ไม่พบผลการค้นหา
มองโลก มองไทย - เมืองกับพื้นที่สีเขียว - FULL EP.
Nov 17, 2019 05:30

รายการ มองโลกมองไทย ประจำวันที่ 17 พฤศจิกายน 2562

สิงคโปร์เมืองที่มีพื้นที่สีเขียวมากที่สุดในโลก

พื้นที่สีเขียว เป็นเรื่องที่ทั่วโลกให้ความสำคัญ โดยเฉพาะเมื่อหลายประเทศกำลังเผชิญปัญหาสิ่งแวดล้อมที่รุนแรงมากขึ้นเรื่อยๆ เช่น ปัญหามลพิษทางอากาศ พื้นที่สีเขียวก็ยิ่งมีความสำคัญ เพราะเป็นสิ่งที่จะบรรเทาปัญหาสิ่งแวดล้อมได้ ทำให้เมืองใหญ่หลายเมืองเร่งเพิ่มพื้นที่สีเขียวให้มากขึ้น

MIT's Senseable Lab และ World Economic Forum (WEF) ร่วมมือกันสร้าง Treepedia แผนที่แสดงความหนาแน่นของพื้นที่สีเขียวในเมืองใหญ่ต่างๆทั่วโลก จากผลการประเมินเมืองที่มีต้นไม้มากที่สุดในโลก

         อันดับที่ 1 สิงคโปร์ มีพื้นที่สีเขียวมากถึง 29.3% ของพื้นที่เมืองทั้งหมด

         อันดับที่ 2 เมืองแวนคูเวอร์ ประเทศแคนาดา มีพื้นที่สีเขียว 25.9%

         อันดับที่ 3 เมืองแซคราแมนโต รัฐแคลิฟอร์เนีย 23.6%

         อันดับที่ 4 เมืองแฟรงก์เฟิร์ต เยอรมนี 21.5%

         อันดับที่ 5 กรุงเจนีวา สวิสเซอร์แลนด์ 21.4%

         อันดับที่ 6 เมืองอัมสเตอร์ดัม, เนเธอร์แลนด์ 20.6%

         อันดับที่ 7 เมืองซีแอตเทิล รัฐวอชิงตัน 20%

         อันดับที่ 8 เมืองโทรอนโท แคนาดา 19.5%

         อันดับที่ 9 ไมอามี่ รัฐฟลอริดา 19.4%

อันดับที่ 10 เมืองบอสตัน รัฐแมสซาชูเซตส์ 18.2%

         อันดับที่ 11เมืองเทลอาวีฟ อิสราเอล 17.5%

        และอันดับที่ 12 นครลอสแอนเจลิส รัฐแคลิฟอร์เนีย 15.2%

         http://senseable.mit.edu/treepedia

น่าสนใจว่าประเทศที่มีพื้นที่เล็กๆอย่างสิงคโปร์ กลับมีอัตราส่วนพื้นที่สีเขียวมากที่สุดในโลก คือ 66 ตารางเมตรต่อประชากร 1 คน(ประมาณทาวเฮาส์ 1 หลัง 16.5 ตารางวา) และค่าเฉลี่ยพื้นที่สีเขียวต่อคนของประเทศในเอเชียอยู่ที่ 39 ตารางเมตรต่อคน

แล้วพื้นที่สีเขียวในเขตเมืองของประเทศไทยเป็นอย่างไร

กรุงเทพมหานครมีขนาดพื้นที่ใหญ่กว่าสิงคโปร์ประมาณ 2.5 เท่า คือมีเนื้อที่ประมาณ 1,570 ล้านตารางเมตร แต่ข้อมูลจาก สำนักสิ่งแวดล้อม กรุงเทพมหานคร ระบุว่า มีพื้นที่สีเขียวทั้งหมด 38 ล้านตารางเมตร หรือคิดเป็นสัดส่วนประมาณ 2.4% เท่านั้น!

