นายกรัฐมนตรียืนยัน เจ้าหน้าที่ทำตามขั้นตอนของกฎหมายในการจับกุมผู้ชุมนุมต่อต้านการก่อสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินเทพา ด้านศาลจังหวัดสงขลาอนุญาตให้ประกันตัวแกนนำและผู้ชุมนุม โดยกำหนดหลักทรัพย์รวมกว่า 1 ล้าน 3 แสนบาท
พนักงานสอบสวนตำรวจภูธรเมือง จังหวัดสงขลา คุมตัวแกนนำและผู้ชุมนุมเครือข่ายคนสงขลา-ปัตตานีไม่เอาโรงไฟฟ้าถ่านหิน 16 คน ไปขออำนาจศาลจังหวัดสงขลาฝากขัง หลังสอบปากคำนานกว่า 6 ชั่วโมง เบื้องต้นตำรวจแจ้งข้อกล่าวหา 2 ข้อ คือ ร่วมกันเดินอันเป็นการกีดขวางการจราจร ต่อสู้ หรือขัดขวางการจับกุม และทำร้ายร่างกายเจ้าพนักงาน
ล่าสุดเมื่อช่วงเย็นที่ผ่านมา ศาลจังหวัดสงขลา อนุญาตให้ประกันตัวแกนนำและผู้ชุมนุมทั้งหมด โดยกำหนดหลักทรัพย์คนละ 9 หมื่นบาท รวมวงเงิน 1 ล้าน 3 แสน 5 หมื่นบาท ซึ่งวันพรุ่งนี้ แกนนำผู้ชุมนุมจะเตรียมหลักทรัพย์เข้ายื่นประกันอีกครั้ง
ด้านนายประสิทธิชัย หนูนวล แกนนำเครือข่ายรักษ์อันดามันหนึ่งในแนวร่วมผู้ชุมนุม ยืนยันว่า แม้เกิดเหตุดังกล่าว ชาวบ้านและเครือข่าย จะยังคงเดินหน้าเรียกร้องให้นายกรัฐมนตรี สั่งยุติโครงการโรงไฟฟ้าถ่านหินเทพาต่อไป
ส่วนคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนออกแถลงการณ์เรียกร้องรัฐบาลอดทนอดกลั้นต่อการชุมนุมของภาคประชาชน กรณีเกิดเหตุปะทะระหว่างตำรวจควบคุมฝูงชนกับผู้ชุมนุม "เครือข่ายประชาชนสงขลา-ปัตตานี ไม่เอาโรงไฟฟ้าถ่านหิน" เมื่อวานนี้ และเรียกร้องให้ทุกฝ่ายดำเนินการตามหลักสันติวิธี ย้ำการชุมนุมอย่างสงบ เป็นสิทธิตามรัฐธรรมนูญ ขอรัฐบาททบทวนการแจ้งข้อหาผู้ชุมนุม
ด้านพลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และ หัวหน้า คสช ยืนยันรัฐบาลไม่ได้ละเมิดสิทธิมนุษยชน แต่ทำตามกฎหมาย ที่ผ่านมากลุ่มผู้ชุมนุมไม่ขออนุญาตชุมนุมตามกฎหมาย และไม่ยอมเจรจากับเจ้าหน้าที่ การอ้างจะขอพบนายกรัฐมนตรี มีเจตนาจะให้เกิดเหตุบานปลายต่อหน้าสื่อมวลชน
แผนการก่อสร้างโรงไฟฟ้าเทพา กำหนดพื้นที่การก่อสร้างในตำบลปากบาง อำเภอเทพา จังหวัดสงขลา ครอบคลุมพื้นที่ 2,962 ไร่ เป็นโครงการตามแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศไทย พ.ศ. 2558 – 2579 หรือ PDP 2015 เพื่อแก้ปัญหาความไม่มั่นคงระบบไฟฟ้าในภาคใต้ มีการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย เป็นผู้รับผิดชอบศึกษาโครงการ ตามที่คณะรัฐมนตรีเห็นชอบแผนของคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ เมื่อวันที่ 19 มิถุนายน 2555
ลักษณะโดยรวมของโครงการ เป็นโรงไฟฟ้าพลังความร้อน ใช้ถ่านหินเป็นเชื้อเพลิงหลัก ขนาดกำลังผลิตสุทธิ 1,000 เมกะวัตต์ ตามแผนมีกำหนดจ่ายไฟฟ้าในปี 2564 และ 2567
ขณะนี้ อยู่ขั้นตอนการพิจารณารายงานบทวิเคราะห์ผลกระทบทางสิ่งแวดล้อม และยังไม่เข้าคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ
ส่วนกลุ่มผู้คัดค้านการก่อสร้าง เปิดเผยเหตุผลก่อนหน้านี้ว่าการก่อสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินในพื้นที่ จะส่งผลกระทบต่อสุขภาพของประชาชน และสร้างปัญหาด้านสิ่งแวดล้อมใน 3 จังหวัดชายแดนใต้และ 4 อำเภอของจังหวัดสงขลา เนื่องจากจะมีมลพิษจากควันและสารเคมี รวมถึงโลหะหนักรวมถึงส่งผลกระทบต่อคุณภาพน้ำทะเลและสัตว์น้ำซึ่งเป็นส่วนหนึ่งในอาชีพของคนในพื้นที่