ไม่พบผลการค้นหา
เปิดบทบาทของ สิระ เจนจาคะ ส.ส.กทม.พรรคพลังประชารัฐ ทำไมเขาต้องหิวแสง-เบี่ยงประเด็นข่าว ทำแต้มพิชิตใจนาย

ชื่อของ “สิระ เจนจาคะ” ส.ส.กทม.พรรคพลังประชารัฐ โดดเด่นขึ้นมาหลังการเลือกตั้งปี 2562

มาพร้อมบทบาทสำคัญ คือการเป็นองครักษ์พิทักษ์นาย โดยเฉพะนายตู่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา และนายป้อม พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ

“สิระ” ยอมทุ่มสุดตัวเพื่อภารกิจพิชิตใจนาย

การเข้าร่วมกับ “กลุ่มสามมิตร” ที่มีแกนนำอย่าง สุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รมว.อุตสาหกรรรม สมศักดิ์ เทพสุทิน รมว.ยุติธรรม เหมือนจะเพิ่มความมั่นใจให้สิระได้เป็นอย่างดี เหมือนกับว่า เมื่อมีแบ็คดี ก็ไม่ต้องกลัวเกรงใครหน้าไหน แม้จะเป็นผู้ใหญ่ในพรรคเดียวกันก็ตาม

บทบาทของสิระ เด่นชัดขึ้นในกรณีที่พรรคพลังประชารัฐ ส่งเขา และ เอ๋ ปารีณา ไกรคุปต์ ส.ส.ราชบุรี ไปเป็นกรรมาธิการ (กมธ.) ป้องกันปราบปรามการทุจริตและประพฤติมิชอบ หรือ กมธ.ปปช. สภาผูแทนราษฎร ที่มี พล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์ เตมียเวส หัวหน้าพรรคเสรีรวมไทย เป็นประธาน

โดยพรรคพลังประชารัฐ รู้ดีว่า พล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์ ต้องการหยิบยกการกระทำที่แล้วมาของ พล.อ.ประยุทธ์ ขึ้นมาตรวจสอบ และจ้องจะเชิญ พล.อ.ประยุทธ์ มาชี้แจงต่อกรรมาธิการให้จงได้

ภารกิจของทั้งสิระ และ เอ๋ ก็คือ การป่วนที่ประชุมกรรมาธิการฯให้ดูวุ่นวาย ให้ไม่สามารถดำเนินการประชุมได้ ซึ่งเป็นการเบี่ยงความสนใจ ให้คนหันมาโฟกัสที่การทะเลาะกันของสิระ-เอ๋ และ พล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์ แทนที่จะสนใจเรื่องที่ พล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์ กำลังหยิบยกขึ้นมาหารือที่ประชุม

ไพบูลย์ สิระ ปารีณา อภิปรายไม่ไว้วางใจ รัฐสภา.jpg

เดือน ส.ค.2563 “สิระ” เล่นบทหาเรื่อง เต้ มงคลกิตติ์ สุขสินธารานนท์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ หัวหน้าพรรคไทยศรีวิไลย์ ที่ประกาศถอนตัวพรรคร่วมรัฐบาล โดยมีการเผชิญหน้ากันต่อหน้าสื่อมวลชนที่รัฐสภา หลังทั้งคู่มีวิวาทะผ่านสื่อโซเชียลอย่างรุนแรงมาแล้วก่อนหน้านั้น

งานนี้นักข่าวได้ภาพ มงคลกิตติ์ เดินปรี่เข้าไปจับแขนสิระขณะกำลังให้สัมภาษณ์อยู่ โดยหวังเคลียร์เรื่องค้างคาใจ  แต่สิระเบี่ยงตัวหลบ พร้อมบอกว่า "คุณจะมาจับตัวผมไม่ได้" ก่อนจะเดินหนีแล้วพูดว่า "คุณเป็นนักเลง ไม่เอา" จากนั้นจึงมีการปะทะคารมกันอยู่พักใหญ่

นั่นเป็นห้วงเวลาที่มีการพิจารณางบประมาณรายจ่ายประจำปี 2564 ในชั้นกรรมาธิการ โดยทางพรรคเพื่อไทยและพรรคร่วมฝ่ายค้าน กำลังเล่นงานอย่างหนักเกี่ยวกับโครงการซื้อเรือดำน้ำของกองทัพเรือ ซึ่งไม่สอดคล้องกับสภาพเศรษฐกิจและสถานการณ์โควิด-19

ไม่นานนัก กองทัพเรือ แถลงโต้ถึงความจำเป็นในการจัดซื้อเรือดำน้ำเพิ่ม 2 ลำ วงเงิน 22,500 ล้านบาท ก่อนที่ พล.อ.ประยุทธ์ จะทนกระแสต่อต้านไม่ไหว สั่งชะลอการสั่งซื้อในเวลาต่อมา

