วันนี้ ดรุณี ไพศาลพาณิชย์กุล กฤษณ์พชร โสมณวัตร และสมชาย ปรีชาศิลปกุล ร่วมกันแถลงการณ์เรื่อง “การล้มล้างสถาบันฯ หรือการล้มล้างสิทธิเสรีภาพของประชาชน” ในฐานะตัวแทนของเครือข่ายนักกฎหมายและคณาจารย์นิติศาสตร์ จำนวน 70 คน โดยมีเนื้อหาดังต่อไปนี้
ภายหลังจากที่ศาลรัฐธรรมนูญได้มีคำวินิจฉัยเมื่อวันที่ 10 พ.ย. 2564 ต่อกรณีการเคลื่อนไหวของเยาวชนและประชาชน (ในการชุมนุม เสกคาถาปกป้องประชาธิปไตยหรือ “ม็อบแฮร์รี่ พอตเตอร์” บริเวณอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย และการชุมนุมธรรมศาสตร์จะไม่ทน ณ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต) ศาลรัฐธรรมนูญได้มีความเห็นว่าการกระทำดังกล่าวเป็นการกระทำที่มีจุดมุ่งหมายเพื่อการล้มล้างระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข ความดังกล่าวได้เป็นที่รับรู้กันอย่างกว้างขวางในทางสาธารณะแล้วนั้น
คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญได้นำมาซึ่งคำถามอันเป็นประเด็นที่มีความสำคัญอย่างมาก เพราะจะกระทบต่อหลักการพื้นฐานของระบบกฎหมายและสิทธิเสรีภาพของประชาชนตามรัฐธรรมนูญ ทั้งจะส่งผลสืบเนื่องต่อไปถึงสิทธิเสรีภาพของประชาชน ปมประเด็นปัญหาดังกล่าวปรากฏขึ้นอย่างน้อยใน 3 ประเด็นสำคัญ ดังต่อไปนี้
ประการแรก สิทธิในเข้าถึงการพิจารณาคดีอย่างเป็นธรรม (right to fair trial)
สิทธิในการเข้าถึงการพิจารณาอย่างเป็นธรรมถือเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานของบุคคลที่ได้รับการรับรองไว้อย่างกว้างขวาง ดังปรากฏในปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน ข้อ 10, กติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง ข้อ 14 และสิทธิดังกล่าวก็ถือเป็นหลักการพื้นฐานของกระบวนพิจารณาคดีในระบบกฎหมายสมัยใหม่อันเป็นที่ยอมรับกันโดยทั่วไป อันมีสาระสำคัญว่าบุคคลจะต้องได้รับการพิจารณาอย่างเปิดเผยและเป็นธรรม ทั้งจะต้องสามารถนำเสนอพยานหลักฐานในการโต้แย้งหักล้างกับบุคคลที่กล่าวหาได้อย่างเต็มที่
ในการวินิจฉัยคดีนี้ ศาลรัฐธรรมนูญไม่เปิดโอกาสให้ฝ่ายผู้ถูกกล่าวหามีโอกาสได้ต่อสู้ต่อข้อกล่าวหา ด้วยการปฏิเสธไม่ให้มีการนำพยานเข้าชี้แจง แม้จะได้มีการชี้แจงว่าศาลได้มีการสืบหาข้อมูลข้อเท็จจริงมาจนสามารถชี้ขาดคดีได้ อย่างไรก็ตาม การรวบรัดในกระบวนการพิจารณาโดยไม่เปิดโอกาสให้กับฝ่ายผู้ถูกกล่าวหาในการชี้แจงและนำเสนอพยานหลักฐาน ย่อมถือเสมือนเป็นการปฏิเสธสิทธิในการเข้าถึงการพิจารณาคดีอย่างเป็นธรรมอย่างชัดเจน ซึ่งก็อาจนำไปสู่การตั้งคำถามต่อคำตัดสินว่าเป็นไปโดยปราศจากข้อมูลที่รอบด้านว่าเป็นผลมาจากมุมมองและจุดยืนของผู้วินิจฉัยเป็นที่ตั้ง
ประการที่สอง เสรีภาพในการแสดงออก (freedom of expression)
เสรีภาพในการแสดงออกและเสรีภาพในการชุมนุมถือเป็นสิทธิเสรีภาพสำคัญของการปกครองในระบอบประชาธิปไตย ปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชนได้ให้การรับรองไว้ในข้อ 19 และข้อ 20, กติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง ข้อ 18 และข้อ 21 ทั้งรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2560 ก็ได้รับรองเสรีภาพในการแสดงความเห็นไว้ในมาตรา 34, เสรีภาพในการชุมนุมโดยสงบและปราศจากอาวุธในมาตรา 44 การรับรองไว้อย่างสอดคล้องกันทั้งในกฎหมายระหว่างประเทศและรัฐธรรมนูญย่อมแสดงให้เห็นถึงความสำคัญของเสรีภาพดังกล่าวอย่างชัดเจน แม้การรับรองเสรีภาพดังกล่าวจะบัญญัติให้มีการจำกัดขอบเขตเสรีภาพลงได้แต่ก็ต้องเป็นไปด้วยเหตุผลอันชัดเจนว่าการใช้เสรีภาพดังกล่าวจะนำไปสู่ผลกระทบอันรุนแรงต่อส่วนรวม
จากคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญซึ่งได้ให้ความเห็นว่าการแสดงความคิดเห็นของกลุ่มผู้ถูกร้องมิใช่เป็นการใช้เสรีภาพโดยสุจริตหากเป็นไปโดยมีเจตนาซ่อนเร้น ทั้งยังเป็นการกระทำที่เป็นการใช้ความรุนแรงข่มขู่บังคับต่อบุคคลอื่น ในความเห็นของศาลจึงเห็นว่าการเรียกร้องให้มีการปฏิรูปสถาบันพระมหากษัตริย์มีเจตนาที่จะต้องการล้มล้างระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข คำวินิจฉัยดังกล่าวไม่ได้แสดงให้เห็นถึงข้อเท็จจริงที่จะสามารถบ่งชี้ได้อย่างชัดเจนถึงการกระทำของฝ่ายผู้ถูกร้อง คำวินิจฉัยมีลักษณะเป็นการให้เหตุผลอย่างคลุมเครือ อันนำมาสู่คำถามได้ว่าคำพูดหรือการกระทำในลักษณะเช่นใด ณ เวลาใด ที่ศาลรัฐธรรมนูญได้นำมาเป็นหลักฐานในการชี้ขาด ยิ่งหากพิจารณาถึงข้อเรียกร้องที่ปรากฏต่อสาธารณะก็เป็นที่ประจักษ์ชัดว่าการแสดงความเห็นทั้งหมดเป็นเพียงการเสนอปรับแก้กฎหมายและรัฐธรรมนูญในส่วนที่เกี่ยวกับสถาบันพระมหากษัตริย์ โดยที่ไม่มีการเสนอถึงการยกเลิกหรือปรับเปลี่ยนสู่ระบอบการปกครองในแบบอื่นแต่อย่างใด
ทั้งการวินิจฉัยถึงเจตนาของบุคคลก็ต้องพิจารณาจากการกระทำที่แสดงออกมาอย่างชัดเจน การกล่าวอ้างถึงเจตนาที่ซ่อนเร้นของบุคคลนับเป็นสิ่งที่มีอันตรายในทางกฎหมายเป็นอย่างมาก เพราะอาจเป็นเพียงการยกเอาความเห็นของผู้ตัดสินโดยปราศจากข้อเท็จจริงหรือพยานหลักฐานสนับสนุนอย่างพอเพียง การจำกัดสิทธิเสรีภาพของประชาชนที่ได้รับการรับรองไว้ไม่อาจจะปล่อยให้เกิดขึ้นได้เพียงคำกล่าวอ้างโดยปราศจากหลักฐานที่ชัดเจน มิฉะนั้น ต่อไปในภายภาคหน้าสิทธิเสรีภาพของประชาชนก็พร้อมจะถูกสั่นคลอนหรือทำลายลงได้อย่างง่ายดาย
ประการที่สาม สถานะของพระมหากษัตริย์ในระบอบประชาธิปไตย
คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญได้ให้คำอธิบายว่าสถาบันพระมหากษัตริย์เป็นสิ่งที่เป็นเนื้อเดียวกันกับสังคมไทยมาอย่างยาวนาน อีกทั้งได้รับการรับรองไว้ให้อยู่ในฐานะอันเป็นที่เคารพสักการะซึ่งผู้ใดจะล่วงละเมิดมิได้ อันปรากฏอยู่ในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2560
อย่างไรก็ตาม คำวินิจฉัยดังกล่าวไม่ได้ให้คำอธิบายซึ่งจำแนกให้เห็นอย่างชัดเจนระหว่างสถานะของสถาบันพระมหากษัตริย์ในระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์และในระบอบประชาธิปไตยแต่อย่างใด ทั้งที่ชัดเจนว่าพระมหากษัตริย์ในระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์นั้นเป็นผู้ที่มีอำนาจสูงสุดในระบอบการปกครอง แต่สถาบันพระมหากษัตริย์ในระบอบประชาธิปไตยถือเป็นส่วนหนึ่งขององค์กรตามรัฐธรรมนูญโดยดำรงสถานะเป็นประมุขของรัฐ กล่าวอีกนัยหนึ่งก็หมายถึงพระมหากษัตริย์ทรงปกเกล้าฯ แต่ไม่ปกครอง (reign but not rule) การดำรงอยู่ สถานะ และบทบาทของพระมหากษัตริย์ ก็ล้วนแล้วแต่เป็นไปตามที่บทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญได้รับรองไว้ สถาบันพระมหากษัตริย์ในระบอบประชาธิปไตยก็จึงสามารถมีการปรับเปลี่ยนได้ในมิติต่าง ๆ เพื่อให้สอดคล้องกับสถานการณ์และเงื่อนไขของสังคมที่มีความเปลี่ยนแปลงไป
