ไม่พบผลการค้นหา
ยังคงอีรุงตุงนักงสำหรับการเปิดเมืองเส้นเลือดใหญ่ทางการท่องเที่ยว 5 เมืองอย่าง กทม., ชลบุรี (พัทยา, บางละมุง,สัตหีบ), เพชรบุรี (ชะอำ), ประจวบฯ (หัวหิน), เชียงใหม่ (เมือง, แม่แตง, แม่ริม, ดอยเต่า) ในวันที่ 1 ต.ค.ยกเว้น กทม.จะเป็น 15 ต.ค. แบบที่ให้นักท่องเที่ยวที่ฉีดวัคซีนแล้วเที่ยวได้เลยไม่ต้องกักตัว

เบื้องต้นทั้งเจ้ากระทรวงสาธารณสุข, ศบค. รวมถึงผู้ว่ากทม.ประสานเสียงว่ายังไม่มีมติใดๆ ขณะที่ พิพัฒน์ รัชกิจประการ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงท่องเที่ยวฯ ยังยืนยันว่าวันที่ 23 ก.ย. จะนำเสนอข้อมูลให้ ศบค.พิจารณา

หากดูอัตราการฉีดวัคซีน ‘ครบ 2 เข็ม’ จะพบว่า

  • ทั้งประเทศมี 21% (14.2 ล้านคน)
  • เฉพาะในกทม.มี 37%
  • ในจำนวน 14.2 ล้านนี้ ข้อมูลจากกรมควบคุมโรคระบุว่าเป็นซิโนแวค 3.5 ล้าน ซิโนฟาร์ม 2 ล้าน ซึ่งแม้ไม่ต้องการ ‘ด้อยค่า’ วัคซีน แต่ก็เป็นที่ยอมรับในข้อมูลวิทยาศาสตร์ว่าวัคซีนเชื้อตายที่ประสิทธิผล ‘ป้องกันการติด’ สายพันธุ์เดลต้าต่ำที่สุด
  • หากพิจารณาว่าเพิ่มเติมปัจจัยอีกประการว่า หลังฉีดครบ 3-6 เดือนภูมิจะตกลง ต้องฉีดกระตุ้น จะพบว่า ผู้ที่รับซิโนแวคสองเข็มตั้งแต่ 30 มิ.ย.มีอยู่จำนวน 2.7 ล้าน (ในจำนวนเป็นบุคลากรทางการแพทย์ราว 7 ล้านซึ่งได้รบการฉีดกระตุ้นแล้ว) แปลว่า 2 ล้านคนที่ฉีดแล้วไม่อาจนับรวมได้ ควรต้องฉีดใหม่

ดังนั้น ความพร้อมในด้านภูมิคุ้มกันที่รัฐมอบให้กับประชาชนดูเหมือนยังเป็นโจทย์ใหญ่ที่ต้องเร่งมือหากจะเปิดเมือง และเมื่อดูสปีดในการฉีดจะพบว่ายังต้องเร่งมืออีกมาก เพราะ ระหว่างวันที่ 1 – 15 กันยายน 2564 สามารถดำเนินการฉีดวัคซีนได้ 9,877,513 โดส (เฉลี่ย 658,500 โดสต่อวัน) หากฉีดในอัตรานี้จะต้องใช้เวลาอีก 87 วัน (ราว 3 เดือน) จึงจะครอบคลุม 50 ล้านคน (70 %ของประชากร)

นอกจากนี้ยังมีองค์ประกอบอื่นๆ ที่สำคัญสำหรับการเปิดเศรษฐกิจและ ‘ใช้ชีวิตกับโควิด’ ได้แก่

  1. ชุดตรวจด้วยตนเอง หรือ ATK
  2. ระบบการดูแลผู้ติดเชื้อรายใหม่ ซึ่งปัจจุบันเน้นที่การกักตัวที่บ้านดูแลทางไกล (Home Isolation) เพราะผู้ติดเชื้อราว 70% เป็นผู้ป่วยสีเขียว