ขณะที่ องค์การอนามัยโลก(WHO) กำหนดว่า เมืองที่มีสิ่งแวดล้อมที่ดีควรมีพื้นที่สีเขียวอย่างน้อย 9 ตารางเมตรต่อคน โดยกทม. หากนับเฉพาะประชากรตามทะเบียนบ้าน(5.68 ล้านคน) จะมีพื้นที่สีเขียวอยู่ที่ 6.7 ตารางเมตรต่อคน แต่หากรวมประชากรแฝงที่มีทะเบียนบ้านอยู่ต่างจังหวัดแต่มาอาศัยในกทม.ด้วย(ประมาณ 10-11 ล้านคน) จะมีพื้นที่สีเขียวอยู่ที่ 3.5-3.8 ตารางเมตรต่อคนเท่านั้น

เมื่อไปดูข้อมูลพื้นที่สีเขียว ของสำนักงานนโยบายและแผนสิ่งแวดล้อม กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมพบว่า จังหวัดที่มีพื้นที่สีเขียวในเขตเมืองมากที่สุด 5 อันดับแรกได้แก่

         1.ระนอง 612.7 ตารางเมตรต่อคน

         2.บึงกาฬ 394.5 ตารางเมตรต่อคน

         3.นครพนม 278.5 ตารางเมตรต่อคน

         4.นครสวรรค์ 258.7 ตารางเมตรต่อคน

         5.กาญจนบุรี 256.4 ตารางเมตรต่อคน

         ส่วนจังหวัดที่มีพื้นที่สีเขียวในเขตเมืองน้อยที่สุด ไม่นับกทม.ได้แก่

         อันดับ 1 นนทบุรี 3.9 ตารางเมตรต่อคน

         อันดับ 2 สมุทรสาคร 5.3  ตารางเมตรต่อคน

         อันดับ 3 สมุทรปราการ 10.37 ตารางเมตรต่อคน

         อันดับ 4 ลำพูน 11.36 ตารางเมตรต่อคน

         อันดับ 5 แพร่ 12.92 ตารางเมตรต่อคน

ข้อมูลจากองค์การสหประชาชาติ (UN) ระบุว่า 54% ของประชากรทั่วโลกอาศัยในเมืองใหญ่ โดยจะมีประชากรเคลื่อนย้ายเข้ามาอยู่ในเมืองเพิ่มขึ้นเป็น 66% ในปี 2593 หรือคิดเป็น 2 ใน 3 ของประชากรทั่วโลก โดยทวีปเอเชียและแอฟริกาจะมีการไหลเข้าของประชากรสู่เมืองในอัตราสูง ซึ่งสถานการณ์ในไทยก็เป็นไปในทิศทางเดียวกับสถานการณ์โลก

ความสำคัญของพื้นที่สีเขียวในเขตเมือง

พื้นที่สีเขียวในเมือง เป็นหนึ่งในดัชนีชี้วัดความอยู่ดีมีสุข (well-being) ของคนเมือง เมืองที่ดีควรมีพื้นที่สีเขียวที่มีคุณภาพ ในปริมาณที่เหมาะสม และสามารถเข้าถึงได้โดยสะดวก ยิ่งเมืองหนาแน่นเท่าไหร่ พื้นที่สีเขียวในเมืองยิ่งมีค่ามากขึ้น ต่อสุขภาวะของคนเมือง คุณค่าในที่นี้หมายรวมคุณค่าที่มีต่อร่างกายและจิตใจผู้ที่ได้สัมผัสโดยตรง รวมถึงคุณค่าที่มีต่อสิ่งแวดล้อมของเมืองด้วย

แต่พื้นที่สีเขียวในเมืองนั้นเป็นของหายาก เพราะพื้นที่สีเขียวไม่ก่อให้เกิดมูลค่าทางเศรษฐกิจโดยตรง เมื่อที่ดินในเมืองมีราคาสูงมาก ทำเลใจกลางกรุงเทพฯ ราคาสูงถึง 2-3 ล้านบาทต่อตารางวา หรือ 800-1,200 ล้านบาทต่อไร่ ที่ดินจึงถูกพัฒนาเชิงพาณิชย์เป็นหลัก ความเป็นไปได้ในการเพิ่มพื้นที่สีเขียวในเมืองจึงมีจำกัด แม้จะมีความพยายามในการผลักดันเรื่องนี้อยู่จากหลายภาคส่วน ทั้งรัฐและเอกชน แต่ก็เป็นไปในลักษณะที่ต่างคนต่างทำ ยังขาดการวางแผนร่วมกัน

