นักวิชาการด้านการศึกษา ระบุ ยุทธศาสตร์การศึกษาชาติ ต้องมาจากการมีส่วนร่วม ไม่ใช่ทำงานแค่ภายในกระทรวง
ผู้ช่วยศาสตราจารย์อรรถพล อนันตวรสกุล อาจารย์ประจำคณะครุศาสตร์จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และผู้อำนวยการศูนย์ประสานงานเครือข่ายการศึกษาเพื่อสร้างพลเมืองประชาธิปไตย ประเมิน ยุทธศาสตร์ชาติ ด้านการพัฒนาและส่งเสริมทรัพยากรมนุษย์ ซึ่งเป็นหนึ่งในกลไกสำคัญ ของการปฏิรูปการศึกษา การยกระดับการศึกษา โดยเฉพาะแผนปฏิรูป โดยย้ำว่า ต้องไม่มุ่งการรวมศูนย์อำนาจผ่านแค่ระดับกระทรวงเท่านั้น
แผนยุทธศาสตร์ชาติ จะต้องสร้างรูปแบบ การมีส่วนร่วมจากทุกภาคส่วน ตั้งแต่ระดับชุมชน เพื่อฟังเสียงของเยาวชนและบุคคลที่เกี่ยวข้องในทุกระดับ
นักวิชาการด้านการศึกษา ยังระบุด้วยว่าการพัฒนาการศึกษาต้องสร้างความเข้มแข็งจากนอกห้องเรียน ไม่ใช่มุ่งเน้นเพียงการศึกษาตามหลักสูตรเหมือนที่ผ่านมา
ขณะเดียวกัน ผู้มีอำนาจ ต้องลดความเหลื่อมล้ำผ่านการมีส่วนร่วม โดยย้ำด้วยว่ากลไก หรือภาคีเครือข่าย ที่คณะทำงานด้านการปฏิรูปการศึกษาสร้างขึ้นพร้อมกองทุนลดความเหลื่อมล้ำนั้น ต้องทำงานร่วมกับชุมชน มุ่งพัฒนาการศึกษาไปพร้อมกับการพัฒนาอาชีพ ที่ตรงตามความสามารถ แทนการทำงานร่วมกับบุคลากรทางการศึกษาหรือโรงเรียนเพียงอย่างเดียว
ยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี เป็นการกำหนดกรอบและแนวทางการพัฒนาให้หน่วยงานของรัฐทุกภาคส่วนต้องปฏิบัติตาม เพื่อให้บรรลุวิสัยทัศน์ "ประเทศไทยมีความมั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน เป็นประเทศที่พัฒนาแล้ว ด้วยการพัฒนาตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง" หรือตามคติพจน์ "มั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน" โดยมีระยะเวลานาน 20 ปี ตั้งแต่ปี 2560-2579 แบ่งยุทธศาสตร์ออกเป็น 6 ด้าน คือ
1. ยุทธศาสตร์ด้านความมั่นคง
2. ยุทธศาสตร์ด้านการสร้างความสามารถในการแข่งขัน
3. ยุทธศาสตร์การพัฒนาและเสริมสร้างศักยภาพคน
4. ยุทธศาสตร์ด้านการสร้างโอกาสความเสมอภาคและเท่าเทียมกันทางสังคม
5. ยุทธศาสตร์ด้านการสร้างการเติบโตบนคุณภาพชีวิตที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม
6. ยุทธศาสตร์ด้านการปรับสมดุลและพัฒนาระบบการบริหารจัดการภาครัฐ
และเมื่อวันที่ 13 กรกฎาคมที่ผ่านมา ในการประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ เพิ่งมีมติอนุมัติร่างพ.ร.บ.โอนงบประมาณรายจ่ายปี 2561 วงเงิน1 .2หมื่นล้านบาท เพื่อใช้เป็นกองทุนหรือเงินสำรองจ่ายฉุกเฉิน ใช้ในการพัฒนาประเทศ ตามยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี และแผนการปฏิรูปประเทศ 11 ด้าน