ฟิลิปส์เปิดตัวนวัตกรรมใหม่ 'ฟิลิปส์ ฮิว'
ความสำคัญของหลอดไฟเริ่มต้นจากความสามารถในการให้แสงสว่าง และเริ่มวิวัฒนาการด้วยการเพิ่มลูกเล่นต่างๆ เข้ามา อย่างเช่น การดิมไฟ หรือการเปลี่ยนสี แต่ในยุคดิจิทัลแบบนี้ เราสามารถเปลี่ยนหลอดไฟของเราให้ทำงานได้สารพัดอย่างขึ้น และเพิ่มความสวยงามของการตกแต่งบ้านได้ด้วย ซึ่งล่าสุดบริษัทฟิลิปส์ อิเล็กทรอนิกส์ (ประเทศไทย) จำกัด เปิดตัว หลอดไฟแอลอีดีฟิลิปส์ ฮิว แก็ดเจ็ตที่ตอบรับไลฟ์สไตล์ดิจิตอลของคนยุคใหม่ด้วยความสามารถในการปรับเปลี่ยนสีได้มากถึง 16 ล้านเฉดสี ควบคุมได้ง่าย ผ่านอินเตอร์เน็ตด้วยแอพพลิเคชันบนสมาร์ทโฟน ใช้ได้บนสมาร์ทโฟนทั้งระบบไอโอเอสและแอนดรอยด์
นอกจากเปลี่ยนเฉดสีแล้ว ก็ยังสามารถตั้งเวลาเปิดปิด ตั้งค่าพรีเซทเป็น "ซีน" ให้เข้าถึงค่าผสมสีที่เราใช้บ่อยๆ ได้รวดเร็ว และสั่งการให้เปิดปิดหลอดไฟด้วยคำสั่งเสียง ผ่านผู้ช่วยอัจฉริยะอย่าง Siri และเปิดโหมดดิสโก้ ให้ไฟเปลี่ยนสีได้เองตามจังหวะเสียงเพลง โดยในครั้งนี้ ฟิลิปส์ประเทศไทยได้เปิดตัวผลิตภัณฑ์หลัก 3 อย่างด้วยกัน คือPhilips Hue Bulb - หลอดไฟเปลี่ยนสีอัจฉริยะ สตาร์ทเตอร์คิทราคาอยู่ที่ 6,990 บาท Philips Hue LightStrip Plus - ไฟเส้นเปลี่ยนสีอัจฉริยะ ความยาว2 เมตร สามารถดัดเปลี่ยนรูปร่างให้โค้งงอตามพื้นผิวราคาขายอยู่ที่ 3190 บาท และ Philips Hue Go – โคมไฟเปลี่ยนสีอัจฉริยะไร้สาย พกพาไปได้ทุกที่ โดยแบตเตอรี่อยู่ได้นานถึง 3 ชั่วโมงติดต่อกัน ราคา 3490 บาท
Spotify เปิดให้ผู้ใช้งานแก้รายละเอียดของเพลงได้แล้ว
สปอติฟาย ผู้ให้บริการเพลงสตรีมมิง เป็นเจ้าแรกที่เปิดโอกาสให้ผู้ใช้งานสามารถแก้ไขรายละเอียดของเพลงได้ ทั้งการแนะนำประเภทเพลง แท็ก อารมณ์ของเพลง รวมไปถึงชื่อเล่นของอัลบั้ม และเพลงสำหรับศิลปินนั้น ๆ ซึ่งจะทำให้เพลงมีความชัดเจนและรายละเอียดมากขึ้น โดยสปอติฟายกล่าวว่าการให้ผู้ใช้งานเข้ามามีส่วนแก้ไขข้อมูลในครั้งนี้ มีโอกาสที่จะได้ข้อมูลที่ถูกต้องคอนข้างสูง เนื่องจากการมีการทำแบบสำรวจและแบบสอบถามจากคนที่มีความถนัดทางด้านดนตรีจำนวนมากและสามารถยืนยันความถูกต้องของข้อมูลเหล่านั้นได้ หรืออาจจะเป็นผู้ฟังที่ให้คำแนะนำที่คล้ายคลึงกัน และได้รับการแก้ไขจากหลายๆ คนที่มีความรู้ความเข้าใจและแยกแยะประเภทเพลงได้ จะช่วยทำให้ผู้ใช้งานสามารถค้นหาอัลบั้มเพลงหรือเพลย์ลิสต์ได้ตรงแนวเพลงและถูกกับรสนิยมมากขึ้น
คาดว่า Apple Watch อาจตรวจจับโพแทสเซียมในเลือดได้ในอนาคต
AliveCor ผลิตสายรัดนาฬิกาข้อมือ KardiaBand ที่มีเซนเซอร์ที่สามารถรองรับการทำงานร่วมกันกับแอปเปิลวอตช์ได้ ซึ่ง AliveCor อ้างว่าสายรัดข้อมือดังกล่าวมีความพิเศษคือสามารถตรวจจับและวัดค่าโพแทสเซียมในเลือดได้แม่นยำถึง 94 เปอร์เซ็น การที่มีระดับโพแทสเซียมสูงเกินไปนั้นมักจะทำให้ไปรบกวนเซลล์หัวใจ อาจทำให้หัวใจล้มเหลวเฉียบพลัน รวมถึงโรคไตเรื้อรังและโรคเบาหวาน การรักษาจึงจำเป็นต้องให้ยา ซึ่งอาจจะมีความเสี่ยงต่อการเสียชีวิตสูง เนื่องจากโรคดังกล่าวไม่มีการแสดงอาการให้เห็นล่วงหน้า โดย AliveCor อ้างว่าซึ่งสายรัดข้อมือนี้สามารถอ่านคลื่นไฟฟ้าหัวใจ หรือที่เรียกว่าค่า EKG ได้ โดยผู้ใช้งานสามารถแตะที่เซนเซอร์บนสายรัด จากนั้นระบบจะอ่านคลื่น EKG ซึ่งสามารถระบุอัตราการเต้นหัวใจที่ผิดปกติ และจะส่งข้อมูลไปยังแอปพลิเคชันโดยตรง
นอกจากนี้เทคโนโลยีดังกล่าวยังทำงานร่วมกับปัญญาประดิษฐ์ในการตรวจหาภาวะโพแทสเซียมสูงโดยไม่ต้องมีการเจาะเลือด ซึ่งทางองค์การอาหารและยาของสหรัฐฯยังไม่ออกมายืนยันว่า KardiaBand นั้นสามารถทำงานได้แม่นยำดังที่ AliveCor กล่าวไว้ และต้องได้รับการอนุมัติและรับรองที่ถูกต้องด้วยจึงจะสามารถผลิตได้ ฟีเจอร์การตรวจหาภาวะโพแทสเซียมสูงในเลือดจะมาเมื่อไหร่ หรือมาในแอปเปิลวอตช์รุ่นไหน เทรนดิงนาวจะนำมาอัปเดตให้คุณผู้ชมรู้ก่อนใคร