ดังนั้น ความเปลี่ยนแปลงในสถานะของสถาบันพระมหากษัตริย์จึงเป็นสภาวะปกติธรรมดาที่เกิดขึ้นโดยทั่วไป หากพิจารณาถึงบทบัญญัติในรัฐธรรมนูญของสังคมไทยก็จะพบว่าได้มีความเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นมาอย่างต่อเนื่องนับตั้งแต่เมื่อระบอบประชาธิปไตยได้เริ่มต้นขึ้น คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญซึ่งไม่ได้ตระหนักถึงข้อเท็จจริงเช่นนี้นับแต่จะเป็นการสร้างความยุ่งยากต่อการจัดวางสถานะของสถาบันพระมหากษัตริย์ในสังคมไทยให้ทวีความยุ่งยากเพิ่มมากขึ้น
ศาลรัฐธรรมนูญในนานาอารยะประเทศเป็นองค์กรที่ถูกจัดตั้งขึ้นด้วยเป้าหมายสำคัญก็เพื่อทำหน้าที่ในการปกป้องและคุ้มครองสิทธิเสรีภาพของประชาชนให้มีความเข้มแข็ง รวมทั้งสร้างดุลยภาพอันเหมาะสมระหว่างประโยชน์ของส่วนรวมและสิทธิเสรีภาพของประชาชน อย่างไรก็ตาม คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญที่เกิดขึ้นในกรณีนี้จึงเป็นคำวินิจฉัยที่สร้างความสงสัยให้เกิดขึ้นอย่างกว้างขวาง พวกเราจึงเห็นว่าคำวินิจฉัยที่เกิดขึ้นเป็นสิ่งที่ขัดกับหลักการพื้นฐานทางกฎหมายอย่างรุนแรง ไม่ได้ให้ความสำคัญกับปกป้องสิทธิเสรีภาพของประชาชน รวมทั้งจะเป็นการสร้างความขัดแย้งในสังคมไทยให้แผ่ขยายและรุนแรงมากขึ้นในอนาคตอันใกล้ คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญเป็นสิ่งที่ไม่สอดคล้องกับหลักการทางกฎหมายและรัฐธรรมนูญ รวมถึงการทำหน้าที่ของศาลรัฐธรรมนูญก็นับเป็นสิ่งที่ยังห่างไกลจากบทบาทที่ควรจะเป็นอย่างมาก
13 พ.ย. 2564
เครือข่ายนักกฎหมาย และคณาจารย์นิติศาสตร์
1. กนกพร จันทร์พลอย คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
2. กรศุทธิ์ ขอพ่วงกลาง คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
3. กริช ภูญียามา คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
4. กฤติกา เลิศสวัสดิ์ มูลนิธินิติธรรมสิ่งแวดล้อม
5. กรกนก วัฒนภูมิ -
6. กฤษณ์พชร โสมณวัตร มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
7. กิตติภพ วังคำ คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
8. เขมชาติ ตนบุญ นักกฎหมายอิสระ
9. เขมภัทร ทฤษฎิคุณ สถาบันวิจัยเพื่ื่อการพัฒนาประเทศ
10. คงสัจจา สุวรรณเพ็ชร คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
11. คอรีเยาะ มานุแช สมาคมนักกฎหมายสิทธิมนุษยชน
12. จารุนันท์ น้าประทานสุข ทนายความ
13. เฉลิมศรี ประเสริฐศรี ทนายความ มูลนิธิศูนย์ข้อมูลชุมชน
14. ชนะจิต รอนใหม่ นักกฎหมาย มูลนิธินิติธรรมสิ่งแวดล้อม (EnLAW)
15. ชำนาญ จันทร์เรือง -
16. ฐิตินันท์ เต็งอำนวย คณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
17. ณรงค์รัตน์ ขำสุวรรณ ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน
18. ณัฏฐพงษ์ ลัทธาพลสกุล มหาวิทยาลัยกรุงเทพ
19. ณัฏฐพร รอดเจริญ คณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
20. ณัฐดนัย นาจันทร์ สำนักวิชานิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง
21. ณัฐสุดา อมรสู่สวัสดิ์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
22. ณัฐาศิริ เบิร์กแมน ทนายความ
23. ดรุณี ไพศาลพาณิชย์กุล คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
