การไฟฟ้านครหลวง นำเสาไฟฟ้าที่ไม่ใช้งานแล้ว ไปสร้างแนวคันกันคลื่น ซึ่งนอกจากจะช่วยลดการกัดเซาะชายฝั่งทะเลแล้ว ยังเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมอีกด้วย
เสาไฟฟ้าที่ถูกรื้อถนนและไม่ได้ใช้งานแล้ว ที่มีอายุการใช้งาน 30 ปี มีโครงสร้างลวดเหล็กภายใน ที่รองรับแรงดัดได้ถึง 4.5 ตันเมตร งอโค้งได้ 7-8 เซนติเมตร และรับแรงปะทะของคลื่นทะเลได้เป็นอย่างดี ถูกนำมาปักเป็นกลุ่ม เพื่อเป็นแนวกันคลื่นบริเวณทะเลเขตบางขุนเทียน
ภารกิจนี้ เป็นความร่วมมือระหว่าง การไฟฟ้านครหลวง หรือ กฟน. กับกรุงเทพมหานคร ที่เดินหน้าโครงการสร้างแนวป้องกันการกัดเซาะชายฝั่งทะเลกรุงเทพฯ ระยะทาง 4.7 กิโลเมตร
แนวกั้นเหล่านี้ ถือเป็นด่านแรกในการลดความแรงของคลื่นให้มีขนาดเล็กลง ก่อนผ่านไปสู่แนวเสาไม้ไผ่ที่อยู่ใกล้ฝั่งต่อไป ทั้ง 2 แนวกันคลื่นนี้ เป็นหัวใจสำคัญของการชะลอปัญหาคลื่นกัดเซาะชายฝั่งได้เป็นอย่างดี
ไม่เพียงแต่บริเวณนี้เท่านั้น ตั้งแต่ปี 2548 ชายฝั่งบริเวณป้อมพระจุลจอมเกล้า จ.สมุทรปราการ กฟน.ร่วมมือกับกองทัพเรือ นำเสาไฟฟ้าที่ชำรุด มาสวมยางรถยนต์เก่า ทำแนวป้องกันระยะทางกว่า 1,100 เมตร ซึ่งได้ผลเป็นอย่างดี
และถือเป็นความสำเร็จไปอีกขั้น เพราะนอกจากจะลดความแรงของกระแสน้ำแล้ว ยังพบปริมาณตะกอนสะสมหลังเขื่อนเพิ่มขึ้น ทำให้เกิดต้นกล้าและลูกไม้หนาแน่นขึ้น ถือเป็นการช่วยฟื้นฟูธรรมชาติ เป็นที่อาศัยของสัตว์น้ำและนกหลายชนิด
หลังจากนี้ กฟน. จะเดินหน้าโครงการต่อ ด้วยการส่งมอบเสาไฟฟ้าที่รื้อถอนจากถนนพหลโยธิน พญาไท และสุขุมวิท 1,344 ต้น ไปติดตั้งตามแนวชายฝั่งในลักษณะกลุ่มทรงสามเหลี่ยมแบบเฉียง ขนาด 1.5*1.5 เมตร ตลอดระยะทาง 4,700 เมตร หรือเท่ากับขอบเขตชายฝั่งกรุงเทพมหานคร
และภายใน 5 ปี นับจากนี้ ยังมีเป้าหมายส่งมอบเสาไฟฟ้าไปใช้ป้องกันคลื่นกัดเซาะชายฝั่งทะเลบางขุนเทียน อีก 10,000 ต้น และใช้บริเวณป้อมพระจุลจอมเกล้า อีก 5,000 ต้น ต่อไป