ไม่พบผลการค้นหา
มองโลกมองไทย - บะหมี่กึ่งสำเร็จรูปไทยอยู่ตรงไหนของโลก - FULL EP.
Nov 24, 2019 05:30

รายการ มองโลกมองไทย ประจำวันที่ 24 พฤศจิกายน 2562

ตลาดบะหมี่กึ่งสำเร็จรูป มูลค่า 1.3 ล้านล้านบาท

“สมาคมบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปโลก” (World Instant Noodles Association : WINA) เปิดเผยว่า ปี 2018 ตลาดบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปทั่วโลกมีมูลค่าสูงถึง 4.2 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐ (ประมาณ 1.3 ล้านล้านบาท) และคาดการณ์ว่าจะเติบโตเพิ่มขึ้นอีก 5.2% อยู่ที่ 1.7 ล้านล้านบาท ในปี 2024

การบริโภคบะหมี่สำเร็จรูปในปี 2018

อันดับ 1 ประเทศจีนและฮ่องกง ปริมาณการบริโภค 40,250 ล้านล้านถ้วย/ห่อ

อันดับ 2 ประเทศอินโดนิเซีย ปริมาณการบริโภค 12,550 ล้านล้านถ้วย/ห่อ

อันดับ 3 ประเทศอินเดีย ปริมาณการบริโภค 6,060 ล้านล้านถ้วย/ห่อ

อันดับ 4 ประเทศญี่ปุ่น ปริมาณการบริโภค 5,780 ล้านล้านถ้วย/ห่อ

อันดับ 5 ประเทศเวียดนาม ปริมาณการบริโภค 5,200 ล้านล้านถ้วย/ห่อ

อันดับ 6 ประเทศไทย ปริมาณการบริโภค 3,460 ล้านล้านถ้วย/ห่อ

ในปี 2018 ทั่วโลกมีการบริโภคบะหมี่กึ่งสำเร็จรูป จำนวน 103,600 ล้านห่อ/ถ้วย โดย “จีนและฮ่องกง” มียอดการบริโภคคิดเป็น 40% ของทั้งโลก จำนวน 40,250 ล้านถ้วย ขณะที่ประเทศอินโดนีเซียตามมาเป็นอันดับ 2 จำนวน 12,550 ล้านห่อ/ถ้วย และ อินเดียอยู่เป็นอันดับ 3 จำนวน 6,060 ล้านห่อ/ถ้วย ส่วนไทยถูกจัดอยู่ในลำดับที่ 9 ของการสำรวจทั้งหมด โดยบริโภคบะหมี่ประมาณ 3,460 ล้านถ้วยในปี 2018 

5 ประเทศที่บริโภคบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปมากที่สุดในโลก ปี 2018

อันดับ 1 ประเทศเกาหลีใต้ จำนวนการบริโภค 76 /คน/ปี

อันดับ 2 ประเทศฮ่องกง จำนวนการบริโภค 59 /คน/ปี

อันดับ 3 ประเทศเวียดนาม จำนวนการบริโภค 52 /คน/ปี

อันดับ 4 ประเทศอินโดนิเซีย จำนวนการบริโภค 50 /คน/ปี

อันดับ 5 ประเทศไทย จำนวนการบริโภค 49 /คน/ปี

แต่เมื่อไปดูการบริโภคต่อถ้วยหรือซอง(ชิ้น) ต่อคน ต่อปี พบว่า ประเทศที่ประชาชนบริโภคบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปมากที่สุด คือ 

อันดับ 1 เกาหลีใต้ จำนวน 76 ชิ้นต่อคนต่อปี และยังส่งออกอีกคิดเป็นมูลค่า ปีละ 11,000 ล้านบาท

