ไม่พบผลการค้นหา
ศูนย์เด็กเกียกายรับเด็กมาดูแลแล้ว 18 คน ผู้หญิง 12 คน ผู้ชาย 6 คน โดยศักยภาพของศูนย์นี้รองรับได้ ผู้ป่วยเด็กได้ 52 เตียง

หลังจากรัฐบาลเปลี่ยนนโยบายให้มีการกักตัวที่บ้านหรือชุมชน (Home Isolation/Community Isolation) หลายเขตเริ่มจัดตั้งศูนย์ดังกล่าวให้ผู้ป่วยโควิดที่บ้านแออัดได้มีที่แยกกักตัวรวม

เขตดุสิต พิเศษกว่าที่อื่นเนื่องจากสร้างศูนย์พักคอยสำหรับเด็กโดยเฉพาะ (ศูนย์สร้างสุขทุกวัยเกียกกาย) เปิดมาตั้งแต่วันที่ 16 ก.ค. รองรับเด็กในทุกเขตของ กทม. ตั้งแต่อายุ 6-7 ปีหรือช่วงอายุที่ช่วยตัวเองได้ จนถึงไม่เกิน 15 ปี และขยายมากกว่านั้นอีกเล็กน้อย โดยพ่อแม่ต้องเซ็นยินยอมให้มาอยู่ที่ศูนย์จนกว่าจะหารพ.สนามได้ หรือจนครบ 14 วัน

ศูนย์พักคอยเด็ก_โควิด_Patipat_003.jpgศูนย์พักคอยเด็ก_โควิด_Patipat_004.jpgศูนย์พักคอยเด็ก_โควิด_Patipat_007.jpg

ณ วันที่ 23 ก.ค. ศูนย์เด็กเกียกายรับเด็กมาดูแลแล้ว  18 คน ผู้หญิง 12 คน ผู้ชาย 6 คน อายุน้อยที่สุด 7 ขวบ และอายุมากที่สุด 15 ปี โดยศักยภาพของศูนย์นี้รองรับผู้ป่วยเด็กได้ 52 เตียง แบ่งเป็นชาย 26 เตียง และหญิง 26 เตียง แบ่งแยกพื้นที่เป็นสัดส่วน

“โดยหลักการ จริงๆ คุณพ่อคุณแม่ไม่อยากให้เด็กมาอยู่ อยากดูแลเอง แต่เนื่องจากชุมชนบางแห่งสภาพอยู่อย่างแออัด การแยกสัดส่วนทำไม่ได้ จึงขอความกรุณามาทางเรา เพื่อมาอยู่ตรงนี้ ลดการแพร่กระจาย เป็น Community Isolation” ดิชา คงศรี ผู้อำนวยการเขตดุสิตกล่าว

ช่องทางในการติดต่อนั้น ทางครอบครัวจะติดต่อผ่านศูนย์เอราวัณ เพื่อทำการประเมินอาการ และหากเป็นสีเขียว ศูนย์เอราวัณก็สามารถส่งต่อมายังศูนย์เด็กเกียกกาย เนื่องจากที่นี่ไม่มีหมอและพยาบาล มีเพียงเจ้าหน้าที่ของเขตดูแลประจำจัดเวรดูแลเวรละ 3 คน และฝ่ายพัฒนาชุมชนอีก 4 คน คอยประสานและรับเคส หากเด็กคนใดเริ่มมีอาการก็จะปรึกษาแพทย์ แต่ที่ผ่านมาทุกคนยังสุขภาพปกติ

“กรณีที่เข้ามาก็มีหลายแบบ ทั้งพ่อแม่ติดไปแล้ว เด็กเพิ่งทราบผลว่าติด หรือบางทีอยู่กับปู่ย่าตายาย ผลเด็กออกก่อน ก็ต้องแยกเด็กออก ไม่งั้นปู่ย่าตายายจะเป็นหนัก บางเคสก็ติดทั้งครอบครัวแล้วแยกกันไป ไม่สามารถไปด้วยกันได้ ถ้าเด็กอายุน้อยก็ต้องไปกับครอบครัว แต่สำหรับเด็กโตหน่อยบางทีเตียงเต็ม ถ้าไปทั้งครอบครัวต้องมีห้องกักทั้งครอบครัวซึ่งคงมีจำกัดมาก” ชุติสา ศาสตร์สาระ หัวหน้าฝ่ายพัฒนาชุมชนและสวัสดิการสังคม เขตดุสิตกล่าว