สถานการณ์ฝุ่น PM 2.5 ทำให้เกิดความตื่นตัวมากขึ้นในการที่จะเพิ่มพื้นที่สีเขียวในกรุงเทพฯ จากข้อมูลของกรุงเทพมหานคร ปัจจุบันมีพื้นที่สีเขียว 7,967 แห่ง ส่วนใหญ่อยู่ในแถบชานเมือง การกระจายตัวของสวนสาธารณะหลัก ไม่ได้เอื้อให้ผู้คนสามารถเข้าถึงได้อย่างเท่าเทียมกัน ดังที่เห็นได้จากแผนที่แสดงระยะทางเข้าถึงสวนหลักในระยะ 1,000 เมตร พบว่าผู้ที่อาศัยในกลุ่มเขตกรุงเทพกลางและกรุงเทพใต้ เช่น ในเขตพระนคร เขตปทุมวัน และเขตประเวศ สามารถเข้าถึงสวนสาธารณะได้ดีกว่าบริเวณอื่น

สวนสาธารณะหลัก มี 37 แห่ง ใน 20 เขต จากทั้งหมด 50 เขต โดยเขตประเวศและพระนคร มีสวนมากที่สุด คือ 4 แห่ง /รองลงมาคือ เขตจตุจักร มี 3 แห่ง

จากข้อมูลสรุปสถานการณ์พื้นที่สีเขียวของ กทม. ในปี 2561 โดยสำนักสิ่งแวดล้อม ระบุว่า ปัญหาและอุปสรรคในการเพิ่มพื้นที่สีเขียว คือที่ดินที่จะใช้ในการพัฒนาพื้นที่สีเขียวยังคงเป็นรูปแบบการขอใช้ หรือเช่าจากส่วนราชการต่างๆ เช่น การรถไฟแห่งประเทศไทย, ราชพัสดุ, การทางพิเศษแห่งประเทศไทย เป็นต้น

ส่วนการดำเนินการโดยวิธีการจัดซื้อที่ดินเป็นของ กทม. มีจำนวนน้อย เนื่องจากราคาที่ดินมีราคาแพง ทำให้การพัฒนาพื้นที่สีเขียวขาดความชัดเจน ไม่ครอบคลุมการให้บริการ พื้นที่ที่ดำเนินการอาจอยู่ในพื้นที่ที่ไม่เหมาะสม และพื้นที่สีเขียวที่มีการลงทุนพัฒนาไปแล้ว อาจเกิดการสูญหายได้หากมีการเปลี่ยนแปลงทางนโยบายหรือถูกยกเลิกการให้ใช้พื้นที่จากส่วนราชการอื่นๆ ในอนาคต

สำหรับสิงคโปร์ “สีเขียว” คือสัญลักษณ์ของการพัฒนา

ทำไมสิงคโปร์ซึ่งถูกมองว่าเป็นเมืองแห่งทุนนิยม จึงเต็มไปด้วยต้นไม้ สิงคโปร์มีขนาดเล็กกว่ากรุงเทพฯ 2.5 เท่า แต่กลับมีสวนสาธารณะถึง 350 แห่ง มากกว่ากรุงเทพฯเกือบ 10 เท่า

เมืองสีเขียวของสิงคโปร์ ไม่ได้เกิดขึ้นชั่วข้ามคืน แต่มีการวางแผนเป็นนโยบายผังเมืองมายาวนานกว่า 50 ปี ลี กวน ยู อดีตผู้นำของสิงคโปร์ ประกาศนโยบาย Garden City เมื่อปี ค.ศ.1967 เพื่อเปลี่ยนสิงคโปร์ให้เป็นเมืองที่เต็มไปด้วยพื้นที่สีเขียวและมีสภาพแวดล้อมที่สะอาด ซึ่งนอกจากจะเพิ่มคุณภาพชีวิตที่ดีให้กับประชาชนแล้ว เขายังมองไกลว่าสิ่งนี้จะส่งผลต่อภาพลักษณ์ของสิงคโปร์ ให้กลายเป็นเมืองจุดหมายปลายทางสำหรับนักท่องเที่ยวและนักลงทุน