อันดับ 2 ฮ่องกง 59 ชิ้น/คน/ปี

อันดับ 3 เวียดนาม 52.6 ชิ้น/คน/ปี ยี่ห้อที่ได้รับความนิยมสูงสุดคือ Hao Hao และ Hao 100 ผลิตโดยบริษัท Acecook Vietnam ซึ่งเป็นของบริษัท Acecook ผู้ผลิตบะหมี่สำเร็จรูปรายใหญ่อันดับ 5 ของญี่ปุ่น โดยคนเวียดนามใต้ชอบบะหมี่รสเข้มข้น ส่วนคนเวียดนามเหนือจะชอบรสชาติกลมกล่อม

อันดับ 4 อินโดนีเซีย 50.5 ชิ้น/คน/ปี บริษัท PT Indofood CBP Sukses Makmur ครองตลาดราว 73% ด้วยผลิตภัณฑ์หลายยี่ห้อ เช่น Indomie,Supermie,Sarimi,Sakura กำลังผลิตของบริษัทนี้มากกว่า มาม่า ของไทยถึง 7 เท่า รสนิยมบริโภคของคนอินโดนีเซีย จะนิยมรสเข้มข้น โดยเฉพาะรสหมี่โกเรง , รสแกงกระหรี่ไก่ , รสหัวหอมไก่ , รสลูกชิ้นเนื้อ

ปัจจุบันยี่ห้อ Indomie มีจำหน่ายใน 80 ประเทศทั่วโลก และมียอดขายเพิ่มมากขึ้นทุกปี 

ปี 2016 ยอดขาย 49,027 ล้านบาท

ปี 2017 ยอดขาย 50,267 ล้านบาท

ปี 2018 ยอดขาย 54,943 ล้านบาท


อันดับ 5 ไทย 49 ชิ้น/คน/ปี สำหรับประเทศไทย บะหมี่กึ่งสำเร็จรูปเข้ามาราวปี พ.ศ.2514-2515 ยี่ห้อแรก “ซันวา”ตามมาด้วย ยำยำ ไวไว และมาม่า ในเวลาใกล้เคียงกัน แต่คนไทยนิยมเรียกว่า “มาม่า” จนเป็น Generic Name หรือชื่อสามัญที่คนไทยในปัจจุบันใช้เรียกบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปไปแล้ว


“โมะโมะฟุกุ อันโด” บิดาแห่งบะหมี่กึ่งสำเร็จรูป

จุดเริ่มต้นของบะหมี่กึ่งสำเร็จรูป เกิดขึ้นที่ญี่ปุ่น โดยช่วงหลังสิ้นสุดสงครามโลกครั้งที่ 2 ประเทศญี่ปุ่นตกอยู่ในสภาวะขาดแคลน อาหารการกินเป็นสิ่งหายาก และมีราคาแพง รัฐบาลสหรัฐฯช่วยเหลือญี่ปุ่น ด้วยการส่งแป้งสาลีมาให้เป็นจำนวนมาก เพื่อให้ทำขนมปังเป็นอาหารแจกจ่ายแก่ประชาชน 

นายโมะโมะฟุกุ อันโด ซึ่งชอบกินราเมง สงสัยว่าทำไมรัฐบาลญี่ปุ่นไม่แนะนำให้คนกินราเมงซึ่งเป็นอาหารประจำชาติ ทั้งที่ทำจากแป้งสาลีเหมือนกัน วันหนึ่งเขาเห็นภรรยา นำบะหมี่สดไปทอดกรอบเพื่อให้เก็บไว้กินได้หลายๆวัน จึงคิดต่อว่า หากนำบะหมี่กรอบ ไปใส่น้ำร้อน ก็จะกลายเป็น “บะหมี่น้ำ”

โมะโมะฟุกุ อันโด จึงเริ่มลงมือพัฒนา และทดลองซ้ำแล้วซ้ำอีก เพื่อให้ได้บะหมี่น้ำที่สามารถเก็บไว้ได้ กินที่ไหนก็ได้ ทำง่ายเพียงแค่เติมน้ำร้อน 