เราพูดคุยทั้ง 2 เรื่องนี้กับ นพ.จเด็จ ธรรมธัชอารี เลขาธิการสำนักงานประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ซึ่งเป็นหน่วยงานดูแลประชาชนที่ใช้สิทธิบัตรทองทั้งประเทศ

นพ.จเด็จ ธรรมธัชอารี

ATK 8.5 ล้านชุดสำหรับ 1-2 เดือน เตรียมประเมินผลเพื่อสั่งล็อตต่อไป

นพ.จเด็จกล่าวว่า ขณะนี้ชุดตรวจที่สั่งซื้อไป 8.5 ล้านชุดกำลังทยอยเข้ามา เป้าหมายนั้นต้องการกระจายทั่วประเทศ แต่จุดที่ไปเยอะหน่อยคือ พื้นที่สีแดง เช่น กรุงเทพฯ ปริมณฑล สามจังหวัดชายแดนภาคใต้

ขณะที่โรงงานขนาดใหญ่ หน่วยงานราชการหลายแห่งสามารถดูแลตัวเองได้ ไม่ต้องใช้บริการ สปสช. แม้แต่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) ก็มีหนังสือจากกรมบัญชีกลางออกมาว่าสามารถซื้อชุดตรวจมาตรวจให้บุคลากรในสังกัดได้เช่นกัน ขณะที่บุคลากรทางการแพทย์ทางกระทรวงสาธารณสุขก็จะเป็นผู้จัดการสนับสนุนเอง 8.5 ล้านนี้จึงพุ่งตรงไปที่ประชาชนธรรมดา

เลขา สปสช.คาดว่า 8.5 ล้านชิ้นภายใน 2 เดือนก็หมด โดยตอนตั้งงบประมาณเพื่อกำหนดจำนวนนั้นมีวิธีคิดว่าหากมีคนติดเชื้อ 1 คน ต้องตรวจกลุ่มเสี่ยงประมาณ 10 คน ที่ผ่านมาวันหนึ่งๆ มีคนติดเชื้อประมาณ 15,000 คน เดือนหนึ่งประมาณ 450,000 คน กลุ่มเสี่ยงที่ต้องตรวจคูณ 10 ก็เท่ากับ 4.5 ล้านคน ดังนั้น ไม่ถึง 2 เดือนก็น่าจะหมดแล้ว

“เราทดลอง 2 เดือน คนไม่เข้าใจว่าทำไมทำน้อยจัง จริงๆ กระทรวงสาธารณสุขก็แนะนำว่าคนควรตรวจคือคนที่เสี่ยง ไม่เสี่ยงก็ไม่ต้องตรวจ แต่เราก็เข้าใจว่าคนอยากตรวจ ดังนั้น การทำเชิงรุกให้ อสม.เข้าไปแจกกลุ่มเสี่ยงจะปิดจุดอ่อนได้ เพราะถ้าปล่อยฟรีให้คนมารับ คนที่จะมารับได้คือคนที่ปลีกเวลาจากงานประจำมาได้ ซึ่งชาวบ้านคนเปราะบางที่เสี่ยงก็คงไม่มีเวลามารับ”

เมื่อถามว่าวางแผนการสั่งเพิ่มหรือไม่ คำตอบคือ ขณะนี้เตรียมประเมินสถานการณ์เพื่อดูผลตอบรับว่าประชาชนตรวจได้ไหม ในอนาคตหน่วยงานต่างๆ ก็อาจซื้อของหน่วยตัวเอง ประชาชนกลุ่มเสี่ยงก็อาจมารับบริการที่หน่วยบริการใกล้บ้าน สปสช.อาจเติมไปที่หน่วยบริการจะง่ายกว่าหรือไม่ ยังเป็นคำถามทางนโยบายอยู่