“ผมเชื่อเสมอว่า เมืองที่เต็มไปด้วยป่าคอนกรีต จะทำลายจิตวิญญาณความเป็นมนุษย์ สิ่งที่เราต้องการคือธรรมชาติที่เต็มไปด้วยพื้นที่สีเขียว เพื่อยกระดับจิตวิญญาณของเรา” ลี กวน ยู, 1995

ในช่วงเริ่มต้น สิงคโปร์ดำเนินนโยบาย Garden City ในรูปแบบโครงการปลูกต้นไม้แบบเร่งรัด ให้เรียงรายเต็มสองข้างของถนน เช่นเดียวกับประเทศที่เจริญแล้วหลายๆ แห่ง ที่ลี กวน ยู เคยพบระหว่างการเดินทางไปต่างประเทศ

ปี 1971 สิงคโปร์เดินหน้าต่อด้วยการประกาศให้มีวันปลูกต้นไม้แห่งชาติ

ปี 1972 มีการออกพระราชบัญญัติสวนสาธารณะและต้นไม้ เพื่อให้เกิดความร่วมมืออย่างเป็นรูปธรรมทั้งจากภาคอุตสาหกรรม หน่วยงานเอกชน และประชาชน ในการจัดสรรพื้นที่สำหรับต้นไม้ในทุกโปรเจค เช่น การก่อสร้างที่อยู่อาศัย สร้างถนน หรือแม้กระทั่งสร้างลานจอดรถ

ปี1975 ก่อตั้งหน่วยงานด้านสวนสาธารณะและสันทนาการหรือ Parks and Recreation Department เพื่อกำกับดูแลพื้นที่สีเขียวอย่างเป็นระบบ การปลูกต้นไม้ของสิงคโปร์ไม่ได้ทำอย่างสะเปะสะปะ แต่ต้องให้ ‘คน’ และ ‘ต้นไม้’ ได้อยู่อาศัยร่วมกันอย่างกลมกลืน คนต้องได้ใช้ประโยชน์จากการมีพื้นที่สีเขียวอย่างเต็มศักยภาพ

ตั้งแต่ปี 1996 เป็นต้นมา Parks and Recreation Department จึงพัฒนาพื้นที่สีเขียวควบคู่กับการคิดแคมเปญต่างๆ อย่างต่อเนื่อง เพื่อให้ City Garden ได้ฝังเข้าไปในจิตสำนึกของประชาชน เช่น Clean and Green Week, Community in Bloom หรือโครงการความร่วมมือในชุมชนเพื่อพัฒนาพื้นที่สีเขียวในแบบของตัวเอง

ผลจากการดำเนินนโยบายอย่างจริงจังและต่อเนื่อง ส่งผลให้จำนวนต้นไม้และสภาพเมืองในสิงคโปร์เปลี่ยนไปอย่างมาก

ต้นไม้จาก 158,600 ต้น เพิ่มขึ้นเป็น 1.4 ล้านต้น

พื้นที่สีเขียวจาก 879 ไร่ เปลี่ยนเป็น 9,707 ไร่ 

และสวนสาธารณะจาก 13 แห่ง เพิ่มเป็น 350 แห่ง

ปัจจุบัน สิงคโปร์ต่อยอดวิสัยทัศน์ garden city ของลี กวน ยู ด้วยการประกาศนโยบาย City in a Garden ซึ่งอยู่ในแผนแม่บทพัฒนาเมือง ปี 2014 – 2030 และจากแผนแม่บทการลงทุนของสิงคโปร์ ในปี 2030 (The Singapore Property Master Plan 2030) ภายใต้แนวคิด More Land, More homes, More Greenery สิงคโปร์ยังคงเดินหน้าเพิ่มพื้นที่สีเขียวให้มากขึ้นต่อไป

สิงคโปร์เป็นประเทศเล็กๆ ที่ไม่ได้มีทรัพยากรเหลือเฟือ รายได้หลักมาจากนักท่องเที่ยวและนักลงทุน ฉะนั้นหากมองนโยบายนี้อย่างพิจารณา สิงคโปร์ไม่ได้แค่ปลูกต้นไม้ หรือสร้างสวนให้ประชาชน แต่เขาสร้างบรรยากาศที่เอื้อต่อการเพิ่มศักยภาพและมูลค่าทางเศรษฐกิจให้กับตนเอง