ในที่สุดก็ได้ขั้นตอนการผลิตง่าย ๆ ที่ต่อมาถูกลอกเลียนไปทั่วทั้งโลก คือการนำเส้นบะหมี่ที่ทำจากแป้งสาลีมาต้มในน้ำซุปรสเข้มข้น พอเส้นเหนียวนุ่มเริ่มดูดซับรสชาติความเข้มข้นจนได้ที่แล้ว ให้ตักขึ้นมาผึ่งให้แห้งพอประมาณ ก่อนนำลงไปทอดในน้ำมันปาล์มเดือดจัดอย่างรวดเร็ว เพื่อไล่ความชื้นออกให้หมด แค่นี้ก็จะได้บะหมี่กึ่งสำเร็จรูปแล้ว

จากนั้นเขาได้จัดตั้งบริษัท “Nissin Food Products” และเปิดตัวสู่ตลาดครั้งแรกในปี 1958 เป็นบะหมี่แบบซอง ซึ่งค่อยๆประสบความสำเร็จในญี่ปุ่น จากนั้นได้ขยายธุรกิจไปที่สหรัฐฯ 

ในปี 1966 ระหว่างที่ โมะโมะฟุกุ ไปเยี่ยมผู้จำหน่ายในสหรัฐอเมริกา เขาบังเอิญไปเห็นผู้จัดการคนหนึ่งในออฟฟิศ หักเส้นบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปออกเป็นชิ้นเล็ก ๆ แล้วเทลงแก้วกระดาษ เติมน้ำร้อนแล้วใช้ส้อมตักกิน นั่นเป็นทำให้เขาเกิดไอเดียทำ “บะหมี่กึ่งสำเร็จรูปในถ้วย” หรือ “Cup Noodles” ที่ออกแบบมาพร้อมกับ “ส้อม” ออกจำหน่ายในปี 1971 ถือเป็นจุดเปลี่ยนอุตสาหกรรมบะหมี่กึ่งสำเร็จรูป เพราะด้วยแพ็คเกจจิ้งดีไซน์ ทำให้ผู้บริโภคทุกชนชาติ ที่แม้ไม่ได้ถนัดการใช้ตะเกียบ ก็สามารถบริโภคบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปได้ง่าย สะดวกทุกที่ ทุกเวลา

“Nissin Cup Noodle” ยังเป็นอันดับ 1 ของตลาดบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปในญี่ปุ่น และจำหน่ายใน 80 ประเทศทั่วโลก โดยอดขายของบริษัท Nissin Foods Holdings

ปี 2017 ยอดขาย 64,650 ล้านบาท

ปี 2018 ยอดขาย 65,870 ล้านบาท


“Kangshifu” แชมป์บะหมี่กึ่งสำเร็จรูปในจีน

บะหมี่กึ่งสำเร็จรูปในจีน มีเจ้าใหญ่อยู่ 2 ยี่ห้อ คือ “คังซือฟู่” หรือ มาสเตอร์คัง และ “ถ่งอี” ครองสัดส่วนตลาดถึง 65% ส่วนมากจะเป็นรสเนื้อ ครึ่งปีแรกของปี 2019 ยี่ห้อ “คังซือฟู่” มียอดจำหน่ายแล้ว 30,495 ล้านซอง/ถ้วย คิดเป็นรายได้ราว 57,720 ล้านบาท

คนจีนบริโภคบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปเฉลี่ย 29 ชิ้นต่อคนต่อปี ซึ่งนอกจาก 2 ยี่ห้อหลักแล้ว ยังมีบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปที่นำเข้าจากญี่ปุ่น(Nissin) , เกาหลี(Nongxin และ Sanyang) , สิงคโปร์(KOKA) และไทย(YUMYUM) โดย World Instant Noodle Association รายงานว่า ตลาดบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปในจีนกลับมาคึกคักอีกครั้งในปีที่แล้วและปีนี้ หลังจากยอดขายลดลงมาหลายปี สะท้อนถึงชาวจีนที่กำลังไม่เชื่อมั่นในเศรษฐกิจ จึงลดการใช้จ่ายและลดการบริโภคลง โดยยอดการจำหน่ายรถยนต์ในจีนลดลงต่อเนื่องเป็นที่ 15 ในเดือน กันยายน ที่ผ่านมา