24. ดรุเณศ เฌอหมื่อ คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
25. ทศพล ทรรศนกุลพันธ์ คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
26. ทิตศาสตร์ สุดแสน ทนายความ
27. ธนรัตน์ มังคุด คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์
28. ธวัช ดำสอาด สำนักงานกฎหมายอิสระ
29. ธิรชา ปัญจบุตรชัย คณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
30. ธีรวัฒน์ ขวัญใจ คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์
31. นวพร เสนีย์วงศ์ ณ อยุธยา คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
32. นัทมน คงเจริญ คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยลัยเชียงใหม่
33. นาฏนภัส เหล็กเพ็ชร คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
34. นิฐิณี ทองแท้ นักวิชาการอิสระ
35. บงกช ดารารัตน์ นักกฎหมาย
36. ปราญชลี มณีรัตน์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
37. ปวีณา เผื่อนงูเหลือม ทนายความ
38. ปสุตา ชื้นขจร มูลนิธิเพื่อสิทธิมนุษยชนและการพัฒนา
39. ปารณ บุญช่วย คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
40. ปิยากร เลี่ยนกัตวา Shanghai Jiao Tong University
41. ผจญ คงเมือง คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์
42. พัชร์ นิยมศิลป คณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
43. พัชราภรณ์ ตฤณวุฒิพงษ์ คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
44. พิชามญชุ์ ทรัพย์ไพบูลย์ นักศึกษาปริญญาโท คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
45. ภาสกร ญี่นาง นักวิชาการกฎหมาย
46. ภีม อุดมบุณยลักษณ์ อิสระ
47. มุกกระจ่าง จรณี มหาวิทยาลัยบูรพา
48. มุนินทร์ พงศาปาน คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
49. ยอดพล เทพสิทธา -
50. เยาวลักษ์ อนุพันธุ์ ทนายความ
51. รัดเกล้า นามกันยา ศิษย์เก่าคณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
52. เลาฟั้ง บัณฑิตเทอดสกุล ศูนย์กฎหมายสิทธิชุมชน
53. วรรณา แต้มทอง ศิษย์เก่าคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
54. วริษา องสุพันธ์กุล มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
55. วัลย์นภัสร์ เจนร่วมจิต ทนายความ
56. วัชลาวลี คำบุญเรือง นักกฏหมายอิสระ
57. วิเชียร เพ่งพิศ นักวิชาการอิสระ
58. ศรมัณ วงศาโรจน์ คณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
59. ศรัณย์ จงรักษ์ -
60. ศศิประภา ไร่สงวน มูลนิธินิติธรรมสิ่งแวดล้อม (EnLAW)
61. ส.รัตนมณี พลกล้า ทนายความ มูลนิธิศูนย์ข้อมูลชุมชน
62. สงกรานต์ ป้องบุญจันทร์ คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
63. สมชาย ปรีชาศิลปกุล คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
64. สาวตรี สุขศรี คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
65. สุทธิชัย งามชื่นสุวรรณ คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์
66. สุทธิรักษ์ เนื่องมัจฉา คณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
67. สุมิตรชัย หัตถสาร นักกฎหมายอิสระ
68. สุรชัย ตรงงาม ทนายความ
69. สุรินรัตน์ แก้วทอง คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์
70. Preeda Tongchumnum Lawyer