1.รัฐบาลและคนสิงคโปร์ เชื่อว่า ‘พื้นที่สีเขียว’ มีความหมายเดียวกับ ‘การพัฒนา’

การเปลี่ยนแปลงที่สำคัญที่สุดเริ่มต้นมาจากแนวคิด แนวคิด ‘เมืองในสวน’ คือสิ่งที่ ลี กวน ยู ตั้งเป็นเป้าหมาย เขาระดมผู้เชี่ยวชาญหลายฝ่าย ตั้งแต่สถาปนิก วิศวกร รุกขกร มาช่วยกันออกแบบเมือง วางแผนอย่างเป็นระบบว่าจะปลูกต้นอะไร ตรงไหน เพื่อใช้พื้นที่อย่างมีประสิทธิภาพสูงสุด หลังจากนั้นการปลูกต้นไม้ครั้งใหญ่ก็กลายเป็นวาระแห่งชาติ

มาถึงวันนี้คงไม่มีใครกังขาแล้วว่าสิงคโปร์คือเมืองที่ทั้งเศรษฐกิจและสิ่งแวดล้อมดีเป็นอันดับต้นๆ ของโลก พวกเขาได้พิสูจน์ให้เห็นชัดแล้วว่า การพัฒนากับการรักษาต้นไม้ใหญ่ คือสิ่งที่ดำเนินไปด้วยกันได้

2 ไม่สามารถโค่นต้นไม้ใหญ่ได้ตามอำเภอใจ

การปลูกต้นไม้อย่างเดียวคงไม่มีประโยชน์ หากไม่สามารถดูแลต้นไม้เหล่านั้นให้คงอยู่ได้ ดังนั้น สิ่งสำคัญที่ตามมาคือ การออกนโยบายเพื่อรักษาต้นไม้ และการบังคับใช้กฎหมายที่เข้มงวด

หนึ่งในนโยบายที่เป็นหัวใจของการรักษาต้นไม้ใหญ่ในสิงคโปร์ คือการไม่อนุญาตให้ใครก็ตาม โค่นต้นไม้ตามอำเภอใจ ต้นไม้ทุกต้นที่มีเส้นผ่านศูนย์กลางตั้งแต่ 30 เซนติเมตรขึ้นไปถือเป็นต้นไม้อนุรักษ์ ไม่สามารถตัดได้ แม้จะเป็นต้นไม้ที่ปลูกอยู่ในพื้นที่ส่วนตัวก็ตาม หากจำเป็นต้องตัด ต้องทำเรื่องขออนุญาตและผ่านการประเมินจากรุกขกรก่อน หากไม่มีเหตุผลอันสมควรก็ตัดไม่ได้

3 หากจำเป็นต้องตัดต้นไม้ ต้องปลูกทดแทนเสมอ

ในการพัฒนาเมือง หลายครั้งสิ่งปลูกสร้างก็ไปเบียดบังพื้นที่สีเขียวอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ แต่ที่สิงคโปร์ พวกเขาไม่จำเป็นต้องเลือกระหว่างการอนุรักษ์กับการพัฒนา พวกเขาเลือกทั้งสองสิ่ง โดยมีกฎว่าหากจำเป็นต้องตัดต้นไม้ ผู้ตัดต้องรับผิดชอบด้วยการปลูกทดแทนเสมอ และหลายครั้งก็ไม่ใช่การปลูกทดแทนด้วยอัตราส่วนหนึ่งต่อหนึ่ง แต่ต้องปลูกในอัตราส่วนที่มากกว่า จะมากแค่ไหนก็ขึ้นกับการประเมินเป็นกรณีไป ตรงนี้ถือเป็นขั้นตอนที่เข้มงวดมาก หากเจ้าของโครงการไม่สามารถหาพื้นที่ปลูกทดแทนได้ แผนการพัฒนานั้นก็ต้องพับเก็บ

