ในวันเลือกตั้ง 3 กรกฎาคม ที่ผ่านมา หลังปิดหีบเลือกตั้งเพียงไม่กี่นาที ก็มีการเผยแพร่ผลการเลือกตั้งอย่างไม่เป็นทางการ หรือที่เรียกว่า Exit poll ออกมาจากหลายสำนัก และเมื่อผลการนับคะแนนจริงเริ่มเข้ามากลับเกิดการคลาดเคลื่อนจากโพลต่างๆอย่างมากมาย จนทำให้แกนนำของพรรคการเมืองใหญ่หลายพรรค ออกมาเรียกร้องให้เจ้าของสำนักโพลแสดงความรับผิดชอบกับความผิดพลาดและคลาดเคลื่อน
การทำโพลของสำนักต่างๆ จะต้องมีความเป็นกลางมากน้อยแค่ไหน รวมทั้งอิทธิพลของโพลที่ออกมาจะเป็นการชี้นำของประชาชนหรือไม่ วันนี้ (5 กรกฎาคม 2554) รายการ Hot Topic ร่วมพูดคุยกับดร.นพดล กรรณิกา ผอ.ศูนย์วิจัยเอแบคโพลย์ ม.อัสสัมชัญ และรศ.สมชัย ศรีสุทธิยากร ผอ.ศูนย์วิจัยและติดตามนโยบายภาครัฐ ม.ศรีปทุม
ดร.นพดล กล่าวว่า การทำโพลหรือการสำรวจความนิยมของประชาชนในช่วงเลือกตั้งนั้น จะต้องมีฐานข้อมูลของหน่วยเลือกตั้งทั้งหมดทั่วประเทศก่อน และสุ่มตัวอย่างโดยการใช้กลุ่มตัวอย่าง โดยแบ่งเป็น 2 ชั้น ซึ่งผลที่ออกมาของเอแบคโพลทั่วทั้วประเทศเป็นที่พอใจ ยกเว้นในพื้นที่ กทม. เนื่องจากประชาชนในต่างจังหวัดจะออกมาใช้สิทธิในช่วงเช้า ซึ่งแตกต่างกับประชาชนในเขตพื้นที่กทม.จะออกมาใช้สิทธิในช่วงบ่าย ทำให้การเก็บผลสำรวจมีความแตกต่างกัน
ในเรื่องการผลสำรวจความคิดเห็นที่พรรคเพื่อไทยมีคะแนนนำทุกข้อนั้น รศ.สมชัย กล่าวว่า อาจจะไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับความตัดสินใจของประชาชน เนื่องจากประชาชนอาจต้องการให้เกิดการเปลี่ยนแปลง และการทำหน้าที่ของสื่อมวลชนก็อาจจะมีส่วนสำคัญ เพราะประชาชนสามารถที่จะเลือกรับสื่อและเข้าถึงสื่อได้ง่ายขึ้น ประกอบกับพรรคเพื่อไทยเข้าถึงประชาชนมากกว่าพรรคอื่นๆ ก็ได้ นอกจากนี้ รศ.สมชัย กล่าวอีกว่า ควรจะมีกฎหมายที่ส่งเสรอมสำหรับการทำโพลที่ถูกต้อง
Produced by VoiceTV