ไม่พบผลการค้นหา
สหรัฐฯ สหราชอาณาจักร และออสเตรเลีย ผนึกกำลังด้านความมั่นคง แบ่งปันเทคโนโลยีขั้นสูงด้านกลาโหมเพื่อลดทอนอำนาจของจีนแผ่นดินใหญ่ ปูทางสู่การครอบครองเรือดำน้ำพลังงานนิวเคลียร์ของออสเตรเลียครั้งแรกในประวัติศาสตร์ พร้อมยกระดับขีดความสามารถด้านปัญญาประดิษฐ์ ความมั่นคงทางไซเบอร์ เทคโนโลยีควอนตัม และขีดความสามารถใต้ท้องทะเล

สำนักข่าว BBC รายงานว่าประธานาธิบดี โจ ไบเดนของสหรัฐฯ นายกรัฐมนตรีบอริส จอห์นสัน ของสหราชอาณาจักร และสก็อตต์ มอริสัน นายกรัฐมนตรีของออสเตรเลีย ได้ร่วมกันลงนามความร่วมมือทางกลาโหม ซึ่งถูกเรียกว่า AUKUS


เรือดำน้ำพลังงานนิวเคลียร์ลำแรกของกองทัพเรือออสเตรเลีย

แถลงการณ์ฉบับดังกล่าวระบุว่าโครงการแรกภายใต้ความร่วมมือ AUKUS นี้ ทั้งสามชาติพันธมิตรจะยึดมั่นในการแบ่งปันและสนับสนุนออสเตรเลียในการครอบครองเรือดำน้ำพลังงานนิวเคลียร์เพื่อการใช้งานของกองทัพเรือออสเตรเลียครั้งแรกในประวัติศาสตร์ อันจะนำไปสู่การยกระดับความมั่นคงในภูมิภาคอินโดแปซิฟิก และดำเนินการด้วยการยึดมั่นในคุณค่าและผลประโยชน์ร่วมของทั้งสามประเทศ คาดว่าจะบรรลุผลในการเพิ่มขีดความสามารถให้กับออสเตรเลียได้โดยเร็วที่สุด

แถลงการณ์ย้ำชัดว่าแม้จะมีการผลักดันให้ออสเตรเลียสามารถเพิ่มขีดความสามารถทางกลาโหมด้วยการครอบครองเรือดำน้ำพลังงานนิวเคลียร์ แต่หลังจากนี้ไปออสเตรเลียจะยังคงยึดมั่นในการเป็นสมาชิกของกลุ่มประเทศปลอดอาวุธนิวเคลียร์ต่อไป ขณะที่การลงนามความร่วมมือครั้งนี้จะครอบคลุมไปถึงการยกระดับขีดความสามารถทางไซเบอร์ ขีดความสามารถทางปัญญาประดิษฐ์ และขีดความสามารถใต้ท้องทะเลที่เพิ่มมากขึ้นอีกด้วย


ยกเลิกดีบกับฝรั่งเศสมูลล่า 1.64 ล้านล้านบาท

หลังการลงนามในความร่วมมือฉบับนี้ออสเตรเลียได้ทำการยกเลิกดีลสำคัญในการสั่งซื้อเรือดำน้ำสัญชาติฝรั่งเศส โดยก่อนหน้านี้ในปี 2559 ฝรั่งเศสชนะการประมูลการเป็นผู้ผลิตเรือดำน้ำจำนวน 12 ลำให้กับประเทศออสเตรเลียเป็นจำนวนเงินทั้งสิ้น 5 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือราว 1.64 ล้านล้านบาท ถือเป็นการลงนามทำสัญญาจัดซื้อด้านกลาโหมที่ใหญ่ที่สุดของออสเตรเลีย

หนึ่งในอุปสรรคสำคัญที่ทำให้การผลิตเรือดำน้ำจากประเทศฝรั่งเศสให้กับกองทัพเรือของออสเตรเลียเกิดความล่าช้าอย่างมากก็คือข้อกำหนดของรัฐบาลออสเตรเลียที่สั่งให้ชิ้นส่วนการผลิตจำนวนมากต้องเป็นการสั่งซื้อจากผู้ผลิตชิ้นส่วนในประเทศออสเตรเลียเท่านั้น


‘กองทัพจีน’ คือความกังวลร่วม

รัฐบาลของสหราชอาณาจักรย้ำว่านี่คือข้อตกลงความร่วมมือด้านกลาโหมที่สำคัญมากเพราะจะเป็นการยกระดับความมั่นคงของภูมิภาคอินโดแปซิฟิกที่มีความสำคัญเพิ่มมากขึ้นอย่างต่อเนื่องทั้งต่อสหรัฐฯ และสหราชอาณาจักร โดยนอกจากจะเป็นการปกป้องผลประโยชน์ร่วมของทั้งสามชาติแล้วยังจะเป็นการปกป้องพลเมืองของทั้งสามประเทศอีกด้วย

แม้ว่ารัฐบาลของสหราชอาณาจักรจะยืนยันว่าข้อตกลงความร่วมมือด้านกลาโหมในครั้งนี้ไม่ได้เป็นการตอบโต้ไปยังประเทศใดประเทศหนึ่ง แต่มีการยืนยันว่าความร่วมมือนี้เกิดขึ้นเพื่อสร้างความรุ่งเรืองผาสุข ความปลอดภัย และความมั่นคงให้กับภูมิภาค และจะเป็นการส่งเสริมระเบียบโลกที่ยึดถือกฎเกณฑ์เป็นหลัก ซึ่งแน่นอนว่าทุกประเทศทราบดีว่าทางสหราชอาณาจักร สหรัฐฯ และออสเตรเลีย ต่างก็มีความกังวลร่วมคือความพยายามในการขยายขีดความสามารถทางการทหารของประเทศจีนในพื้นที่อินโดแปซิฟิกอย่างต่อเนื่อง