การพัฒนาทางเทคโนโลยีและการนำเทคโนโลยีมาอำนวยความสะดวกแก่ประชาชนเป็นสิ่งที่น่าจะเกิดประโยชน์กับคนในสังคมอย่างมาก แต่ปัญหาหนึ่งในเกาหลีใต้คือผู้สูงอายุตามไม่ทันเทคโนโลยี และ 'ยอมแพ้' กับสิ่งอำนวยความสะดวกในที่สาธารณะ ทำให้ต้องมาตั้งคำถามกันว่าการพัฒนาที่ไม่เอื้อต่อคนทุกกลุ่มนั้นคือการพัฒนาที่มีประสิทธิภาพหรือไม่
สำนักข่าว Korea JoongAng Daily ภาคภาษาอังกฤษของหนังสือพิมพ์ 'จุงอัง อิลโบ' ของเกาหลีใต้ รายงานบทความ Automated Korea is no country for old people หรือ 'เกาหลีในระบบอัตโนมัติไม่ใช่ประเทศของผู้สูงอายุ' โดยระบุว่า ผู้สูงอายุในประเทศกำลังตกยุค และตามไม่ทันการพัฒนาด้านเทคโนโลยี ทั้งระบบอัตโนมัติที่อำนวยความสะดวกในชีวิตประจำวัน และเทคโนโลยีโมบายล์ ที่ผู้คนใช้กันทั่วไป จนกลายเป็นว่ากลุ่มผู้สูงอายุเป็นพลเมืองแปลกหน้าที่ไม่คุ้นเคยกับประเทศที่ตนอาศัยอยู่อีกต่อไป และมีจำนวนมากที่ 'ยอมแพ้' ต่อการใช้ชีวิตนอกบ้าน
สำนักข่าวจุงอัง ยกตัวอย่างนายคิมซูกวัง วัย 72 ปี จากปูซาน ที่ใช้ชีวิตในกรุงโซลนาน 20 ปี และปัจจุบันกลับไปอยู่ที่เมืองบ้านเกิด เขาบอกว่าตนเองพยายามเดินทางขึ้นไปกรุงโซลเพื่อพบปะเพื่อนฝูง 1 ถึง 2 ครั้งต่อเดือน ซึ่งทำให้ต้องโดยสารรถไฟ และปัจจุบัน ผู้ให้บริการรถไฟ 'โคเรล' (Korail) ก็มีบริการซื้อตั๋วผ่านแอปพลิเคชันและเว็บไซต์ แต่ปัญหาคือ นายคิมไม่รู้วิธีการใช้แอปพลิเคชันบนสมาร์ตโฟน และลังเลที่จะขอความช่วยเหลือจากลูกชายวัย 45 ปี ทุก ๆ ครั้งที่ต้องซื้อตั๋ว สุดท้ายแล้วในวันก่อนเดินทาง เขามักใช้เวลา 1 ชั่วโมงเต็มเดินทางจากบ้านไปยังสถานีรถไฟ เพื่อจองตั๋วด้วยตัวเอง ซึ่งนายคิมได้กล่าวติดตลกว่า 'พอคุณแก่ตัวลงนะ ดีที่สุดคือไม่ต้องไปไหนแล้ว' ก่อนจะหัวเราะเบา ๆ กับผู้สื่อข่าว
ทั้งนี้ บทความนี้กล่าวว่านายคิมไม่ใช่คนเดียวที่ประสบปัญหานี้ เพราะบริการสาธารณะและขั้นตอนทางสังคมต่าง ๆ ในประเทศ ตั้งแต่ธนาคาร ไปจนถึงร้านอาหารฟาสต์ฟู้ด ล้วนแต่ปรับเป็นระบบดิจิทัลแทนการใช้คนแทบทั้งนั้น โดยสถิติของกระทรวงวิทยาศาสตร์และไอซีทีของเกาหลีใต้ระบุว่า ในปี 2017 มีประชากรอายุเกิน 55 ปี เพียง 58.3% หรือราวครึ่งหนึ่งจากทั้งหมดเท่านั้น ที่ใช้ระบบไอทีในระดับพื้นฐานเป็น และสิ่งที่คนรุ่นใหม่เห็นว่าสะดวกสบายนั้น เป็นเรื่องยากของคนสูงวัย และทำให้การใช้ชีวิตประจำวันของประชากรกลุ่มนี้ยิ่งยากขึ้นกว่าเดิม
อีกตัวอย่างหนึ่งของปัญหานี้ คือ คุณนายจาง ที่ไม่เปิดเผยชื่อเต็มกับนักข่าว โดยเธอระบุว่า เธอชอบเล่นเทนนิสเป็นชีวิตจิตใจ แต่มาเลิกเล่นในช่วงหลังนี้ เพราะความยุ่งยากในการจองคอร์ตใกล้บ้าน ซึ่งปัจจุบันนี้ คอร์ตเทนนิสและสนามกีฬาสาธารณะในกรุงโซล ล้วนแต่ให้บริการจองผ่านออนไลน์เท่านั้น และขั้นตอนทุกอย่างก็ยุ่งยากเกินไปสำหรับผู้สูงวัย รวมถึงคุณนายจางด้วย เธอบอกว่าตัวเธอทั้งอิจฉาและโกรธ ที่คนในช่วงวัย 40 และ 50 ปี ซึ่งเด็กกว่าเธอ ใช้คอร์ตเหมือนเป็นเจ้าของ ทั้งที่มันเป็นคอร์ตชุมชน แต่เธอกลับไม่ได้ใช้ และการที่จะอาศัยไหว้วานผู้อื่นให้ช่วยจองคอร์ตให้ก็น่าเบื่อหน่ายและวุ่นวายเกินไป เธอจึงยอมแพ้และเลิกเล่นไปในที่สุด
