นายวัฒนา เมืองสุข โพสต์ข้อความผ่านแฟนเพจเฟซบุ๊ก Watana Muangsook โดยระบุถึง 3 สาเหตุที่นานาชาติเห็นว่าการดำเนินคดีกับนายกยิ่งลักษณ์มิได้เป็นไปตามปกติ แต่กลับเป็นคดีที่มีเงื่อนงำ ไว้ดังนี้
“ยิ่งลักษณ์/คดีการเมือง?”
คำว่า “การเมือง” ตามพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. 2554 ถ้าเป็นคำนามหมายถึง “งานที่เกี่ยวกับรัฐหรือแผ่นดิน” แต่หากเป็นคำวิเศษณ์หมายถึง “มีเงื่อนงำ หรือมีการกระทำอันมีเจตนาอื่นแอบแฝงอยู่” เช่น ป่วยการเมือง ดังนั้น “คดีการเมือง” คือ “คดีที่มีเงื่อนงำ หรือคดีที่มีการกระทำอันมีเจตนาอื่นแอบแฝงอยู่”
เหตุที่นานาชาติเห็นว่าการดำเนินคดีกับนายกยิ่งลักษณ์มิได้เป็นไปตามปกติ แต่กลับเป็นคดีที่มีเงื่อนงำ กล่าวคือ
(1) ก่อนยึดอำนาจมีการไปปิดล้อมสถาบันการเงินเพื่อไม่ให้รัฐบาลยิ่งลักษณ์กู้ยืมเงินมาจ่ายค่าข้าวให้ชาวนา ครั้นยึดอำนาจเสร็จฝ่ายเผด็จการก็กู้ยืมมาจ่ายทันทีและสั่งดำเนินคดีกับผู้เกี่ยวข้องทุกคน
(2) ในการไต่สวนชั้น ป.ป.ช. ที่นอกจากจะมีพิรุธแซงหน้าทุกคดีที่เกิดขึ้นก่อนอันมีลักษณะเป็นการเลือกปฏิบัติแล้วยังอยู่ในระหว่างการยึดอำนาจที่ฝ่ายพ่ายแพ้เป็นผู้ถูกกล่าวหา วิญญูชนย่อมคาดเดาได้ว่าเจ้าหน้าที่ของรัฐที่ถูกเรียกมาเป็นพยานจะต้องให้การแบบใด
(3) ในชั้นอัยการ หัวหน้าเผด็จการใช้อำนาจตามมาตรา 44 ปลดอัยการสูงสุดที่มีคำสั่งให้ตั้งคณะทำงานร่วมกับ ป.ป.ช. เพราะเห็นว่าคดีมีข้อไม่สมบูรณ์แล้วแต่งตั้งอัยการสูงสุดคนใหม่มารับผิดชอบ จากคดีที่เคยมีข้อไม่สมบูรณ์ก็กลายเป็นสมบูรณ์ทันการถอดถอนนายกยิ่งลักษณ์ออกจากตำแหน่ง สำนวนการไต่สวนของ ป.ป.ช. ที่มิได้เป็นไปตามหลัก “ศุภนิติกระบวน” หรือ Due Process of Law ดังกล่าวถูกกฎหมายบัญญัติให้ศาลต้องถือเป็นหลักในการดำเนินคดี
ทุกครั้งที่มีการยึดอำนาจฝ่ายเผด็จการจะต้องหาข้ออ้าง การยึดอำนาจครั้งนี้เผด็จการหยิบเอาโครงการรับจำนำข้าวโครงการเดียวขึ้นมาตรวจสอบและดำเนินคดี การดำเนินคดีกับนายกยิ่งลักษณ์จึงมาจากแรงจูงใจทางการเมือง (political motive) เพื่อสร้างความชอบธรรมให้กับการยึดอำนาจ ทำให้นานาชาติเห็นว่าการดำเนินคดีดังกล่าวมีเจตนาทางการเมืองแอบแฝงอันเป็นคดีการเมือง จึงปฏิเสธการส่งตัวให้ตามคำขอของรัฐบาลเผด็จการ