เหตุที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ยอมตามข้อเรียกร้องของกลุ่มจะนะรักษ์ถิ่น สั่งให้หยุดเดินหน้าโครงการเมืองอุตสาหกรรมจะนะไว้ก่อน โดยให้ตั้งคณะกรรมการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมระดับยุทธศาสตร์หรือซีอีเอขึ้นมาศึกษา เพราะปรากฎข้อเท็จจริงว่าโครงการดังกล่าวดำเนินมาแบบรวบรัดข้ามขั้นตอน ไม่มีการศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อมอย่างจริงจัง ไม่ได้รับฟังความเห็นจากประชาชนอย่างรอบด้าน การประชาพิจารณ์ก็ทำโดยบริษัทเอกชนที่มีส่วนได้ส่วนเสีย การมีนักการเมืองในรัฐบาลไปกว้านซื้อที่ดินมาขายให้กลุ่มนายทุนที่ผลักดันโครงการ รวมทั้งการไม่ยอมทำตาม MOU เพียงเพราะชาวบ้านเคยทำไว้กับ ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า ที่ขัดแย้งกับ พล.อ.ประยุทธ์ ทั้งหมดนี้จึงกลายเป็นความไม่ชอบธรรมของรัฐบาลที่ พล.อ.ประยุทธ์ไม่สามารถปฎิเสธได้ ประกอบกับมีทั้งแนวร่วมและพันธมิตรกลุ่มใหม่เข้าร่วมสนับสนุนการชุมนุมของชาวบ้านมากขึ้นเรื่อย ๆ อันเนื่องมาจากความรู้สึกร่วมกับชาวจะนะที่ถูกกระทำเพียงเพราะมาเรียกร้องสิทธิในการจัดสรรทรัพยากร รัฐบาลจึงต้องจำยอมใส่เกียร์ถอยลดกระแสไว้ก่อน แต่ไม่ได้หมายความว่าจะยุติโครงการไปเลย