การเมืองในสภานิสิตจุฬาฯได้กลายเป็นข่าวระดับชาติ เพราะประชาธิปไตยในมหาวิทยาลัย กลายเป็นสิ่งที่สะท้อนให้เห็นถึงสภาวะของประชาธิปไตยในระดับชาติด้วยเช่นกัน
สภานิสิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยแสดงจุดยืน ไม่ยอมรับคำสั่ง ตามที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ให้สมาชิกสภานิสิตสามัญพ้นจากตำแหน่ง พร้อมเรียกร้องให้คณะกรรมการชี้แจงกระบวนการพิจารณาและข้อกล่าวหาอย่างชัดเจน
ตามที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยได้มีคำสั่งที่ ๔๙๒๙/๒๕๖๐ เรื่อง ให้สมาชิกสภานิสิตสามัญพ้นจากตำแหน่ง กรณีที่สมาชิกสภานิสิตสามัญถูกลงโทษตัดคะแนนความประพฤตินิสิตจำนวน ๒๕ คะแนน ในข้อกล่าวหาที่ว่าสมาชิกสภานิสิตสามัญกลุ่มนี้ได้ประพฤติตนไม่เหมาะสม โดยไม่คำนึงถึงผลกระทบต่อชื่อเสียงของมหาวิทยาลัยในพิธีถวายสัตย์ปฏิญาณตนเมื่อวันที่ ๓ สิงหาคม พ.ศ.๒๕๖๐ ตามคำสั่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยที่ ๔๙๒๘/๒๕๖๐
สภานิสิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยอันมาจากการเลือกตั้งของนิสิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ขอแสดงจุดยืนไม่ยอมรับคำสั่งทั้ง ๒ ฉบับดังกล่าว และขอเรียกร้องให้คณะกรรมการชี้แจงกระบวนการพิจารณาและข้อกล่าวหาอย่างชัดเจนแก่นิสิตที่ถูกสอบสวน รวมทั้งเปิดโอกาสให้นิสิตที่ถูกสอบสวนได้มีระยะเวลาในการรวบรวมพยานหลักฐานและแก้ข้อกล่าวหาอย่างเต็มที่ในชั้นของการอุทธรณ์ต่อไป
นอกจากนี้ สภานิสิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยยังขอแสดงความกังวลต่อกระบวนการสอบสวนทางวินัยกับอาจารย์ที่เข้าไปทำร้ายร่างกายนิสิตที่ไม่มีความคืบหน้าออกมาแต่อย่างใด ให้เกิดความเป็นธรรมต่อนิสิตที่ถูกกระทำความรุนแรงด้วย
Source:
https://www.matichon.co.th/news/648777
https://prachatai.com/journal/2017/08/73049?fref=gc&dti=1715398618681533