รัฐบาลจีนแถลงตัวเลขการเติบโตทางเศรษฐกิจปี 2561 อย่างเป็นทางการเมื่อวันจันทร์ที่ผ่านมา โดยมีอัตราการเติบโตอยู่ที่ร้อยละ 6.6 นับเป็นการเติบโตต่ำสุดตั้งแต่ปี 2533 การแถลงครั้งนี้ได้รับการจับตามองจากทั่วโลกท่ามกลางปัญหาข้อพิพาททางการค้าระหว่างจีนและสหรัฐฯ คู่ค้ารายใหญ่ที่สุดของจีน
สำนักข่าวรอยเตอร์ สำรวจความคิดเห็นจากบรรดานักเศรษฐศาสตร์เกี่ยวกับตัวเลขการเติบโตทางเศรษฐกิจจีนในปีที่ผ่านมา โดยผลการสำรวจมีความสอดคล้องกับตัวเลขการแถลงอย่างเป็นทางการของจีน ที่มาการคาดการว่าจะลดลงจากร้อยละ 6.8 ในปี 2560 ตัวเลขผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ หรือ จีดีพี ในไตรมาสที่ 4 ของปี 2561 เติบโตที่ร้อยละ 6.4 ซึ่งเป็นไปตามการคาดการณ์ โดยตัวเลขในไตรมาสที่ 4 ต่ำกว่าจีดีพีในไตรมาสที่ 3 ของปี 2561 ที่อยู่ที่ร้อยละ 6.5
อย่างไรก็ตาม เศรษฐกิจจีนยังพอจะมีแสงสว่างท่ามกลางความมืดมิดบ้าง อัตราการเติบโตในด้านผลผลิตอุตสาหกรรมเติบโตที่ร้อยละ 5.7 ในเดือนธันวาคมที่ผ่านมา ซึ่งเหนือการคาดการณ์ของนักเศรษฐศาสตร์ที่มองไว้ที่เพียงร้อยละ 5.3 และยังเติบโตมากกว่าเดือนพฤศจิกายนที่อยู่ที่ร้อยละ 5.4 ในขณะที่ยอดการค้าปลีกโตขึ้นร้อยละ 8.2 ในเดือนธันวาคม โตขึ้นจากเดือนก่อนหน้าที่อยู่ที่ร้อยละ 8.1
"สิ่งที่เราเห็นในไตรมาสที่ 4 คือ ในขณะที่เศรษฐกิจกำลังชะลอตัวลง เรายังได้รับการสนับสนุนจากการส่งออกล่วงหน้าในไตรมาสก่อนๆ" เฮเลน ซู หัวหน้าฝ่ายสินทรัพย์จีนจากแบล็คร็อค (BlackRock) กล่าว
ซูเสริมว่า แม้ว่าเธอจะคาดการณ์ว่าการบริโภคภายในประเทศและการลดภาษีจะมาช่วยหนุนเศรษฐกิจ อย่างไรก็ตามการเติบโตในปี 2562 จะต่ำลงอย่างแน่นอนเมื่อเทียบกับปี 2561
แม้ว่าตัวเลขการเติบโตทางเศรษฐกิจของจีนจะถูกนำมาเป็นเครื่องบ่งชี้ของเศรษฐกิจอันดับที่สองของโลก หลายฝ่ายยังคงตั้งข้อสังเกตในเรื่องความถูกต้องของรายงานฉบับนี้
"ตัวเลขจีดีพีอย่างเป็นทางการคงที่มากเกินไปในช่วงหลายปีที่ผ่านมาที่จะใช้เป็นตัวบอกถึงศักยภาพของเศรษฐกิจจีนที่ดีได้" จูเลียน อีวาน พริทชาร์ด นักเศรษฐศาสตร์อาวุโสด้านประเทศจีนจากสภาบันวิจัยแคปิตอล อีโคโนมิค (Capital Economics) กล่าว
การเข้าสู่ช่วงถดถอย
นับตั้งแต่ปี 2010 จีนกลายเป็นประเทศที่มีเศรษฐกิจใหญ่เป็นอันดับ 2 ของโลกรองจากสหรัฐฯ จีนใช้การค้า เทคโนโลยีและกำลังการทหารที่กำลังเติบโตนี้ขยายอิทธิพลไปทั่วโลก
แต่อย่างไรก็ตามเศรษฐกิจที่ขยายตัวด้วยตัวเลข 2 หลักมานับตั้งแต่ช่วงทศวรรษ 1990 นั้นกลับสิ้นสุดลงในช่วงระยะเวลาดังกล่าวเช่นกัน เนื่องจากการขยายตัวของสังคมผู้สูงอายุ การเปลี่ยนแนวทางการลงทุนของต่างชาติที่หันไปลงทุนในประเทศกำลังพัฒนารวมถึงปัจจัยอื่นๆอีก
อย่างไรก็ตามตัวเลขเศรษฐกิจจีนที่เติบโตเพียงหนึ่งหลักในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมานี้ นักวิเคราะห์หลายคนระบุว่าถือเป็นความจงใจของจีนด้วยเช่นกัน เนื่องจากจีนต้องการลดปัญหาด้านสิ่งแวดล้อมการพยายามแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำภายในประเทศ ทำให้จีนหันมาพึ่งพาการบริโภคภายในประเทศมากขึ้น รวมไปถึงสงครามการค้าและความผันผวนในการส่งออกจากต่างประเทศด้วยเช่นกัน
ความขัดแย้งไม่ใช่เหตุผลทั้งหมด
ผู้อำนวยการสำนักงานสถิติแห่งชาติของจีนกล่าวเมื่อวันจันทร์ (21 ม.ค.) ว่า เศรษฐกิจของประเทศจีนได้รับผลกระทบจากสงครามการค้าแต่ยังเป็นผลกระทบที่สามารถควบคุมได้
จีนมีความพยายามในการควบคุมการชะลอตัวของเศรษฐกิจจีนตั้งแต่ก่อนมีปัฐหาสงครามการค้าแล้ว โดยรัฐบาลพยายามสร้างความสมดุลระหว่างการเติบโตทางเศรษฐกิจและการจัดการกับหนี้สาธารณะที่สูงลิ่ว แม้การจัดการกับหนี้สาธารณะของประเทศจะส่งผลดีในระยะยาว แต่ต้องแลกไปกับตัวเลขการเติบโตทางเศรษฐกิจเช่นกัน
อย่างไรก็ตามปฏิเสธไม่ได้ว่าตัวเลขเศรษฐกิจจีนถูกใช้เป็นตัวบ่งชี้ถึงผลกระทบจากสงครามการค้า
อ้างอิง; CNBC, Channel NewsAsia