไม้ ใช้ดอกกล้วยไม้ไทย ธีมสีสันสดใส จัดวางในรูปแบบสไตล์สากล ห้อยด้วยสายอุบะดอกรักสีขาว แทนการผูกริบบิ้นแบบธรรมดา
คุณปิยวัฒน์มองว่า ดอกไม้มีส่วนสำคัญไม่น้อยไปกว่ามงกุฏ สายสะพาย หรือถ้วยรางวัล ที่จะส่งเสริมบุคลิกนางงามให้สง่างามยิ่งขึ้น ช่อดอกไม้ช่อนี้จะทรงคุณค่า และเป็นหน้านึ่งประวัติศาสตร์นางงามจักรวาลในแผ่นดินสยาม ที่สวยสมบูรณ์และทรงคุณค่าทุกรายละเอียด เฉกเช่นเวทีมิสยูนิเวิร์ส