ประยุทธ์ สภา สิระ เจนจาคะ  สรวุฒิ เนื่องจำนงค์  พลังประชารัฐ  9_0005.jpg

สิระ ยังมีความสามารถในการเล่นกับสื่อ เพื่อชิงพื้นที่ข่าว เช่น วันที่ 26 ต.ค.2563 เขาลากกระเป๋าเดินทางเข้ารัฐสภา เพื่อร่วมประชุมรัฐสภาหาทางออกประเทศ จากกรณีการชุมนุมของกลุ่มราษฎร โดยระบุ เตรียมพักค้างคืนที่รัฐสภา เผื่อไม่สามารถออกจากรัฐสภาได้ เพราะเคยมีกลุ่มผู้ชุมนุมมาปิดล้อมรัฐสภา

เขาว่า ได้รับมอบหมายจากพรรคให้อภิปรายประเด็นการขัดขวางขบวนเสด็จฯ ที่เป็นเหตุให้มีการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรง

โดยการลากกระเป๋าเดินทางเข้าสภาของเขา ทำให้เป็นจุดสนใจ สามารถชิงพื้นที่สื่อได้เป็นอย่างดี

อีกครั้ง วันที่ 17 ก.พ.2564 ในการอภิปรายไม่ไว้วางใจวันที่ 2 ส.ส.สิระ เจนจาคะ โชว์สร้อยคอและพระรูป พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ต่อสื่อมวลชน ระบุ ปกป้องคุ้มครองได้ ห้อยแล้วอุ่นใจ

แต่แค่นั้นคงไม่เป็นที่จดทำ

เมื่อส่องดูดีๆก็พบว่า พระรูป "บิ๊กป้อม" พิมพ์ชื่อและนามสกุลของ "พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ" ผิด โดยพิมพ์เป็น "พลเอกประวิทย์ วงศ์สุวรรณ"

นั่นทำให้ตลอดทั้งวัน ข่าวการอภิปรายไม่ไว้วางใจของสภาผู้แทนราษฎร แทบจะไม่ได้รับความสนใจ เพราะสื่อเลือกนำเสนอสีสันของการประชุมมากกว่าเนื้อหาสาระของการประชุม

สิระ พลังประชารัฐ d44d4.jpg

ย้อนกลับไป พ.ย.2563 ชวน หลีกภัย ประธานสภาผู้แทนราษฎร มีความพยายามตั้งคณะกรรมการปรองดอง และต้องการเชิญชวนอดีตนายกรัฐมนตรี ไม่ว่าจะเป็น อานันท์ ปันยารชุน พล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ สมชาย วงศ์สวัสดิ์ ร่วมอยู่ในกรรมการปรองดองนี้ด้วย

แต่เมื่อพรรคพลังประชารัฐเห็นว่า อดีตนายกฯอย่างอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ สมชาย วงษ์สวัสดิ์ และอานันท์ ปันยารชุน ต่างมีจุดยืนไม่เห็นด้วยกับการสืบทอดอำนาจของ พล.อ.ประยุทธ์ และคณะรักษาความสงบแห่งชาติ(คสช.)

ดังนั้น การจะให้อดีตนายกฯมาร่วมในกรรมการปรองดอง จึงเท่ากับเปิดทางให้คนเหล่านั้นมีโอกาสเข้ามาเล่นงาน พล.อ.ประยุทธ์และคณะ คสช.

เวลานั้น สิระ รับเล่นบทยั่วอารมณ์โมโหของชวน โดยกล่าวว่า "เด็กที่มาชุมนุมต้องการอนาคต แต่กลับเอาคนอายุ 80 - 90 ปี เดินไม่ไหว เก่าแก่เกินไป มาใช้ในยุคนี้ หากเอาไปดองเค็มผมจะเห็นด้วย วันนี้เรามีสภาควรให้ส.ส.เป็นคนออกแบบ ไม่ว่าจะเป็นตัวกรรมการหรือจำนวน เพื่อหาทางออกประเทศ ไม่ใช่คนโบราณ เราต้องดูผู้ชุมนุมว่าเขาเรียกร้องอนาคตไม่ใช่เอาเรื่องอดีตมาคุยกัน ท่านประธานรัฐสภา ทำไมตัดสินคนเดียว ท่านต้องพิจารณาว่าคิดถูกหรือคิดผิด ผมอยากให้ตัดสินใจโดยผู้แทน ไม่ใช่บุคคลเพียงคนเดียวที่เสนอชื่อใครเป็นกรรมการก็ได้"

