ไม่พบผลการค้นหา
รายงานจับตาเศรษฐกิจไทย ฉบับเดือน ก.ค.2564 ของธนาคารโลก (World Bank) พบทั้งโอกาสและความเสี่ยงที่ซุกซ่อนอยู่ในสัดส่วนที่ไม่สมดุลกัน

หากกล่าวคร่าวๆ โอกาสหนึ่งเดียวของประเทศคงต้องหันไปพึ่งภาคการส่งออกที่ได้อิทธิพลจากเศรษฐกิจของประเทศอื่นที่เริ่มฟื้นตัวกันแล้ว และหากจะมีปัจจัยที่อาจสนับสนุนอัตราการเติบโตของประเทศ (จีดีพี) ได้เพิ่มเติม (แต่ก็ไม่ใช่ผลดีทั้งหมด) ธนาคารโลกพบว่าแม้ระดับหนี้สาธารณะมีแนวโน้มเพิ่มสูงเกินเพดานที่ 60% - ตัวเลขประเมินอยู่ที่ 62% ในปี 2565 - แต่ยังนับว่า “มีความยั่งยืนอยู่”

เกียรติพงศ์ อริยปรัชญา นักเศรษฐศาสตร์อาวุโสประจำประเทศไทยของธนาคารโลก อธิบายว่า สาเหตุที่เป็นเช่นนั้นเพราะ เมื่อวิเคราะห์พลวัตของหนี้สาธารณะและจีดีพีในอดีตและแนวโน้มในอนาคตมองว่ายังอยู่ในเกณฑ์ที่ไม่ก่อให้เกิดปัญหาในระยะกลาง

อีกทั้งหนี้ส่วนมากนั้นอยู่ในรูปสกุลเงินบาท ขณะที่สภาพคล่องของไทยยังเยอะพอสมควร เหนือสิ่งอื่นใด มาตรการทางการคลังของประเทศยังนับว่ามีความสำคัญอย่างมากกับการเยียวยาประชาชนและอุ้มเศรษฐกิจไม่ให้ตกต่ำไปกว่านี้ 

คนไทย เด็ก โควิด ประชาชน คนจน
  • ที่มา; ธนาคารโลก

แม้จะมีปัจจัยสนับสนุนสองประการข้างต้น แต่ไทยยังเผชิญความเสี่ยงอีกมาก ประมาณการจีดีพีไทยประจำปี 2564 ของธนาคารโลก จึงลดจากตัวเลขเดิมเดือน มี.ค.ที่ 3.4% ลงมาเหลือ 2.2% เท่านั้น ขณะที่มุมมองต่อปี 2565 อยู่ที่ราว 5.1%


ปลดล็อกวัคซีน ปลดล็อดเศรษฐกิจ

ปัญหาใหญ่ของเศรษฐกิจไทยยังมีน้ำหนักมากที่สุดจากการแพร่ระบาดของเชื้อโควิด-19 หลายระลอก ควบคู่ไปกับการกระจายวัคซีนที่ไม่เพียงพอ เหตุปัจจัยข้างต้นทำให้รัฐบาลต้องเลือกใช้นโยบายควบคุมสถานการณ์ที่ไม่เอื้อให้เศรษฐกิจกลับไปหมุนอีกครั้ง ทั้งยังต้องนำงบประมาณหรือเงินกู้มาเยียวยาประชาชนเพิ่มเติม แทนที่จะได้นำเงินส่วนนั้นไปต่อยอดต่อการฟื้นฟูเศรษฐกิจ 

นอกจากเศรษฐกิจภายในประเทศที่ชะงักแล้ว ความหวังต่อการได้นักท่องเที่ยวชาวต่างชาติเข้ามาก็หยุดลงเช่นเดียวกัน ธนาคารโลกมองว่า ตัวเลขนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติที่เคยมองว่าจะสูงถึง 4-5 ล้านคน จะลดลงมาเหลือเพียง 600,000 คน ตลอดทั้งปีนี้ และต้องไม่ลืมว่าไทยเคยมีนักท่องเที่ยวสูงถึง 40 ล้านคนในปี 2562 