4 ทุกสิ่งปลูกสร้างต้องมีพื้นที่สีเขียวขั้นต่ำ

หากคุณเป็นสถาปนิกที่สิงคโปร์ ทุกครั้งที่ออกแบบอาคาร คุณต้องหาพื้นที่สำหรับพื้นที่สีเขียวเสมอ เพราะสิ่งปลูกสร้างทุกแห่งมีข้อกำหนดเรื่องพื้นที่สีเขียวขั้นต่ำที่ต้องมี หรือที่เรียกว่า Green Buffer สิ่งปลูกสร้างแต่ละประเภทก็จะมีข้อกำหนดแตกต่างกันไป เช่น ถนนต้องมีพื้นที่สีเขียวที่เป็นต้นไม้ใหญ่สองข้างรวมกันไม่ต่ำกว่า 2 เมตร

5 แก้ปัญหาข้อจำกัดของพื้นที่ด้วยการออกแบบ

สิงคโปร์ก็ไม่ต่างจากกรุงเทพฯ คือมีพื้นที่จำกัด หลายครั้งนักออกแบบต้องเผชิญปัญหาว่า อยากปลูกต้นไม้ แต่ไม่รู้จะไปหาที่ปลูกตรงไหน ปัญหานี้แก้ได้ด้วยการวางแผนและการออกแบบที่ดี สถาปนิกและรุกขกรจะทำงานร่วมกันตั้งแต่ขั้นตอนการออกแบบอาคาร เช่น หากในพื้นที่มีต้นไม้อยู่แล้ว จะออกแบบอาคารให้หลบหลีกต้นไม้ หรือการสร้างสวนบนดาดฟ้า (Roof Garden) พื้นที่สีเขียวแนวตั้ง (Vertical Greenery) ไปจนถึงพื้นที่สีเขียวในอาคาร (Indoor Greenery) ซึ่งเห็นได้ทั่วไปในสิงคโปร์

6 สายไฟทั้งหมดอยู่ใต้ดิน

ในขณะที่ต้นไม้ริมถนนในประเทศไทย มักถูกบั่นยอดเพราะไปชนสายไฟ แต่ที่สิงคโปร์ไม่ต้องกังวลกับปัญหานี้ เพราะสายไฟหรือสายเคเบิลทุกชนิด ถูกนำลงใต้ดินทั้งหมด นี่คือตัวเลือกที่ดีที่สุดสำหรับการแก้ปัญหาต้นไม้ในเมืองกับสายไฟ จริงอยู่ที่การนำสายไฟลงดินใช้งบประมาณสูง แต่การเก็บสายไฟไว้บนดินก็ใช้งบประมาณดูแลสูงไม่ต่างกัน ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของการซ่อมแซมหรือการดูแลตัดแต่งต้นไม้

อย่างไรก็ตาม การนำสายไฟลงดินต้องมีการวางแผนและออกแบบที่ดี เพราะหากไม่ระวังก็อาจทำให้รากต้นไม้ริมถนนฉีกขาด วิธีแก้ของสิงคโปร์คือ สายไฟทั้งหมดจะถูกฝังอยู่กลางถนนในส่วนรถวิ่ง เพื่อกันพื้นที่บริเวณสองฝั่งถนนให้รากต้นไม้

7 เด็ดใบไม้หนึ่งใบสะเทือนถึงเงินในกระเป๋า

หากคุณเป็นนักท่องเที่ยวที่เดินเล่นอยู่ในสิงคโปร์ การเผลอเด็ดใบไม้หรือดอกไม้แม้เพียงหนึ่งใบ ก็อาจถูกปรับเป็นเงินสูงถึง 2,000 ดอลลาร์ฯ หากต้นไม้นั้นเป็นต้นไม้สาธารณะ หรือแม้แต่ผลไม้หรือดอกไม้ที่หล่นอยู่ตามพื้นก็ห้ามเก็บ หากอนุญาตให้คนหนึ่งเด็ดดอกไม้ใบไม้ได้ตามใจ คนอื่นๆ ก็อาจทำบ้าง แล้วสภาพของต้นไม้ต้นนั้นก็จะเปลี่ยนไป เช่น ดอกไม้อาจถูกเด็ดจนหมด ไม่เหลือดอกไม้สำหรับแมลงหรือนกที่จะมากินน้ำหวาน

