ไม่พบผลการค้นหา
ชี้ ‘คนอยากเลือกตั้ง’ ไม่เข้าข่ายกระด้างกระเดื่องปลุกปั่นยุยง
Apr 9, 2018 06:51

อดีตเลขาฯ สมช.เข้าเป็นพยาน ‘คนอยากเลือกตั้ง’ ชี้ไม่เข้าข่ายกระด้างกระเดื่องปลุกปั่นยุยง เพียงแต่มาทวงสัจจะวาจาที่นายกฯ ได้ให้ไว้ทั้งในและต่างประเทศ เมื่อยังไม่ใช่ภัยคุกคามกระทบความมั่นคง ก็อย่าพยายามทำให้เกิดเงื่อนไขให้เป็น

พล.ท.ภราดร พัฒนถาบุตร อดีตเลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) เดินทางมาเป็นพยานให้กลุ่มคนอยากเลือกตั้ง ที่สน.นางเลิ้ง โดยให้สัมภาษณ์สื่อมวลชนว่า วันนี้มาช่วยเป็นพยานให้น.ส.ณัฏฐา มหัทธนา 1 ในผู้ต้องหาคนอยากเลือกตั้ง โดยเตรียมให้ถ้อยคำเกี่ยวกับการแสดงออกของผู้ชุมนุมทั้งการใช้ถ้อยคำ ป้ายข้อความ รูปภาพที่แสดงออก รวมถึงการเคลื่อนตัวที่เป็นรูปขบวนเล็กๆ เพื่ออธิบายความ ให้เข้าใจตรงกัน กรณีมีข้อกล่าวหาว่ายุยงปลุกปั่น มีสาระสำคัญที่สามารถปรับใช้กับทุกกลุ่มที่เคลื่อนไหว

ส่วนตัวมีประสบการณ์รับผิดชอบด้านความมั่นคงมาจึงมีทัศนะว่า นัยยะของการเคลื่อนไหวนี้ เป็นการใช้สิทธิเสรีภาพ ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 34 กับ 36 ในการสื่อสารของกลุ่มคนที่มารวมตัวกันแสดงความคิดเห็น

เมื่อดูเนื้อหาถ้อยคำแล้วไม่ใช่เป็นเนื้อหาที่ปรุงแต่ง แต่เป็นเนื้อหาข้อเท็จจริงมีความชัดเจนคือเรียกร้องสิ่งที่นายกรัฐมนตรีได้กล่าวต่อสาธารณะทั้งในประเทศและนอกประเทศ มาทวงถามให้ปฏิบัติตาม ถือเป็นความปรารถนาดี เพื่อให้นายกรัฐมนตรีได้ปฏิบัติตามสัจจะวาจาที่ได้ให้ไว้กับสาธารณชน ขณะเดียวกันไม่ให้เกิดความลามปามกระทบความน่าเชื่อถือของประเทศชาติ จึงได้มาให้ทัศนะมุมนี้

โดยเฉพาะป้ายข้อความว่า “หมดเวลา คสช.” เป็นการอธิบายความเพิ่มเติมจากที่มีการได้กล่าวว่า ถ้าทำตามสัจจะวาจาที่ให้ไว้ ทุกอย่างก็จะเคลื่อนตัวไปและจบลง หมดเวลาหน้าที่ของ คสช. ตามรัฐธรรมนูญ ดังนั้น สาระสำคัญอยู่ตรงนี้

ส่วนการที่มีคนเดินขบวน เป็นการแสดงทัศนะของปัจเจกเฉพาะตัวบุคคล แต่พอดีเป็นเนื้อหาวัตถุประสงค์ที่ตรงกัน จึงมารวมกันตามปรากฏการณ์ประชาธิปไตยซึ่งจะมีการเรียกร้องสิทธิ ฉะนั้น สิ่งนี้ก็ไม่น่าจะเป็นข้อกังวลอะไร

การเคลื่อนตัวกันมาก็ปราศจากอาวุธอยู่แล้ว เป็นสันติ ขณะเดียวกัน อยู่ในภาวะที่เจ้าหน้าที่ควบคุมได้ การจัดกำลังของเจ้าหน้าที่ที่มาควบคุมสถานการณ์ก็ไม่ได้มีความเข้มข้นเป็นพิเศษ

จึงถือว่าสถานการณ์แบบนี้ไม่ใช่การกระด้างกระเดื่อง หรือปลุกปั่นยุยงแต่ประการใด และในมิติความมั่นคง เวลาเขามองว่าสิ่งนั้นจะกระทบความมั่นคงหรือไม่ ต้องมองว่าสิ่งนั้นเป็นภัยคุกคามที่ส่งผลกระทบต่อความมั่นคงไหม แต่ถ้าเราดูการปฏิบัติการเหล่านี้ จะเห็นได้ว่าเนื้อหาถ้อยความเป็นความจริง ไม่ได้มาปรุงแต่งแก้ไขเพื่อนำไปสู่การยุยงปลุกปั่น ฉะนั้น ตรงนี้ ยังไม่เป็นระดับภัยคุกคามที่จะส่งผลต่อความมั่นคง ความสงบเรียบร้อย ความปลอดภัยสาธารณะของพี่น้องประชาชน ตรงนี้จึงยังไม่น่าจะเข้าเกณฑ์ละเมิดกฎหมายและกรณีที่มีการแสดงความคิดเห็น ก็ยังไม่เข้าเงื่อนไขที่จะลามปามทำให้เกิดความไม่สงบเรียบร้อย