ชุติสาอธิบายเพิ่มเติมว่า เมื่อเด็กๆ เข้ามาอยู่ที่ศูนย์ จะมีเจ้าหน้าที่คอยดูและระยะไกลผ่านระบบ intercom และสื่อสารกันผ่านไลน์กลุ่ม ไม่มีการเข้าไปสัมผัสพูดคุยโดยตรงกับเด็ก การทำความสะอาดในพื้นที่กักตัวก็ให้เด็กๆ ช่วยกันเอง ส่วนกิจกรรมในแต่ละวันจะมีเกมให้เล่น มีมุมหนังสือ มีโทรทัศน์ให้ดู และมี wi-fi ให้ด้วย

“เมื่อเด็กถูกส่งตัวมาที่นี่ เรามีจุดแรกรับที่ใส่ชุดพีพีอี คุยกับเด็ก ทำประวัติ วัดอุณหภุมิ วัดความดัน ค่าออกซินเจน จากนั้นจะมีถุงแรกรับให้ ข้างในมีผ้าเช็ดตัว แฟ้บ สบู่ ยาสีฟัน ผ้าอนามัย ข้างบนห้องนอนรวมจะมีชุดสุขภาพ คู่มือสุขภาพประจำตัวของเด็กแต่ละคน จะมีการวัดความดัน วัดค่าออกซิเจนทุกวัน เด็กจะต้องวัดแล้วส่งภาพให้เราทางไลน์กลุ่มเพื่อเราบันทึกทุกวัน หากมีอาการพิเศษ เช่น ไข้ขึ้น เราจะปรึกษาหมอโดยตรง”

“เด็กทุกคนมีโทรศัพท์ สามารถติดต่อพ่อแม่ได้ตลอด ที่นี่เราไม่มีการให้ซักผ้า พ่อแม่เตรียมเสื้อผ้ามาเปลี่ยนและนำไปซักได้ เราให้ 3 ช่วงเวลา 7.00 11.00 16.00 น.โดยเราจะนำอาหารไปให้ พร้อมเสื้อผ้า ของใช้ ขนมที่พ่อแม่ฝากมา ถ้าจะฝากเสื้อผ้ากลับไปซัก เราก็จะประกาศนัดกัน ใครมีของก็เอามา แล้วเราจะนำเสื้อผ้าออกมาให้พ่อแม่ ทุกคนจะไม่ได้เจอตัวกัน เห็นหน้ากันทางไลน์เท่านั้น”

“เด็กๆ เขาเข้ากันได้ดี เล่นกันเป็นกลุ่มเป็นก้อน เราจะคอยสอบถามตลอด ที่ผ่านมามีผู้ใจบุญนำขนมนมเนย เคเอฟซี พิซ่า โดนัท มาให้เรื่อยๆ และสิ่งที่ต้องเปลี่ยนตลอดเมื่อคนใหม่เข้ามาคือชุดที่นอนปิกนิกและผ้าห่ม เพราะไม่สามารถใช้ร่วมกันได้”  

แม้จะได้รับคำยืนยันจากเจ้าหน้าที่ที่ดูแลศูนย์ซึ่งพยายามดูแลกันตลอด 24 ชม. แต่ก็เป็นการดูแลระยะไกล และการกักตัวในพื้นที่จำกัดที่อาจกินยาวนานถึง 14 วัน การกักตัวโดยไม่ได้เจอพ่อแม่ผู้ปกครองย่อมเป็นโจทย์ใหญ่สำหรับเด็ก ยิ่งเป็นเด็กที่อายุน้อยยิ่งน่าจะยากลำบาก และไม่ใช่ทุกคนที่จะรับมือกับสถานการณ์เช่นนี้ได้ดี ดังนั้น หากจะมีนักจิตวิทยาเด็กที่เข้ามาช่วยทางเขตดูแล ใส่ชุดพีพีอีเข้าไปนั่งเล่นกับพวกเขาได้บ้างก็น่าจะช่วยให้สถานการณ์ตึงเครียดหรืออาการ home sick ที่อาจเกิดขึ้นในเด็กบางคนดีขึ้นได้

ทั้งนี้ ติดต่อศูนย์พักคอยสำหรับเด็ก เกียกกาย ได้ที่ 061-3431677 Line ID: 0613431677

ศูนย์พักคอยเด็ก_โควิด_Patipat_008.jpgศูนย์พักคอยเด็ก_โควิด_Patipat_009.jpgศูนย์พักคอยเด็ก_โควิด_Patipat_011.jpg