บะหมี่สำเร็จรูปฮิตในคุกสหรัฐฯ

สหรัฐอเมริกา มีการบริโภคบะหมี่กึ่งสำเร็จรูป เป็นอันดับ 6 ของโลก ในปี 2018 จำนวน 4,400 ล้านชิ้น นอกจากนี้ยังมีข้อมูลว่า บะหมี่กึ่งสำเร็จรูปเป็นที่นิยมใช้ในการแลกเปลี่ยนสิ่งของต่างๆของนักโทษในเรือนจำสหรัฐฯ นิยมมากกว่าบุหรี่เสียอีก เนื่องจากอาหารในเรือนจำคุณภาพไม่ดี นักโทษจึงนิยมบริโภคบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปกันมาก เพราะราคาถูกและมีรสชาติที่ดีกว่าอาหารเรือนจำ ง่ายต่อการปรุงและให้พลังงานสูง อีกทั้งยังสามารถหาซื้อได้ที่ร้านค้าของเรือนจำอีกด้วย

โดยสหรัฐฯเป็นตลาดส่งออกบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปอับดับ 2 ของเกาหลีใต้ คิดเป็น 12% ของการส่งออกทั้งหมด มูลค่าราว 1,500 ล้านบาท สำหรับไทย ข้อมูลจากกระทรวงพาณิชย์ ระบุว่า ในปี 2561 ไทยส่งออกบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปและอาหารสำเร็จ ไปสหรัฐมูลค่า 6,900 ล้านบาท


การบริโภคบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปในกลุ่มอาเซียน

ข้อมูลจาก World Instant Noodle Association ระบุว่า ในปี 2018 ประเทศในกลุ่มอาเซียนบริโภคบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปรวมกัน 27,620 ล้านซอง/ถ้วย คิดเป็น 27%ของยอดการบริโภคบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปของโลก 

อันดับ 1 ประเทศอินโดนีเซีย 12,540 (ล้านชิ้น)

อันดับ 2 ประเทศเวียดนาม 5,200 (ล้านชิ้น)

อันดับ 3 ประเทศฟิลิปปินส์ 3,980 (ล้านชิ้น)

อันดับ 4 ประเทศไทย 3,460 (ล้านชิ้น)

อันดับ 5 ประเทศมาเลเซีย 1,370 (ล้านชิ้น)

อันดับ 6 ประเทศพม่า 600 (ล้านชิ้น)

อันดับ 7 ประเทศกัมพูชา 330 (ล้านชิ้น)

อันดับ 8 ประเทศสิงคโปร์ 130 (ล้านชิ้น)

อันดับ 9 ประเทศลาว 10 (ล้านชิ้น)

จำนวนการบริโภคบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปของประเทศในกลุ่มอาเซีย ปี 2018 

โดยในพม่า มีแนวโน้มการบริโภคบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว โดยแบรนด์ที่ครองอันดับ 1 คือ ยำยำ , อันดับ 2 มาม่า จากประเทศไทย และอันดับ 3 เป็นแบรนด์จากมาเลเซีย


ส่วนแบ่งการตลาดบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปในประเทศไทย มูลค่ารวม 16,000 ล้านบาท

- มาม่า 46%

- ไวไว 24%

- ยำยำ 23%

- อื่นๆ 7%

แบ่งตามรสชาติ

- รสต้มยำ 50%

- รสไม่เผ็ด 28%

- บะหมี่กึ่งสำเร็จรูปแบบ Premium และนำเข้า 10%

- อื่นๆ 12%

มาม่า เป็นแชมป์บะหมี่กึ่งสำเร็จรูปในไทยมายาวนาน ครองส่วนแบ่งตลาดถึง 50% โดยรสต้มยำกุ้มทำยอดขายได้สูงสุด ซึ่งตลาดบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปในไทยมีมูลค่าประมาณ 16,000 ล้านบาท


