รายการ Intelligence ประจำวันที่ 8 กันยายน 2554
สถานการณ์ชุมนุมทางการเมืองของประเทศไทยในแต่ละครั้ง นอกจากการกล่าวปราศรัยเพื่อเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารแล้ว ยังมีกลุ่มปัญญาชน นักคิด นักเขียนรวมถึงศิลปิน ที่ทำหน้าที่ขับขานบทเพลงหรือบทกวี สร้างความฮึกเหิมหรือบรรเทาความร้อนแรงจากอารมณ์ร่วมของผู้ชุมนุม เป็นเครื่องมือแห่งการปลุกเร้าให้เกิดแนวคิดและความรื่นรมย์ บทเพลงและบทกวี จึงเปรียบเสมือน แนวรบทางวัฒนธรรม
เมื่อประชาธิปไตยเริ่มเบ่งบาน พัฒนาการของดนตรี-กวีศิลป์ บนเวทีการชุมนุมก็ผลิดอกออกใบ เนื้อหาและท่วงทำนอง ปรับเปลี่ยนไปตามยุคสมัยเหตุการณ์ ตั้งแต่เสนอความทุกข์ยากของกรรมกร การตอบโต้อำนาจรัฐที่ไม่เป็นธรรม ตลอดจนเรียกร้องประชาธิปไตยที่จับต้องได้ผ่านศิลปะแขนงต่างๆ
เสียงเพลงที่กู่ร้อง บทกวีที่ขับขาน ในขบวนการการต่อสู้ของกลุ่มคนเสื้อแดง ช่วงปี 2553
โดยมี วิสา คัญทัพ ศิลปินเพลงและนักกวี ผู้ซึ่งเป็นผลผลิตจากเหตุการณ์ 14 ตุลา 16 และไพจิตร อักษรณรงค์ นักร้องเพลงเพื่อชีวิต ทำหน้าที่ถ่ายทอดความบันเทิงและคอยปลุกเร้าผู้ชุมนุม ให้มีกำลังใจในการต่อสู้เพื่อเรียกร้องประชาธิปไตย ภาพเหตุการณ์และบทเรียนจากการชุมนุมของคนเสื้อแดง ยังคงอยู่ในความทรงจำของศิลปินทั้ง 2 และถูกถ่ายทอดผ่านบทกวี บทเพลง เพื่อเป็นบันทึกแห่งการต่อสู้และคราบน้ำตา
Produced by VoiceTV