ทำให้ ชวน ตวัดใบมีดโกนกลับตามสไตล์ว่า “คนจะผ่านชีวิตมา ถึงขั้นที่เปรียบเทียบว่า ดองเค็มได้นั้น ต้องระวัง คนพูดจะไปดองในฟอร์มาลิน ต้องระวังร่างกายด้วย

ทั้งนี้ เป็นเพราะ พปชร.ประเมินแล้ว หากได้อดีตนายกฯร่วมทีมปรองดองนั้น ก็ดูจะไม่เป็นผลดีต่อ พล.อ.ประยุทธ์ และพรรค พปชร.เอง

สมศักดิ์ สิระ สามมิตร พลังประชารัฐ พปชร. ประชุมใหญ่

กระทั่งถึงวันนี้ในช่วงที่รัฐบาลของ พล.อ.ประยุทธ์ กำลังเผชิญกับกระแสโจมตีอย่างหนักเกี่ยวกับการบริการจัดการโรคโควิด-19 รวมถึงแผนการจัดหาและการกระจายวัคซีน ไม่ต้องสอดคล้องกับความต้องการของประชาชน

ส.ส.สิระ ป่วนอีกครั้ง ออกโรงคัดค้านและขอให้ตรวจสอบการสร้าง รพ.สนาม ของ พล.ต.นพ.เหรียญทอง แน่นหนา ผอ.โรงพยาบาลมงกุฎวัฒนะ ซึ่งตั้งอยู่ในซอยแจ้งวัฒนะ 14 พื้นที่ฐานเสียงของสิระเอง  

สิระ กล่าวว่า การก่อสร้าง รพ.สนามแห่งนี้ ไม่ได้ขออนุญาตอะไรเลย นอกจากนี้ ชาวแจ้งวัฒนะยังไม่เอา รพ.สนามแห่งนี้ด้วย เพราะอยู่ใกล้ชุมชน เสี่ยงติดโรค

เรื่องนี้มองได้ว่า ส.ส.สิระ ออกแอ็คชั่น เพราะเป็น ส.ส.ในพื้นที่ จึงต้องแสดงบทบาทว่าออกมาปกป้องความปลอดภัยของประชาชน

ขณะเดียวกัน นั่นเป็นเวลาที่รัฐบาลกำลังเตรียมการก่อสร้างโรงพยาบาลบุษราคัม ที่อาคารชาเลนเจอร์ เมืองทองธานี

ล่าสุด 26 พ.ค. 2564 สิระ จู่ๆก็ออกมาพาดพิง พานทองแท้ ชินวัตร บุตรชาย ดร.ทักษิณ ขินวัตร อดีตนายกฯ ที่โพสต์รูปภาพพร้อมแคปชั่นลงในทวิตเตอร์ว่า ยึดอำนาจผ่านมา 7 ปี ว่า การโพสต์รูปดังกล่าวต้องการอะไรจากสังคม หรือพานทองแท้ แค่หิวแสงอยากโหนกระแสเรื่องการรัฐประหาร

สิระระบุว่า ซึ่งตัวเองรู้ดีแก่ใจ อย่าทำเป็นไร้เดียงสา และตระกูลของนายพานทองแท้ไม่ควรโทษรัฐประหารเลย เพราะถ้าไม่มีตระกูลที่ชื่อชินวัตร ประเทศไทยคงอยู่กันอย่าสงบโดยไม่ต้องการปฎิวัติรัฐประหารถึง 2 ครั้ง และลองย้อนไปดูว่า เกิดในยุคใครเป็นรัฐบาล ทหารจึงยึดอำนาจจากนักการเมืองชั่วๆ จ้องแต่โกงกินประเทศชาติ

ประเด็นดังกล่าวทำให้ถูกมองว่า 'สิระ' ต้องการเบี่ยงประเด็นข่าวที่โจมตีรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ ที่มาจากการสืบทอดอำนาจ คสช.

อาจเป็นได้หรืออาจเป็นไปไม่ได้ ว่าการออกแอ็คชั่นของ “สิระ” ครั้งนี้ มีใครอยู่เบื้องหลังหรือไม่

ถึงวันนี้หลายคนอาจมองว่าการเมืองแบบ “สิระ” นั้น ดูค่อนข้างเปลืองตัว บางคราดูไร้สาระ น่าเบื่อ น่ารําคาญ แต่ทุกความเคลื่อนไหว ทุกแอ็คชั่นล้วนมีที่มาที่ไปเสนอ

อยู่ที่ว่าจะมองเห็น หรือมองข้าม ก็เท่านั้นเอง

ข่าวที่เกี่ยวข้อง