รสชาติบะหมี่สำเร็จรูปไทยในระดับโลก

เว็บไซต์ The Ramen Rater ซึ่งเป็นเว็บไซต์ที่รีวิวบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปทั่วโลก ได้ทำการจัด 10 อันดับบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปยอดนิยมในปี 2019 โดยบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปแต่ละยี่ห้อ เขาพยายามทำให้เหมือนรูปภาพหน้าซองมากที่สุด

มาดูกันว่าบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปยี่ห้อไหนอยู่ใน Top 10 บ้าง

อันดับ 10: Indomie Real Meat Mi Instan Goreng Rendang – ประเทศอินโดเนเซีย

อันดับ 9: Sau Tao Tom Yum Kung Flavour Ramen – ฮ่องกง

อันดับ 8: Mom’s Dry Noodle Dan Dan Noodle – ไต้หวัน

อันดับ 7: Red Chef Green Tom Yum Soup Noodles – ประเทศมาเลเซีย

อันดับ 6: Prima Taste Singapore Curry Wholegrain La Mian – ประเทศสิงคโปร์

อันดับ 5: CarJEN Nyonya Curry Laksa – ประเทศมาเลเซีย

อันดับ 4: A-Sha Gourmet Braised Beef Noodle Soup – ไต้หวัน

อันดับ 3: Liangchengmei Biang Biang Men – ประเทศจีน

อันดับ 2: Red Chef Spicy Sakura Prawn Soup Noodles – ประเทศมาเลเซีย

อันดับ 1: Prima Taste Singapore Wholegrain Laksa La Mian — ประเทศสิงคโปร์


10 อันดับบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปของไทยที่อร่อยที่สุด จัดอันดับโดยชาวต่างชาติ จะตรงใจเราไหมมาดูกัน

The Ramen Rater จัดอันดับบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปที่อร่อยที่สุดของไทย 10 อันดับแรก โดย Hans Lienesch ผู้เชี่ยวชาญด้านบะหมี่ บอกว่าตลอดปีทีผ่านมาเขาได้ลิ้มลองบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปของไทยมาทั้งหมด 150 แบบ และนี้คือ 10 อันดับแรกที่อร่อยที่สุดสำหรับเขา 

อันดับ 10 บะหมีกึ่งสำเร็จรูปยี่ห้อม่าม่า รสหมูน้ำตก

อันดับ 9 ไวไว ควิก แสบ รสต้มยำกุ้ง

อันดับ 8 บะหมี่กึ่งสำเร็จรูปยี่ห้อลิตเติ้ลกุ๊ก รสตมยำกุ้ง

อันดับ 7 บะหมี่กึ่งสำเร็จรูปยี่ห้อม่าม่า รสซีฟูดส์ผัดขี้เมาแห้ง

อันดับ 6 บะหมี่กึ่งสำเร็จรูปยี่ห้อยำยำ รสสุกี้

อันดับ 5 บะหมี่กึ่งสำเร็จรูปยี่ห้อ ม่าม่า สไปซี่ชริมซุป

อันดับ 4 บะหมีกึ่งสำเร็จรูปยี่ห้อยำยำ จัมโบ้ รสต้มยำกุ้งน้ำข้น

อันดับ 3 บะหมี่กึ่งสำเร็จรูปยี่ห้อม่าม่า รสต้มยำกุ้งน้ำข้น

อันดับ 2 บะหมี่กึ่งสำเร็จรูปยี่ห้อม่าม่า รสเย็นตาโฟต้มยำหม้อไฟ

อันดับ 1 บะหมี่กึ่งสำเร็จรูปยี่ห้อม่าม่า รสแกงเขียวหวาน

ที่มา :

- https://www.theramenrater.com/top-ten-best-ramen-2019/

- https://www.theramenrater.com/2016/02/22/the-ramen-raters-top-ten-thai-instant-noodles-of-all-time-2016-edition/

- Marketeer : ประมาณโดย ยำยำ 

- Marketeer : ยำยำ และ ไวไว

- World Instant Noodle Association

- World Instant Noodles Association (WINA)

Voice TV
กองบรรณาธิการ วอยซ์ทีวี
185Article
76559Video
0Blog