เน้น อสส.-อสม.ลุยแจกกลุ่มเสี่ยงเฉพาะ

แม้จะประกาศว่า ประชาชนสามารถลงทะเบียนใน ‘แอปเป๋าตัง’ เพื่อรับ ATK 2 ชุดได้ที่ร้านขายยาใกล้บ้านได้ แต่สิ่งที่ สปสช.มุ่งหวังจริงๆ คือการประสานกับ กรุงเทพมหานคร และอสม.ทั่วประเทศให้ทำเชิงรุกเข้าไปในชุมชนหรือกลุ่มเสี่ยง โดยใช้ อสส.(ในกรุงเทพฯ) , อสม. เข้าไปแจกให้กับคนในตลาด ร้านเสริมสวย พนักงานขับรถ หรือชุมชนแออัดที่มีอยู่ในกทม.ราว 2,000 แห่ง

เปิดตัวลงทะเบียนรับ ATK วันแรก 16 ก.ย. จนถึงวันที่ 18 ก.ย. ผลลัพธ์เป็นดังนี้

  • แจก ATK  83,780 ชุด  (41,890 คน คนละ 2 ชุด) ผ่านแอปเป๋าตัง 41,877 คน ผ่าน อสม. 13 คน
  • เป็นกลุ่มที่มีอาการ 20,604 คน อยู่ในพื้นที่เสี่ยง 38,143 คน เป็นกลุ่มที่ใกล้ชิดผู้ป่วย 39,742 คน (แต่ละคนอาจมีความเสี่ยงได้มากกว่า 1)
  • ผลการตรวจ ประชาชนบันทึกผลแล้ว 3,388 ชุด รอบันทึกผล 80,165 ชุด
  • พบผลบวก 35 คน (กทม. 26 คน, สมุทราปราการ 6 คน และนนทบุรี 3 คน)

“เมื่อผลเป็นบวกแจ้งผ่านแอปเป๋าตัง ก็จะเข้าสู่ระบบ Home Isolation เลย สำหรับการตรวจ RT-PCR นั้นจะใช้เฉพาะเมื่อต้องเข้า รพ.หรือไปอยู่กับคนจำนวนมาก ซึ่งทาง รพ.เขาจะรับผิดชอบตรวจ RT-PCR เอง ไม่ใช่ประชาชนต้องไปหาตรวจ ถ้าไม่มีอาการหรือมีอาการเล็กน้อยกักตัวที่บ้านไม่จำเป็นต้องตรวจซ้ำ”  

ระบบกักตัวที่บ้านนี้ สปสช.จะจับคู่ผู้ป่วยกับคลินิกเพื่อให้มีบุคลากรทางการแพทย์ดูแลสอบถามอาการโดยการวิดีโอคลอวันละ 1-2 ครั้ง มีการแจกยากพื้นฐาน อุปกรณ์วัดออกซิเจน ค่าใช้จ่ายหรืออาหาร รวมทั้งหากมีอาการก็จะจัดส่งยาฟาวิพิราเวียร์ไปให้ที่บ้าน

Home use ไม้สั้น ใช้ง่าย เชื่อราคากำลังลง เตรียมประเมินผลเพื่อสั่งล็อตต่อไป

นพ.จเด็จกล่าวว่า 8.5 ล้านชิ้นที่ว่า เป็นแบบ home use ซึ่งแตกต่างจาก professional use ที่ใช้ในสถานพยาบาลเพียงความยาวของไม้ที่ใช้แหย่นั้นสั้นกว่า ส่วนน้ำยาและแผ่นตรวจนั้นเป็นแบบเดียวกัน  

“แต่ถ้าจะจินตนาการแบบต่างประเทศที่ให้แจกไปเรื่อยๆ ก็อาจจะได้ ก็ต้องซื้อแจกไปเรื่อยๆ แต่มันก็มีข้อมูลตอนหลังพบว่าไม่ค่อยมีประโยชน์ตรวจแล้วไม่เจออะไรมากนัก แต่ถ้างบประมาณจำกัดเราเข้าสู่กลุ่มเสี่ยง มันก็อาจใช้งบน้อยกว่าและได้ประสิทธิผลดีกว่า”

กรณีที่หลายคนตั้งข้อสังเกตว่า ราคา ATK แบบ home use ควรถูกกว่านี้ เลขาฯ สปสช.ยืนยันว่า หากทำไปเรื่อยๆ ราคาน่าจะถูกลงไปเรื่อยๆ เช่นกัน

