20 เม.ย. 61 สมาคมแห่งสถาบันพัฒนาการเมืองและการเลือกตั้ง ซึ่งก่อตั้งโดยนักศึกษาหลักสูตรการพัฒนาการเมืองและการเลือกตั้งระดับสูง(พตส.) ของ กกต. จัดสัมมนาวิชาการเรื่อง "พัฒนาการเมืองไทยภายใต้รัฐธรรมนูญ '60" ณ ห้องวายุภักษ์ 4 ชั้น 4 โรงแรมเซ็นทรา บายเซ็นทารา ศูนย์ราชการและคอนเวนชันเซ็นเตอร์ เขตหลักสี่ กรุงเทพฯ
นายนิกร จำนง ประธานอนุกรรมการวิชาการและกิจกรรมพิเศษ สมาคมแห่งสถาบันพัฒนาการเมืองและการเลือกตั้ง กล่าวว่า รัฐธรรมนูญฉบับนี้มีปัญหาว่านโยบายจะเกิดจากยุทธศาสตร์ชาติตามบทเฉพาะกาล จากเดิมนโยบายมาจากความต้องการของประชาชนแล้วพรรคการเมืองไปปฏิบัติตาม หากประชาชนพอใจก็จะเลือกพรรคกลับเข้ามาอีก แต่ประเทศไทยมีการยึดอำนาจระหว่างทาง การเมืองจึงไม่พัฒนา ขณะนี้พรรคการเมืองจะทำนโยบายอะไรต้องรายงานกกต.ก่อน เหมือนถูกคุมอีกที ฉะนั้น รัฐธรรมนูญฉบับนี้มีผลต่อการพัฒนาการเมือง ทำให้ประชาชนเห็นว่าการเลือกตั้งไม่เกี่ยวกับประชาชนเพราะพรรคการเมืองที่เลือกตั้งเข้าไปก็ทำอะไรไม่ได้
นายเอนก เหล่าธรรมทัศน์ ประธานคณะกรรมการปฏิรูปประเทศด้านการเมือง กล่าวว่า ประเทศไทยไม่เหมือนชาติอื่นเพราะหลายประเทศขาดประเพณีดั้งเดิมตั้งแต่ฝรั่งเข้ามาปกครอง ขณะที่ประเทศไทยไม่เคยขาดความสัมพันธ์เชิงดิ่งในระบบอุปถัมป์ เมื่อรับประชาธิปไตยมาตั้งแต่ปี 2475 จึงไม่ยอมเป็นประชาธิปไตยง่ายๆ เราต้องเข้าใจว่าเราอยู่ในสังคมแบบไหน
แม้โดยทางการเราเป็นประเทศที่มีรัฐธรรมนูญ แต่ก็มีการยึดอำนาจ ดังนั้น ถ้าไม่เอากรอบฝรั่งมามอง เราก็เป็นประเทศทวิลักษณ์ คือใช้ 2 ระบบสลับกัน เหมือนแก๊สกับน้ำมันรถ บางครั้งก็ใช้น้ำมัน คือ การเลือกตั้งแบบประชาธิปไตยมีรัฐธรรมนูญ แต่บางครั้งก็เปลี่ยนไปใช้แก๊ส มีการประกาศคำสั่งของรัฏฐาธิปัตย์ ยกเลิกรัฐธรรมนูญ ฉีกรัฐธรรมนูญ เขียนรัฐธรรมนูญ ตั้งรัฐบาลใหม่ รอการเลือกตั้งครั้งใหม่ ฟังดูเหมือนจะแตกแยกระหกระเหิน แต่ความจริงแล้วมีความต่อเนื่อง ไม่ได้คิดแบบตะวันตก
คนไทยไม่ยอมรับความสุดขั้ว เช่น เราเป็นพุทธแต่เราก็มีการนับถือผีและไม่ได้รังเกียจศาสนาอื่น ฉะนั้น โดยไม่รู้ตัวเราก็มีผสมผสานเพื่อให้มีความชอบธรรม ขณะที่ขาดประชาธิปไตยไม่ได้ แต่โดยสัญชาตญาณการเมืองเป็นระบบไฮบริดจ์ ใช้ระบบสลับกันระหว่างประชาธิปไตยกับทหาร คนไทยไม่ได้มีความผูกพันภักดีกับประชาธิปไตยมากนัก แต่คนไทยก็ไม่ได้ยอมทหารมากนัก มีความพิเศษจริงๆ ปรับเข้ากันได้โดยเครื่องไม่สะดุด
นายชาติชาย ณ เชียงใหม่ กรรมการร่างรัฐธรรมนูญ กล่าวว่า ประเทศไทยใน 80 ปีนี้ ไม่ว่าคนจนหรือเศรษฐีก็อยู่ในกรอบคิดเรื่องการพึ่งรัฐ ส่วนพรรคการเมืองก็ยังไม่มีความเป็นสถาบันการเมือง ที่สำคัญคือพียงแต่เก่งในเรื่องแข่งขันการเลือกตั้ง แต่พอไปบริหารบ้านเมือง ไม่สามารถเปลี่ยนให้ประชาธิปไตยมีประสิทธิภาพแก้ปัญหาได้จริงจังอย่างต่อเนื่อง ไม่สามารถควบคุมสั่งการราชการได้ เมืองไทยจึงเป็นอำนาจนิยมแฝง ในแบบ ฟอร์มเป็นประชาธิปไตยแต่ในใจเป็นอำนาจนิยม
สำหรับนัยยะสำคัญของรัฐธรรมนูญ 60 ต่อการปฏิรูป คือมองว่า สถานการณ์ตอนนี้พื้นที่ประชาชนเริ่มเปิดกว้างด้วยโลกโซเชียลมีเดียมีผลต่อความคิด ขณะเดียวกันพื้นที่ของรัฐราชการก็ขยายตัวตั้งแต่มี คสช.มา เกิดกฎหมายใหม่ๆ ออกมาเยอะมาก ตามด้วยบทบาทภาครัฐ
ขณะเดียวกันนักการเมืองยังคิดแบบเดิมๆ ยึดติดการเลือกตั้งแบบเดิมปรับตัวช้า ไม่มีการบริหารประเทศอย่างมีประสิทธิภาพจากพรรคไหน ส่วนสถาบันราชการฟื้นตัวขึ้นแต่ระบบการทำงานกลับอ่อนล้า หลายคนมีผลประโยชน์เฉพาะตัว เป็นอุปสรรคใหญ่การเมืองในอนาคต สังคมไทยน่าจะคุยกันให้ชัดว่าจะเดินไปในระบบไหน บางพรรคเสนอสังคมนิยม บางพรรคเสนอประชานิยม หรือจะเป็นเศรษฐกิจเสรีแต่สังคมนิยมนิดๆ ประชานิยมหน่อยๆ เราต้องคุยกันให้ชัดว่าจะไปทางไหน