รายการ Intelligence ประจำวันที่ 6 เมษายน 2556
เหตุเพลิงไหม้ค่ายผู้ลี้ภัยชาติพันธุ์กะเหรี่ยงที่บ้านแม่สุรินทร์ อ.ขุนยวม จ.แม่ฮ่องสอน ซึ่งมีผู้เสียชีวิตถึง 37 คน เป็นข่าวที่คนไทยตื่นเต้นสนใจเพียงชั่วขณะ แล้วก็เลือนหายไป
คนส่วนใหญ่ยังไม่รับรู้ ว่าผู้ลี้ภัยจากการสู้รบระหว่างทหารพม่ากับชนกลุ่มน้อยตามแนวชายแดน มีมากถึง 1.4 แสนคน ซึ่งรัฐไทยรับเข้ามาอยู่ในศูนย์พักพิงชั่วคราว ตั้งแต่ปี 2527 จนบัดนี้ "ชั่วคราว" 29 ปีแล้ว อัคคีภัยในค่ายผู้ลี้ภัยไม่ใช่เรื่องใหม่ แต่เกิดเป็นประจำ เพราะสภาพแออัดและบ้านเรือนสร้างจากวัสดุที่เป็นเชื้อเพลิงอย่างดี เพียงแต่ไม่เคยมีผู้เสียชีวิตมากเท่าครั้งนี้
ประเทศไทยให้ความช่วยเหลือผู้ลี้ภัยตลอดมาตั้งแต่สงครามอินโดจีน แต่ไม่ยอมลงนามในอนุสัญญาว่าด้วยสถานภาพผู้ลี้ภัย 1951 ซึ่งจะส่งผลให้สหประชาชาติเข้ามาตรวจสอบดูแลได้ หน่วยงานความมั่นคงของไทยยังต้องการดูแลเอง ในสภาพกึ่งปิด ยอมรับเพียงความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมจากองค์กรระหว่างประเทศเท่านั้น
ผู้ลี้ภัยเหล่านี้จะมีชะตากรรมต่อไปอย่างไร สถานการณ์ในพม่าที่เริ่มคลี่คลายเป็นประชาธิปไตยมากขึ้น จะเอื้อให้พวกเขากลับบ้านได้หรือไม่ หรือต้องรออีกนานเท่าไหร่ และพวกเขาพร้อมจะกลับหรือไม่ ในเมื่อบางคนเกิดและโตในค่ายผู้ลี้ภัยโดยไม่เคยเห็นมาตุภูมิเลย
ฟังข้อมูลและความเห็นจาก สุรพงษ์ กองจันทึก อนุกรรมการสิทธิมนุษยชนด้านชนชาติ สภาทนายความ และเดชา ตั้งสีฟ้า อาจารย์คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ผู้ทำวิทยานิพนธ์เรื่องผู้ลี้ภัย โดยเข้าไปคลุกคลีกับชนกลุ่มน้อยในค่าย และยังทำงานวิจัยอย่างต่อเนื่อง