“ตอนเราซื้อแรกๆ มันลำบาก เวลาบอกว่าที่นั่นถูกที่นี่ถูก แต่ขายในบ้านเราไม่ยอมถูก ร้านขายยาที่ถูกที่สุดที่เรารู้ก็ 100 กว่าบาท มันเป็นเรื่องกลไกตลาด พอสินค้าจำนวนมาก ประชาชนเข้าถึงสะดวกราคาก็จะถูกลง ตอนนี้ อย.ยังห้ามขายออนไลน์ ไม่แน่ว่าถ้ารัฐให้ขายออนไลน์แล้วพยายามควบคุมคุณภาพให้ได้อาจเป็นเรื่องที่เหมาะสมกับสภาพการณ์ปัจจุบันมากกว่า”  

นวัตกรรม อุดหนุนค่าตรวจโควิดจากศพ 2,500 บาท

สำหรับการตรวจโควิดในศพผู้เสียชีวิตซึ่งเป็นเรื่องที่สังคมตั้งคำถามมาพักใหญ่ว่าเป็นช่องโหว่ที่ตกหล่นไปนั้น เลขาฯ สปสช.กล่าวว่า ตั้งแต่วันที่ 1 ส.ค.เป็นต้นมา สปสช.ได้ออกประกาศอย่างเป็นทางการ กรณีศพที่สงสัยว่าอาจเป็นโควิด ทาง รพ.สามารถเบิกค่าชุดป้องกันคนเก็บศพได้, ถุงเก็บศพ และสวอปตรวจได้ ศพละ 2,500 บาท โดยแพทย์จะเป็นผู้ใช้ดุลยพินิจในการเลือกตรวจ

“ระบบเดิม เราไม่เคยจ่ายค่าบริการให้กับผู้เสียชีวิต จึงค่อนข้างวุ่นวาย เพราะ สปสช.ดูแลคนเป็น นี่ต้องถือเป็นนวัตกรรมเลย แต่เมื่อเป็นภาวะโรคระบาด หน่วยบริการไม่ตั้งงบประมาณหรือไม่จ่ายตรงนี้ และบางที่ก็ไปเรียกเก็บค่าบริการหลายพันบาท ทั้งที่ถุงบรรจุศพราคา 400 บาท เราจึงต้องสนับสนุนตรงนี้เช่นกัน ชุดพีพีอี 3 ชุด ถุงบรรจุศพ 2 ชั้น รพ.ก็มีความเข้าใจมากขึ้นแล้ว จ่ายแล้วสามารถเบิกได้ ส่วนค่าตรวจ RT-PCR จะตรวจก็ได้อีก 1,500 บาท”

Home Isolation โทรแจ้งวันละ 900 สาย จับคู่สถานบริการดูแล แทบไม่ต้องรอ

จำนวนผู้ติดเชื้อรายใหม่ยอดวันละเป็นหมื่น บางส่วนติดต่อเข้าสู่บริการเอกชน บางส่วนเข้าระบบสุขภาพอื่นๆ เช่นประกันสังคม สิทธิข้าราชการ ประกันสุขภาพ ฯลฯ  แต่สำหรับผู้ที่ใช้สิทธิบัตรทองและแจ้งเข้ามายัง สปสช.นั้น หากดูจากตัวเลขของ สปสช. https://1th.me/HxuZl  พบว่า มีการจับคู่ได้เกือบทั้งหมด ต้องรออยู่เพียงหลักร้อยกว่าคน

ข้อมูล 18 ก.ย.2564

  • มีรายใหม่แจ้งเข้ามา 263 คน
  • สถานบริกรตอบรับแล้ว 183 คน
  • ยังรอสถานบริการตอบรับสะสมอยู่ที่ 166 คน
  • มียอดสะสม Home Isolation ทั้งหมดเกือบ 1 แสนคน