ในห้วงเวลาเดียวกัน ระบบการบริหาร แจกจ่าย และกระจายวัคซีนก็มีปัญหาอย่างต่อเนื่อง ทำให้ความสามารถในการฉีดวัคซีนตามเป้าหมายการฉีดวัคซีนให้ประชากร 70% หรือราว 50 ล้านคน ภายในสิ้นปี 2564 เป็นไปได้ยาก 


เงินกู้ 1 ล้านล้านบาท และ 5 แสนล้านบาท 

ธนาคารโลกย้ำว่า หากไม่มีการช่วยเหลือประชาชนจากงบเงินกู้ 1 ล้านล้านบาทนั้น อาจทำให้สังคมไทยมีประชากรผู้ยากจนเพิ่มขึ้น 1.2% ในปี 2563 ซึ่งหมายความว่าจะมีคนจนเพิ่มขึ้นกว่า 700,000 คน

อย่างไรก็ตาม ฟรานเชสกา ลามานนา นักเศรษฐศาสตร์อาวุโสของธนาคารโลก ชี้ว่ายังมีแรงงานนอกระบบอีกมากที่ไม่ได้รับความช่วยเหลือหรือคุ้มครองทางสังคมที่เพียงพอและรัฐบาลต้องเร่งปรับปรุงโดยเร็ว 

ในเดือน เม.ย.2563 รัฐบาลอนุมัติ พ.ร.ก.กู้เงิน 1 ล้านล้านบาท (ประมาณ 6% ของ GDP) เพื่อใช้ในมาตรการเยียวยา ให้บริการด้านการแพทย์และทําโครงการเพื่อฟื้นฟูทางเศรษฐกิจและสังคม ซึ่งเป็นงบประมาณก้อนสําคัญของการมาตรการด้านการคลังเพื่อต่อสู้กับการระบาดของโควิด-19 

โดยเมื่อมาถึงเดือน พ.ค.2564 งบประมาณที่ตั้งไว้เกือบทั้งหมดก็ได้มีการจัดสรรไปตามนโยบายที่กําหนดไว้เกือบทั้งหมด และกว่าสองในสามของงบที่ตั้งไว้ก็ได้เบิกจ่ายเรียบร้อยแล้ว ส่วนที่เหลืออยู่คาดว่าน่าจะมีการเบิกจ่ายทั้งหมดก่อนสิ้นเดือน ก.ย.2564 

กว่า 70% ของการใช้จ่ายเพื่อต่อสู้กับการระบาดของโควิด-19 ได้ถูกจัดสรรไปเพื่อช่วยเหลือครัวเรือนผ่านการให้เป็นเงินสดและเป็นเงินอุดหนุน โดยมีการจัดสรรไปช่วยสนับสนุนการฟื้นตัวของภาคธุรกิจเอกชนไม่มากนัก

การจัดสรรงบประมาณนี้สะท้อนให้เห็นถึงผลกระทบจากการระบาดของโควิด-19 รอบที่สองและรอบที่สาม ซึ่งแพร่กระจายออกไปทําให้เกิดภาวะชะงักงันทางเศรษฐกิจอย่างรุนแรง และความต้องการที่จะช่วยบรรเทาผลกระทบที่มีกับครัวเรือนก็มากกว่าที่คาดการณ์ไว้ในช่วงแรก ในเดือน พ.ค.2564 รัฐบาลประกาศอนุมัติ พ.ร.ก.กู้เงินเพิ่มเติมอีก 5 แสนล้านบาท เพื่อจะใช้ในการช่วยเหลือครัวเรือนและคาดว่าจะกระตุ้นจีดีพีให้เพิ่มขึ้นได้อีกประมาณ 1.5% เมื่อเทียบกับกรณีฐานที่คาดไว้เดิม

ในช่วงท้าย ธนาคารโลกกลับมาย้ำอีกครั้งว่า ระดับหนี้ที่เกิดจาก พ.ร.ก.เงินกู้ทั้งสองฉบับนั้น แม้จะทะลุเพดาน แต่ยังอยู่ในสภาพที่รับได้และมีความจำเป็น ส่วนประเด็นที่แท้จริงคือการเบิกจ่ายที่มีประสิทธิภาพและกลยุทธ์การเยียวยาประชาชนผู้เดือดร้อนจริงๆ อย่างตรงจุด ไม่ใช่หว่านแหไปทั่ว