นอกจากนั้น ยังมีประเด็นของการชื่นชมความงาม ที่ทุกคนควรมีสิทธิ์ได้เห็นความงดงามของต้นไม้นั้นโดยเท่าเทียมกัน ไม่ใช่ใครคนหนึ่งมีสิทธิ์ไปทำให้ความงามนั้นเปลี่ยนไป

8 จำลองป่ามาไว้ข้างถนน

การปลูกต้นไม้ที่สิงคโปร์เป็นมากกว่าแค่การขุดหลุมแล้วเอากล้าไม้ลงดิน กระบวนการทั้งหมดเริ่มตั้งแต่ก่อนลงมือปลูก มีรายละเอียดให้คำนึงถึงมากมาย ตั้งแต่การเลือกชนิดต้นไม้ โดยดูความเหมาะสมของต้นไม้แต่ละชนิดกับพื้นที่ เช่น การชอนไชของราก ความเหมาะสมของดิน สภาพอากาศ ไปจนถึงความยากง่ายในการดูแลรักษา

นอกจากนั้น ความหลากหลายทางสายพันธุ์ก็เป็นอีกหนึ่งปัจจัยสำคัญที่พวกเขาให้คุณค่า หากไปดูต้นไม้ริมถนนของสิงคโปร์ เราจะไม่ค่อยเห็นต้นไม้สายพันธุ์เดียวตลอดถนนทั้งเส้น แต่เราจะเห็นการออกแบบที่เลียนแบบพืชพรรณในป่า คือเต็มไปด้วยต้นไม้หลายสายพันธุ์ หลากรูปทรง ตั้งแต่ไม้พุ่ม ไม้ดอก ไม้ยืนต้น ไปจนถึงพืชเกาะตามกิ่งก้านของต้นไม้ใหญ่ เช่น เฟิร์น กล้วยไม้ มองตามพื้นดินก็อาจเจอเห็ด มองที่ลำต้นก็อาจเจอไลเคน

หากเราปลูกพืชชนิดเดียว เวลาที่มีโรคหรือแมลงระบาดก็เสี่ยงต่อการสูญเสียทั้งหมด ในทางตรงข้าม หากเราปลูกพืชพรรณที่หลากหลาย นอกจากจะยั่งยืนกว่าแล้ว ยังเป็นที่อยู่อาศัยให้สัตว์ต่างๆ มากมายหลายชนิดได้พึ่งพามากกว่า

การดูแลต้นไม้ของเรา สิ่งที่ได้ไม่ใช่แค่เพียงต้นไม้ แต่ยังรวมไปถึงสิ่งมีชีวิตอื่นๆ ที่พึ่งพาต้นไม้นั้นด้วย ยิ่งพื้นที่สีเขียวของเรามีความหลากหลายเท่าไหร่ สายพันธุ์สัตว์ต่างๆ เช่น นก แมลง ที่พื้นที่นั้นค้ำจุนก็ยิ่งมากเท่านั้น ซึ่งก็จะเชื่อมมาถึงความเป็นอยู่ที่ดีของมนุษย์ พูดง่ายๆ ก็คือ ยิ่งมีความหลากหลายมากขึ้นเท่าไหร่ ผู้คนก็ยิ่งมีความสุขเพิ่มขึ้นเท่านั้น เพราะเวลาคนได้เห็นนก เห็นสัตว์ต่างๆ พวกเขาก็จะมีความสุข

จากสิบกว่าปีที่แล้วที่ตัวเลขสายพันธุ์พืชริมถนน ของสิงคโปร์อยู่ที่ไม่เกิน 100 ชนิด มาวันนี้ความหลากหลายมีมากถึง 750 ชนิด