“ตอนนี้จำนวนคนไข้ที่บวกจาก ATK เมื่อแจ้งเข้ามาที่เรา รพ.เอกชนก็แทบจะกวาดไปหมดเพราะตอนนี้เตียง รพ.เอกชนว่าง จึงเข้า hospitel บ้าง แต่คนไข้บ้างคนก็อยากอยู่ home isolation เป็นสิทธิของผู้ป่วย หลังๆ นโยบายใหม่ที่ให้ยาเร็วก็รู้สึกได้ผล ประชาชนมั่นใจขึ้น”

“ตอนนี้เราเชื่อมระบบข้อมูลเรากับกระทรวง ทำให้ทราบความเคลื่อนไหวของคนไข้ว่าไปอยู่ที่ไหนบ้าง ใครที่อยู่บ้านแล้วไป hospitel เราก็ทราบ มันทำให้ระบบเชื่อมต่อกันมากขึ้น นิ่งขึ้น หากเกิดเวฟ 5 เวฟ 6 เราก็จะมั่นใจว่าระบบข้อมูลดี ส่วนจะหาหน่วยบริการได้เพียงพอไหม ขณะนี้เราก็เตรียมความพร้อมหน่วยบริการทั่วประเทศ เราเดินสายไปต่างจังหวัด คุยกับ อบจ.ให้เตรียมสถานที่ ไปคุยเจ้าอาวาส หลายวัด เพราะเราเชื่อว่า community isolation ในที่ต่างๆ น่าจะเป็นคำตอบ ไม่ต้องสร้าง รพ.ใหม่ ในชุมชนนี่แหละ เอาเตียงวาง ออกซิเจนวาง ติดตั้งระบบอินเทอร์คอล อุปกรณ์การแพทย์อีกเล็กน้อยก็ให้บริการได้แล้ว มันจะเป็น new normal ในอนาคต”

สำหรับหน่วยบริการ เฉพาะในกทม. คลินิกชุมชนอบอุ่นหรือคลินิกที่มาลงทะเบียนกับสปสช.นั้นมีอยู่ 200 กว่าแห่ง ศูนย์บริการสาธารณสุขของ กทม.อีก 69 แห่ง แต่ละแห่งมีเจ้าหน้าที่ประมาณ 7 คน ส่วนในต่างจังหวัดคือ รพ.สต. หมื่นกว่าแห่งทั่วประเทศ

“คลินิกหนึ่งอาจจะมีอาสาสมัครที่ได้รับการอบรมมาช่วยก็ได้ ไม่จำเป็นต้องเป็นหมอหรือพยาบาลเท่านั้น อย่างสภากาชาด มีอาสาสมัครเป็นพัน รับคนไข้ไป 15,000 คน ฉะนั้น 1 หน่วยอาจมีอาสาสมัครเบื้องหลังอีกจำนวนมาก ตอนนี้สภากาชาด มีศูนย์กาชาดทั่วประเทศ 10 กว่าแห่ง ทุกศูนย์เขาพร้อมรับ Home Isolation แล้วถ้าเราทำระบบไว้ดีและเพียงพอ แม้ตัวเลขจะพุ่งอีกระลอก ประชาชนก็มั่นใจมากขึ้นแล้ว ป่วยก็เข้าระบบการรักษา แต่เรายังไม่ประมาท เปิดคอลเซ็นเตอร์ 24 ชม. 900 สายทุกวัน เพื่อให้ประชาชนมั่นใจว่ามีอะไรก็แจ้งได้”

“หากโรคมีการพัฒนาก็ไม่มีปัญหา เราส่งต่อ ตอนนี้ก็เพิ่งเปิด ICU อีก 120 เตียงของปิยะเวท โดยมีปตท.สนับสนุน เราบอกเลยว่า เกินครึ่งขอเตรียมไว้สำหรับระบบหลักประกันสุขภาพ เราจะส่งคนไข้ไปถ้าเป็นสีแดง”