ปัจจุบัน สัดส่วนผู้สูงอายุที่อายุเกิน 65 ปี ในเกาหลีใต้ คิดเป็น 14.3% และคาดว่าจะเพิ่มเป็นราว 20% ภายในปี 2025 ศาสตราจารย์คิมคิอุง นักวิชาการด้านจิตวิทยาจากโรงพยาบาลบุนดัง มหาวิทยาลัยแห่งชาติโซล ระบุว่า เมื่อคุณยิ่งแก่ตัวลง ยิ่งเป็นการยากที่จะเรียนรู้อะไรใหม่ ๆ และแม้ผู้สูงอายุจะพยายามเรียนรู้และใช้อุปกรณ์แล้วก็ตาม แต่สินค้าเหล่านี้ก็ออกแบบและทำฟีเจอร์มาเพื่อรองรับกับคนหนุ่มสาวอยู่ดี ทั้งในเชิงของกายภาพและพฤติกรรมการสนองตอบต่าง ๆ
นายอี วัย 60 ปี เป็นอีกคนที่ประสบปัญหาในการใช้ชีวิต โดยเขาเป็นแฟนตัวยงของทีมเบสบอล ฮันฮวา อีเกลส์ ซึ่งเขาพยายามที่จะซื้อตั๋วรอบเพลย์ออฟให้ได้ สุดท้ายแล้ว เขาก็ต้องผิดหวัง เพราะตั๋วขายหมดภายในไม่กี่นาที โดยเขาเปิดเผยว่าตนเองใช้สมาร์ตโฟนและคอมพิวเตอร์ได้คล่องแคล่ว และไม่นึกว่าการซื้อตั๋วจะเป็นเรื่องยากขนาดนี้ จนแม้แต่คนหนุ่มสาวยังเจอปัญหา
ในวันแข่งขันจริง นายอีตื่นแต่เช้า เพื่อไปที่สนามก่อนเวลา และสอบถามกับพนักงานที่เคาน์เตอร์ พบว่าตั๋วทั้งหมดขายทางออนไลน์ และจะขายผ่านเคาน์เตอร์เมื่อมีเหลือจากออนไลน์เท่านั้น ในที่สุด นายอีซื้อตั๋วแบบขายต่อ หรือก็คือ 'ตั๋วผี' แม้จะมีราคาสูงกว่าปกติถึง 3 เท่า โดยเขาบอกอย่างละอายใจว่ามันเป็นเรื่องที่ผิด แต่เขาอยากดูเกมของทีมโปรดจริง ๆ
ไปที่ตัวอย่างจากร้านอาหารบ้าง อีฮยอนซุก วัย 63 ปี จากจังหวัดคยองกี บอกว่าเธอเลิกไปคาเฟ่โปรดแถวบ้านแล้ว หลังจากที่ทางร้านเปลี่ยนเคาน์เตอร์เป็นแบบอิเล็กทรอนิกส์ ซึ่งพอเธอลองสั่ง ปรากฏว่าหน้าจอดีดกลับไปที่หน้าตั้งต้นตลอด เพราะเธอใช้เวลานานเกินไป จนคนที่อยู่ในแถวด้านหลังเธอกดดันอย่างหนัก เธอจึงเลิกล้มความตั้งใจที่จะสั่ง
ศาสตราจารย์กวักกึมจู จากมหาวิทยาลัยแห่งชาติโซล ให้ความเห็นว่า ผู้สูงวัยในเกาหลีใต้เข้าถึงเทคโนโลยีได้น้อยอย่างน่าประหลาดใจ โดยแม้แต่คนที่ระบุว่าตัวเองใช้ไอทีเป็น ก็จะใช้เพียงแค่อ่านข่าวออนไลน์หรือแชตในแอปฯ ส่งข้อความเท่านั้น แต่ในด้านการใช้งานบริการต่าง ๆ เช่น การโอนเงินผ่านออนไลน์แบงกิง หรือจองตั๋วผ่านเว็บไซต์นั้น แทบเป็นไปไม่ได้เลย
ศาสตราจารย์กวักกล่าวว่า ความรู้สึกแปลกแยกเช่นนี้จะนำไปสู่ความรู้สึก 'ถูกทิ้ง' และกลายเป็นช่องว่างระหว่างรุ่น (เจนเนอเรชัน) ไปได้ ขณะที่ ศาสตราจารย์ฮวางยงซอก จากมหาวิทยาลัยคอนกุก ก็ให้ความเห็นในทิศทางเดียวกัน โดยชี้ว่า ผู้สูงวัย โดยเฉพาะกลุ่มที่อยู่คนเดียว หรืออยู่กับผู้สูงวัยด้วยกัน จะเข้าถึงดิจิทัลได้น้อย นำไปสู่คุณภาพชีวิตที่ต่ำกว่าที่ควรจะเป็น
สำหรับทางแก้ปัญหานั้น ศาสตราจารย์ซอกแจอึน จากแผนกสวัสดิการสังคมศึกษา มหาวิทยาลัยฮัลลิม กล่าวว่าหน่วยงานต่าง ๆ สามารถกันโควตาไว้รองรับประชากรสูงวัยได้ ควบคู่ไปกับการให้ความรู้ที่จำเป็นกับคนกลุ่มนี้