ไม่พบผลการค้นหา
ที่ประชุม ส.ว. เห็นชอบ พ.ร.บ.โอนงบประมาณแล้ว โดยแนะใช้เงินให้ตรงจุดและต้องไม่มีการทุจริต ประชาชนต้องมีส่วนร่วมและได้ประโยชน์

การประชุมวุฒิสภา ครั้งที่ 9 สมัยสามัญประจำปีครั้งที่ 1 วันที่ 22 มิ.ย. 2563 มีเรื่องด่วนที่ต้องพิจารณา คือ ร่าง พ.ร.บ.โอนงบประมาณรายจ่าย ซึ่งสภาผู้แทนราษฎรลงมติเห็นชอบแล้ว โดยตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 143 วุฒิสภาจะต้องพิจารณาให้ความเห็นชอบหรือไม่ให้ความเห็นชอบภายใน 20 วัน นับแต่วันที่ 19 มิ.ย. 2563 ที่ส่งมายังวุฒิสภา และกรรมาธิการวิสามัญของ ส.ว. ศึกษา พ.ร.บ.โอนงบฯ เสร็จสิ้นแล้ว โดยคณะรัฐมนตรี หรือ ครม.มอบหมายให้นายอุตตม สาวนายน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เข้าแถลงและรับฟังข้อเสนอแนะรวมถึงตัวแทนของสำนักงบประมาณ เข้าชี้แจงประกอบการพิจารณาของ ส.ว.ด้วย

นายอุตตม ย้ำถึงความจำเป็น ของการโอนงบประมาณแต่ละหน่วยงานมาเป็น "งบกลางและงบฉุกเฉิน" เนื่องจากที่ผ่านมารัฐบาลไม่มีงบประมาณที่เพียงพอ จึงได้ใช้งบส่วนนี้ในการแก้ปัญหา โควิด-​19 อีกทั้ง ร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้ จะเป็นเครื่องมือสำคัญของรัฐบาลในการแก้ไขปัญหาและบรรเทาผลกระทบจากโควิด-​19 ซึ่งถือเป็นภัยพิบัติสาธารณะที่ร้ายแรง และเตรียมไว้ช่วยเหลือประชาชน ทั้งในเรื่องภัยพิบัติ และเรื่องฉุกเฉินอื่นๆ โดยจะนำข้อสังเกตและเสนอแนะไปประกอบการพิจารณาใช้งบประมาณให้คุ้มค่า โปร่งใส เกิดประโยชน์ต่อประชาชน พร้อมยืนยันว่ารัฐบาลจะใช้เงินให้มีประสิทธิภาพ 

ขณะที่ มี ส.ว.ร่วมอภิปรายหลายคน ก่อนลงมติ เห็นชอบร่าง พ.ร.บ.โอนงบประมาณ 214 เสียง งดออกเสียง 3 เสียง 

นายวันชัย สอนศิริ กล่าวภายหลังอภิปราย ร่าง พ.ร.บ.โอนงบประมาณ ว่า วุฒิสภามีการศึกษาเรื่องนี้มาตั้งแต่ ครม. เสนอ ต่อเนื่องมาจนถึงการอภิปรายของสภาผู้แทนราษฎร ส่วน ส.ว. ไม่มีอำนาจ ปรับแก้เนื้อหาอะไร เพียงแต่ลงมติเห็นชอบหรือไม่เห็นชอบเท่านั้น โดยการอภิปรายของ ส.ว.ส่วนใหญ่ รวมถึงตนด้วยนั้น มีข้อห่วงกังวลและให้ความสำคัญ หลัก 3 อย่างคือ การโอนงบมาเป็นงบกลางและงบฉุกเฉิน ราว 8.8 หมื่นล้านบาท ต้องใช้ในโครงการที่จำเป็นและตรงกับเป้าหมาย, ไม่มีการทุจริตคอร์รัปชัน และประชาชนต้องมีส่วนร่วมและได้ประโยชน์ ซึ่งเป็นหลักการเดียวกัน กับกรณีเงินกู้ 4 แสนล้านบาท ที่ใช้ในการฟื้นฟูหลังวิกฤตโควิด-19 เช่นเดียวกัน