9 มีฐานข้อมูลต้นไม้ทุกต้น

ภารกิจการสร้างเมืองสีเขียวไม่ได้จบแค่การปลูกต้นไม้ เพราะต้นไม้ก็เหมือนกับคน คือเจ็บป่วยได้ ทำให้หลังจากปลูกต้องมีการดูแลอย่างต่อเนื่อง ซึ่งความพิเศษของสิงคโปร์คือ ต้นไม้ในเมืองทุกต้นมีประวัติบันทึกในฐานข้อมูลทั้งหมด ไม่ต่างจากแฟ้มข้อมูลคนไข้ในโรงพยาบาล เช่น ต้นนี้คือต้นอะไร อยู่ที่ไหน อายุเท่าไหร่ มีประวัติการดูแลและรักษาอย่างไร ทำให้เจ้าหน้าที่สามารถรู้ได้ว่าต้นไม้ต้นใดต้องการการดูแลเป็นพิเศษ และทุกต้นจะได้รับการตรวจเช็กสุขภาพสม่ำเสมอ ต้นไหนที่มีความเสี่ยงมากหน่อย ก็อาจต้องต้องมีทีมไปตรวจเช็กอย่างน้อย 2 ครั้งต่อปี

การตรวจเช็กก็ต้องทำอย่างละเอียด เริ่มตั้งแต่ใต้ดิน ซึ่งต้องดูว่าสภาพดินเหมาะสมหรือไม่ การระบายน้ำของดินดีเพียงใด ดินมีแร่ธาตุเพียงพอไหม ส่วนเหนือผิวดิน รุกขกรก็จะประเมินเรื่องโรคและแมลงโดยดูจากสภาพลำต้น รวมทั้งมีการประยุกต์ใช้เครื่องมือไฮเทคมากมาย เช่น เครื่องสแกนเพื่อดูความหนาแน่นของเนื้อไม้ ซึ่งจะบอกถึงสุขภาพของต้นไม้ต้นนั้น เป็นต้น และสุดท้ายคือการตัดแต่งกิ่งอย่างเหมาะสม เพื่อป้องกันปัญหากิ่งหัก

เมื่อต้นไม้ได้รับการดูแลอย่างดี ต้นไม้ก็จะมีความปลอดภัย ปัญหาระหว่างคนกับต้นไม้ก็จะไม่เกิดขึ้น

10 สร้างกองทัพรุกขกร

ย้อนกลับไปในวันที่สิงคโปร์เริ่มวางแผน City in a Garden ใหม่ๆ นอกจากระดมปลูกต้นไม้ครั้งใหญ่แล้ว พวกเขายังเริ่มต้นโปรแกรมฝึกอบรมเพื่อสร้างรุกขกรอย่างจริงจังด้วย แต่ถึงแม้ว่าจะมีต้นไม้ที่ต้องการการดูแลมาก ก็ไม่ใช่ว่าใครจะไปตัดแต่งต้นไม้ตามใจก็ได้ เพราะคนที่จะทำหน้าที่นี้จำเป็นต้องมีใบรับรอง ซึ่งจะได้จากการผ่านหลักสูตรอบรมตามที่กำหนดไว้ ทำให้มั่นใจได้ว่าต้นไม้ทุกต้นในประเทศสิงคโปร์จะได้รับการตัดแต่งอย่างถูกหลักการเสมอ

11 ทำให้คนภูมิใจกับเมือง

เมื่อการออกแบบเมือง เกิดขึ้นโดยคำนึงถึงผู้อยู่อาศัยเป็นหลัก ผลที่เกิดขึ้นก็คือผู้คนมีคุณภาพชีวิตที่ดี และมีความภาคภูมิใจกับเมือง

คนสิงคโปร์ภูมิใจกับเรื่องนี้มาก เขารู้ว่าต้นไม้ให้ประโยชน์ต่อเขายังไง แม้แต่คนขับแท็กซี่ก็เข้าใจ เพราะเขาจะเจอนักท่องเที่ยวที่บอกว่า เขาชอบเมืองสิงคโปร์เพราะต้นไม้ เขากลับมาที่นี่อีกเพราะต้นไม้ พื้นที่สีเขียวไม่ได้ช่วยแค่เรื่องสังคมหรือความเป็นอยู่เท่านั้น แต่ยังช่วยเรื่องเศรษฐกิจด้วย พวกเขารู้ว่าถ้าไม่มีต้นไม้ สิงคโปร์ก็จะไม่ใช่สิงคโปร์อย่างทุกวันนี้




Voice TV
กองบรรณาธิการ วอยซ์ทีวี
185Article
76559Video
0Blog