ไม่พบผลการค้นหา
ครม.รับทราบรายงานผลการดำเนินงานป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ของประเทศไทย ประจำปี 2562 พร้อมจัดทำแอปพลิเคชัน เปิดช่องร้องทุกข์

น.ส.ไตรศุลี ไตรสรณกุล รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยผลการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ว่า ที่ประชุม ครม.มีมติรับทราบตามที่กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ เสนอรายงานผลการดำเนินงานป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ของประเทศไทย ประจำปี 2562 ซึ่งมีสาระสำคัญระบุว่าการจัดสรรงบประมาณเพื่อดำเนินการป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ทั้งระบบเพิ่มร้อยละ 4.53 รวม 3,806.82 ล้านบาท จากปี 2561 ที่มีจำนวน 3,641.98 ล้านบาท  

ขณะที่มีการสืบสวนปราบปรามคดีค้ามนุษย์ 288 คดี ซึ่งจำแนกเป็นการแสวงหาประโยชน์จากการค้าประเวณี การผลิตหรือเผยแพร่วัตถุหรือสื่อลามก และการแสดงหาประโยชน์ทางเพศในรูปแบบอื่นๆ รวม 185 คดี การนำคนมาขอทาน 9 คดี การบังคับใช้แรงงาน 94 คดี โดยจับกุมผู้ต้องหา 555 คน แบ่งเป็นชาย 330 คน หญิง 225 คน สัญชาติไทย 402 คน เมียนมา 120 คน กัมพูชา 4 คน ลาว 6 คน และอื่น ๆ 23 คน รวมทั้งช่วยเหลือผู้เสียหายจากการค้ามนุษย์ 1,821 คน ซึ่งแบ่งเป็นชาย 1,158 คน หญิง 663 คน สัญชาติไทย 251 คน เมียนมา 1,306 คน กัมพูชา 96 คน ลาว 38 คน และอื่น ๆ 130 คน

ส่วนการดำเนินคดีชั้นพนักงานสอบสวนมีจำนวน 288 คดี อยู่ระหว่างการสอบสวน 39 คดี สอบสวนเสร็จสิ้น 249 คดี และมีความเห็นควรสั่งฟ้องทั้งหมด 249 คดี ชั้นพนักงานอัยการ 364 คดี ดำเนินการแล้วเสร็จ 351 คดี และชั้นศาล 396 คดี พิพากษาเสร็จสิ้น 283 คดี และมีคำพิพากษาให้จำเลยชดใช้ค่าสินไหมทดแทนแก่ผู้เสียหาย 54,180,366 บาท  

อีกทั้งมีการใช้มาตรการลงโทษเจ้าหน้าที่รัฐที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการค้ามนุษย์อย่างต่อเนื่องและจริงจัง และทำให้จำนวนเจ้าหน้าที่ดังกล่าวลดลงอย่างชัดเจน โดยในปี 2562 มีการชี้มูลความผิดและมีความเห็นสั่งฟ้องเจ้าหน้าที่รัฐ 4 คนที่ถูกกล่าวหาว่าเกี่ยวข้องกับการค้ามนุษย์เมื่อปี 2560 รวมทั้งตัดสินจำคุกเจ้าหน้าที่รัฐ 6 คน ที่ถูกดำเนินคดีระหว่างปี 2558-2561 ในฐานความผิดที่เกี่ยวข้องระวางโทษตั้งแต่ 34-225 ปี

สำหรับผู้เสียหายที่เลือกเข้ารับการคุ้มครองในสถานคุ้มครองของรัฐและเอกชน มีจำนวน 1,560 คน ของจำนวนผู้เสียหายในคดีค้ามนุษย์ 1,821 คน ขณะที่ผู้เสียหายที่ไม่ประสงค์เข้ารับการคุ้มครองในสถานคุ้มครองของรัฐและเอกชน แต่ได้รับการคุ้มครองตามสิทธิอื่นๆ ที่พึงได้รับ มีจำนวน 261 คน

นอกจากนี้ รัฐบาลได้จ่ายเงินชดเชยเยียวยาให้แก่ผู้เสียหายจากกองทุนเพื่อการป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ 11.87 ล้านบาท เพิ่ม 93 เปอร์เซ็นต์ เมื่อเปรียบเทียบกับปี 2561 ซึ่งจ่ายไป 6.15 ล้านบาท  

รวมถึงได้จัดทำบัตรประจำตัวให้ผู้เสียหายที่เป็นต่างชาติ 1,222 คน เพื่อใช้อยู่ในราชอาณาจักรเป็นการชั่วคราว และอนุญาตให้สามารถเดินทางออกไปภายนอกสถานคุ้มครอง เช่น ไปเรียน ไปทำงาน ไปร่วมกิจกรรมต่างๆ เมื่อไม่ต้องมีความกังวลเรื่องความปลอดภัย อีกทั้งกำหนดให้นายจ้างใช้สัญญาจ้าง 3 ภาษาไว้ในฉบับเดียวกัน ซึ่งประกอบด้วยภาษาของแรงงานต่างชาติ ภาษาไทย และภาษาอังกฤษ เพื่อใช้เป็นเอกสารประกอบการต่อใบอนุญาตทำงานของแรงงานต่างด้าว รวมถึงมีการจัดทำแอปพลิเคชัน ชื่อ “PROTECT-U” เพื่อเพิ่มช่องทางสำหรับผู้เสียหายจากการค้ามนุษย์ให้เข้าถึงบริการการช่วยเหลือคุ้มครอง และเป็นช่องทางรับแจ้งเบาะแสเมื่อพบเหตุค้ามนุษย์

น.ส.ไตรศุลี กล่าวอีกว่า นอกจากนี้ยังได้เพิ่มประสิทธิภาพเจ้าหน้าที่บังคับใช้กฎหมาย เช่น พนักงานตรวจแรงงานให้มีความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับการบังคับใช้กฎหมายว่าด้วยการคุ้มครองแรงงานกฎหมายว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ และการฝึกอบรมพัฒนาศักยภาพเจ้าหน้าที่บังคับใช้กฎหมาย ทีมสหวิชาชีพ และผู้ปฏิบัติงานป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ทั่วประเทศ เกี่ยวกับพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ พ.ศ. 2561 และที่แก้ไขเพิ่มเติมให้สามารถปฏิบัติงานได้อย่างถูกต้องในการดำเนินคดีและตัดสินโทษผู้ค้ามนุษย์ด้านแรงงาน รวมทั้งคัดแยกผู้เสียหายจากการค้ามนุษย์ด้านแรงงาน