ไทยได้ร่วมโครงการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมกับบริษัทแฟชันชื่อดังของสเปน เก็บขยะบนท้องทะเลที่เกาะเสม็ด ซึ่งขยะเหล่านี้ก็จะถูกรีไซเคิลไปผลิตเป็นสินค้าแฟชัน ซึ่งก็ถือว่าเป็นการส่งเสริมนโยบายการท่องเที่ยวที่ยั่งยืนของไทยด้วย
การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย และ บริษัท พีทีที โกลบอล เคมิคอล จำกัด ให้ความร่วมมือกับมูลนิธิ อีโคอัลฟ์ ในโครงการ Upcycling The Oceans Thailand ซึ่งเป็นโครงการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมทางทะเลของบริษัท อีโคอัลฟ์ ที่จำหน่ายสินค้าแฟชัน ด้วยการเก็บขยะที่ถูกทิ้งลงทะเล แล้วนำขยะเหล่านี้มารีไซเคิลผลิตเป็นเส้นใย เพื่อนำไปผลิตสินค้าแฟชัน ซึ่งจะช่วยลดปัญหาด้านสิ่งแวดล้อม และไทยเป็นประเทศแรกที่เข้าร่วมโครงการนี้
โครงการ Upcycling the Oceans Thailand เป็นโครงการระยะยาว 3 ปี ซึ่งได้เริ่มเก็บขยะจากทะเลในประเทศไทยเป็นครั้งแรกเมื่อวันที่ 1 กันยายนที่ผ่านมา ที่เกาะเสม็ด ซึ่งมีอาสาสมัครราว 300 คนร่วมเก็บขยะบริเวณชายหาด และยังมีนักดำน้ำอีกกว่า 100 คน และชาวประมงที่ช่วยกันออกเรือเพื่อเก็บขยะที่อยู่ในท้องทะเลด้วย ซึ่งผ่านไปเพียง 5 ชั่วโมง ก็สามารถเก็บขยะรวมกันได้กว่า 700 กิโลกรัม ซึ่งขยะส่วนมากที่อยู่ในทะเลเป็นขวดน้ำและแหจับปลาของชาวประมง
มูลนิธิอีโคอัลฟ์ คาดหวังว่าการที่ไทยเป็นประเทศแรกที่เข้าร่วมโครงการนี้จะเป็นตัวอย่างให้ประเทศอื่นๆในเอเชียเข้าร่วมตามด้วย ซึ่งมีการคำนวนว่าในแต่ละปี มีขยะที่ถูกทิ้งลงทะเลมากถึง 8 ล้านตันต่อปี และขยะที่ถูกทิ้งลงทะเลกว่าร้อยละ 60 ก็มาจากประเทศในเอเชีย โดยการเก็บขยะรอบๆทะเลบนเกาะเสม็ดเป็นแค่จุดเริ่มต้นของโครงการนี้ในประเทศไทยเท่านั้น ซึ่งหลังจากนี้ ตลอดระยะเวลา 3 ปี ก็จะมีการเก็บขยะกันต่อที่เกาะสมุย, เกาะเต่า, ระยอง และภูเก็ต และในปีหน้าขยะที่ถูกเก็บได้ทั้งหมด ก็จะเริ่มถูกรวบรวมเพื่อนำไปรีไซเคิลเป็นวัตถุดิบในการผลิตสินค้าต่อไป
โครงการ Upcycling the Oceans เริ่มต้นเก็บขยะจากทะเลในสเปนเป็นที่แรกเมื่อเดือนกันยายนปี 2015 และในปีนั้นก็ได้เก็บขยะจากทะเลรอบๆสเปนรวมกันได้ 60 ตัน ซึ่งจนถึงขณะนี้โครงการ Upcycling the Oceans ได้เก็บขวดน้ำที่ถูกทิ้งลงทะเลรวมกันได้แล้วกว่า 70 ล้านขวด
ความพิเศษของโครงการ Upcycling the Oceans ก็คือการยกระดับให้กับสินค้าที่ผลิตจากขยะที่ถูกนำมารีไซเคิล ด้วยการนำมาผลิตเป็นสินค้าแฟชันที่มีมูลค่า ซึ่งบริษัทอีโคอัลฟ์เองก็เป็นบริษัทผู้ผลิตและจำหน่ายสินค้าแฟชั่นแนวยั่งยืน ที่มุ่งเน้นการนำวัตถุดิบที่เป็นของเหลือใช้ ทั้งขวดน้ำ, กากของเมล็ดกาแฟ, พลาสติก และขยะในทะเล มาพัฒนาเป็นเส้นใยคุณภาพเพื่อผลิตเป็นเสื้อผ้า, แจ็กเก็ต, รองเท้า และกระเป๋า