สปสช.อุดหนุนค่าดูแล Home Isolation 15,000 hospitel เอกชน 60,000

สำหรับเรทของการสนับสนุนค่ารักษาพยาบาลนั้น เลขา สปสช.ระบุว่า รพ.เอกชนเฉลี่ยเบิก 60,000 บาทต่อคน สำหรับสีเขียว ถ้าเป็นสีเหลืองประมาณ 300,000 บาท ส่วนสีแดงนี่ถึงหลักล้านก็มี หากเข้าระบบ hospitel ของรพ.รัฐจะเฉลี่ยอยู่ที่ 30,000 บาทต่อคน  แต่เป็นระบบ Home Isolation จะตกอยู่ที่ 15,000-20,000 บาทต่อคน โดยในจำนวนนี้เป็นค่ายาฟาวิฯ ราว 7,000 บาท

“เงินจำนวนมากที่จ่ายไม่ใช่จ่ายค่ารักษาผู้ป่วย แต่จ่ายค่าป้องกันบุคลากรการแพทย์เกินครึ่ง หมอต้องใส่ชุดพีพีอี 750 บาททุกครั้ง เข้าไปก็ต้องออกมาทิ้งๆ เราต้องยอมจ่ายเพื่อป้องกันบุคลาการด่านหน้า”

ใบรับรองแพทย์ต้องได้ฟรี วอนเอกชนอย่าเก็บส่วนต่าง

“เรื่องใบรับรองแพทย์ หากประชาชนต้องการสถานบริการก็สามารถให้ได้ ไม่ต้องเสียค่าใช้จ่าย ถ้าใครเรียกเก็บให้ร้องเรียนมาได้เลย การรักษาทั้งหมดไม่มีการเก็บเงินทั้งสิ้น แม้แต่ข่าวที่ว่ารพ.เอกชนเรียกเก็บเพิ่ม เรื่องนี้ก็พยายามพูดคุยอยู่ว่าในเมื่อรับราคากันแล้ว ก็อยากให้เป็นไปตามนั้น อย่าไปเรียกเก็บกับประชาชนเพิ่ม ราคาที่เอกชนเรียกเก็บมันยังไม่มีการควบคุมราคา จึงมีคนพยายามเรียกร้องกระทรวงพาณิชย์ให้ค่ารักษาพยาบาลเป็น ‘สินค้ควบคุม’ ด้วย”

แรงงานต่างด้าว-ผู้ลี้ภัย ยังมีช่องโหว่การดูแล

ส่วนแรงงานต่างด้าวยหรือผู้ลี้ภัย ส่วนนี้นพ.จเด็จยอมรับว่า ยังเป็นปัญหามาก เหมือนเป็นติ่งเล็กๆ ที่ไม่มีใครอยากจะดู และคนเหล่านี้ส่วนใหญ่ก็อยู่กันอย่างแออัดและติดกัน

“บอร์ด สปสช.เคยเสนอเรื่องนี้กับรัฐมนตรีว่า ควรให้บริการกลุ่มนี้ด้วยเป็นระบบเดียวกันภายใต้ระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติเลยดีไหม กำลังหารือกัน ตอนนี้ สธ.ก็มีหน่วยที่ดูแลเฉพาะตรงนี้อยู่ แต่มีข้อจำกัดเยอะ เขาไม่ได้ทำบทบาทแบบ สปสช.ที่จัดสรรงบให้หน่วยบริการโดยตรงเลย”  

ปี 2564 ใช้ไปแล้วราว 30,000 ล้านบาท งบเงินกู้ฯ

เมื่อถามถึงตัวเลขงบประมาณเกี่ยวกับโควิดในภาพรวม เลขาฯ สปสช.ระบุว่า ปีงบประมาณ 2564 จนถึงเดือนกันยายน สปสช.เบิกจ่ายงบประมาณไปประมาณ 30,000 ล้านบาทโดยเบิกจากเงินกู้ 1 ล้านล้านซึ่งได้กำหนดส่วนของสาธารณสุขไว้ 45,000 ล้านบาท ที่เหลือก็เป็นส่วนอื่นๆ ที่กระทรวงสาธารณสุขดูแลและเบิกจ่าย