“สาระสำคัญคือ ถ้อยคำที่เขาใช้ คือเนื้อหาความจริง ไม่ใช่การปลุกแต่งยุยงปลุกปั่น เป็นการทวงถามเรียกร้อง เป็นความปรารถนาดีต่อนายกรัฐมนตรี ขอให้ท่านทำตามสัจจะวาจาที่ให้ไว้

ในทัศนะและประสบการณ์ ผมเป็นอดีตเลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ เจอสถานการณ์ที่ส่งผลกระทบต่อความมั่นคง ซึ่งใช้กฎหมายที่เข้มข้นกว่านี้ด้วยซ้ำ ไม่ว่าจะเป็น พ.ร.บ ความมั่นคง พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ฉะนั้น องค์ประกอบตรงนี้ ผมมองว่ายังไม่ครบองค์ประกอบตามข้อกล่าวหา เมื่อไม่ครบองค์ประกอบก็ไม่ควรกล่าวหา ดำเนินคดีไปก็เท่านั้น สู้ทำให้เงื่อนไขลดลงเองตามธรรมชาติดีกว่า การดำเนินคดีไม่เป็นประโยชน์ต่อ คสช. และไม่เป็นประโยชน์ต่อสาธารณะด้วย เพราะไม่เข้าข่ายยุยงปลุกปั่น เป็นการใช้สิทธิเสรีภาพตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 34 กับ 36 คือ เสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นและเสรีภาพในการสื่อสาร ยังไม่เข้าเงื่อนไข ที่ส่งผลกระทบต่อความมั่นคง

ถ้าเป็นเลขา สมช.อยู่ จะแนะนำรัฐบาลในลักษณะแบบนี้ สิ่งสำคัญที่สุดคือต้องพยายามไม่ให้เกิดเงื่อนไข ถ้ายังไม่ใช่ภัยคุกคาม ต้องพยายามไม่ให้มันเป็น ต้องตัดไฟตั้งแต่ต้นลม

ผมยังยืนยันว่าปัญหาที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน เกิดจากการขาดความศรัทธาในระบอบประชาธิปไตย ถ้าเรามีความศรัทธา จะทำให้มีทางออกและคลี่คลายไปได้ไม่มีทางตัน เป็นเรื่องเคารพสิทธิ เสรีภาพ จบด้วยภราดรภาพคือความเป็นมิตรภาพต่อกัน

นายกรัฐมนตรีมีความจำเป็นอย่างยิ่งต้องดำเนินการตามที่ฝ่ายประชาธิปไตยเรียกร้อง เพราะไม่ใช่การบิดเบือนคำพูด แต่เป็นการเรียกร้องคำพูดของท่านนายกรัฐมนตรี ขอให้ปฏิบัติตามที่พูด ถ้าไม่ปฏิบัติก็จะส่งผลต่อเกียรติภูมิของท่านนายกฯ เอง และ มีโอกาสที่จะลามปามไป ทำให้เกิดความไม่เชื่อถือต่อประเทศชาติได้ ประเทศชาติจะขาดความเชื่อมั่น จะส่งผลกระทบใหญ่ ผมคิดว่าการเคลื่อนไหวแบบนี้ เป็นการใช้สิทธิเสรีภาพตามรัฐธรรมนูญตามปกติ”

สำหรับวันนี้ 5 แกนนำ ‘คนอยากเลือกตั้ง’ เข้ารับทราบข้อกล่าวหา "คดีชุมนุมหน้ากองทัพบก" กับพนักงานสอบสวน สน.ชนะสงคราม โดยใช้สถานที่เป็นสน. นางเลิ้ง เนื่องจาก มีพื้นที่กว้างกว่า สน.ชนะสงคราม

สำหรับ 5 แกนนำ ประกอบด้วย 1. นาย กาณฑ์ พงษ์ประภาพันธ์

2. นางสาว ณัฏฐา มหัทธนา 3. นาย ธนวัฒน์ พรหมจักร 4. นาย โชคชัย ไพบูลย์รัชตะ 5. นาง ศรีไพร นนทรีย์

ทั้ง 5 คน เป็น 5 ใน 10 ที่โดนข้อหาหนัก โดยที่เหลือจะมาพบพนักงานสอบสวนวันที่ 18 กับ 30 เมษายน 2561

คดีนี้มีผู้ต้องหาทั้งหมด 57 คน โดย 47 คนถูกกล่าวหาขัดคำสั่งหัวหน้าคสช. 3/58 ขณะที่ 10 คน ถูกกล่าวหาขัดคำสั่ง 3/58 , ขัดพ.ร.บ.ชุมนุม และขัดมาตรา 116 เพิ่มด้วย