กระแสพรรคหน้าใหม่คนรุ่นใหม่และการเมืองใหม่มาแรง แล้วพรรคประชาธิปัตย์กับคนหน้าเก่าอย่าง 'อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ' จะชูจุดยืนอะไร แม้จะบอกไม่เอานายกฯคนนอกก็ยังจะดู 'หล่อไม่พอ'
นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวถึงจุดยืนของพรรคประชาธิปัตย์ หลังจากที่มีข่าวว่า กปปส. แยกออกไปตั้งพรรคการเมืองใหม่ ว่า ''สิ่งสำคัญที่สุดคือการแข่งขันกับตัวเอง แต่ตนมีความเชื่อมั่นในอุดมการณ์พื้นฐานของพรรคประชาธิปัตย์ และมีความเชื่อมั่นในประสบการณ์ที่ได้เคยทำงานให้กับบ้านเมืองทั้งในฐานะฝ่ายรัฐบาลและฝ่ายค้าน''
นายอภิสิทธิ์ ระบุอีกว่า ''ได้เตรียมการกันมาระยะหนึ่ง ต่อความเปลี่ยนแปลงในเชิงของการพัฒนา หรือการปฏิรูป ว่าจะทำอย่างไรให้พรรคประชาธิปัตย์สร้างความเชื่อมั่นให้กับประชาชนได้ว่า เราเป็นที่พึ่งเป็นนักการเมืองที่ตอบสนองความต้องการของประชาชน และรักษาระบบได้ รวมไปถึงความสามารถในการแก้ปัญหาพื้นฐานของประชาชน เรื่องเศรษฐกิจ ปากท้อง รวมทั้งการวางแนวทาง โครงสร้างให้ประเทศ มีความเจริญก้าวหน้าไปได้ เพราะโลกเปลี่ยนแปลงเร็ว''
นายอภิสิทธิ์ กล่าวอีกว่า ''ถ้าหากว่าเราไม่มีกรอบความคิดใหม่ๆ ในเชิงนโยบายสาธารณะ เราก็จะตอบโจทย์ของประชาชนกับสังคมไม่ได้ ซึ่งสิ่งนี้เป็นภาระที่ใหญ่''
สำหรับกรณีนายสุเทพ เทือกสุบรรณ จะตั้งพรรคการเมือง ความสัมพันธ์ของพรรคประชาธิปัตย์กับพรรคสุเทพจะเป็นอย่างไร? นายอภิสิทธิ์ กล่าวว่า ''ตนยังไม่ทราบว่าจะมีการตั้งพรรคโดยใคร หรือไม่ อย่างไร แต่ถ้าบอกว่าจะเป็นพรรคการเมืองโดยมีวัตถุประสงค์หลักเพื่อสนับสนุน พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นนายกรัฐมนตรีนั้นคงเป็นจุดต่าง เพราะว่าพรรคประชาธิปัตย์เป็นพรรคการเมืองที่มีอุดมการณ์ นโยบาย บุคลากรของตนเองที่เสนอเป็นทางเลือกให้กับประชาชนอยู่แล้ว''
''หากเกิดแนวทางพรรคการเมืองใหม่นี้ แล้วเห็นว่าแนวทางของพรรคประชาธิปัตย์ตรงกับความคิดเขา เขาคงไม่จำเป็นจะต้องออกไปตั้งพรรค แต่การออกไปตั้งพรรคต้องมีจุดต่างในบางเรื่อง เช่นกรณีที่ผูกพันว่าจะให้ พล.อ.ประยุทธ์ เป็นนายกรัฐมนตรีต่อไป เป็นจุดหลักของการทำงานการเมือง อันนี้คงไม่ใช่พรรคประชาธิปัตย์'' นายอภิสิทธิ์ระบุ
และสำหรับการที่มีพรรคการเมืองที่ไม่เอา พล.อ.ประยุทธ์ อย่าง นายปิยบุตร แสงกนกกุล และ นายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ นายอภิสิทธิ์ กล่าวว่า ''ทุกคนก็เป็นทางเลือกเพิ่มขึ้นมา ถือเป็นเรื่องที่ดี ที่มีทางเลือก ส่วนทางเลือกนั้นจะตรงหรือไม่ตรงใจกับประชาชนแต่ละคนอย่างไร ก็เป็นสิทธิ์ของประชาชนที่จะเลือก แล้วก็ต้องศึกษาข้อมูลเกี่ยวกับพรรคการเมืองต่างๆ ก่อนที่จะตัดสินใจ''
อย่างไรก็ตาม นายอภิสิทธิ์คิดว่ายังค่อนข้างเร็วที่จะไปพูดถึงพรรคการเมืองต่างๆ เพราะพรรคใหม่ทั้งหลายที่กำลังจะอยู่ในขั้นตอนของการไปจองชื่อ ยังต้องผ่านอีกหลายอย่าง
ทั้งนี้ นายอภิสิทธิ์ยังกล่าวถึงกรณีที่ปฏิเสธว่าไม่ได้สั่งการให้เช็คชื่อสมาชิกพรรค โดยระบุว่า ''พวกตนไม่ใช่นักเรียนที่ต้องเข้าแถวเช็คชื่อ เรื่องนี้ไม่มี แต่ในกฎหมายกำหนดว่าวันที่ 1 -30 เม.ย. สมาชิกที่ประสงค์จะเป็นสมาชิกพรรคประชาธิปัตย์ต่อไปถูกคำสั่งคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ว่า ให้ต้องมายืนยันอยู่แล้ว เพราะฉะนั้นภายในสิ้นเดือนเม.ย. ก็ต้องรู้อยู่แล้วว่ามีใครมายืนยันสมาชิกบ้าง คนที่ทำงานในพรรคฯ ในส่วนของรองหัวหน้าพรรคฯ ที่ดูแลพื้นที่ต่างๆ ก็คงอยากจะทราบว่า เป็นอย่างไรบ้าง ก็อาจจะมีการสอบถามกันไป เพราะเป็นหน้าที่เตรียมการเลือกตั้งต่อไป แต่เท่าที่ตนทราบ ยกเว้นกรณีของนายธานี เทือกสุบรรณ อดีตส.ส.สุราษฎร์ธานี ซึ่งบังเอิญพ้นจากสมาชิกพรรคแล้วตอนที่ไปบวช แต่คนอื่นที่เป็นอดีต ส.ส. หรือผู้ดำรงตำแหน่งต่างๆ ก็ยังไม่มีใครที่ได้มาแสดงเจตจำนงในการที่จะลาออกจากพรรคประชาธิปัตย์''