ไม่พบผลการค้นหา
ผลการวัดทักษะการศึกษาระดับโลกระบุเด็กในระบบการศึกษาจากจีนและสิงคโปร์ได้คะแนนทักษะต่างๆ มากที่สุด ขณะที่ไทยตกเกณฑ์ค่าเฉลี่ยทุกทักษะ

เมื่อวันที่ 2 ธ.ค.2562 องค์กรความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนา (OECD) เผยผลประเมินวัดความสามารถของนักเรียนนานาชาติประจำปี 2018 หรือ PISA จำนวน 600,000 คนใน 79 ประเทศ พบว่า กลุ่มนักเรียนในช่วงอายุ 15 ปีจากจีน รั้งอันดับ 1 ในการประเมินทักษะ ทั้งด้านคณิตศาสตร์ วิทยาศาสตร์ และทักษะะการอ่าน โดยมีคะแนนอยู่ในระดับที่ 4 ซึ่งถือเป็นระดับสูงสุดของการประเมินจาก 6 ระดับ

ขณะที่นักเรียนจากสิงคโปร์รั้งอันดับ 2 ของการประเมินทักษะต่างๆ โดยมีคะแนนประเมินห่างจากนักเรียนจากจีนเพียงไม่กี่คะแนนเท่านั้น ซึ่งรายงานของ PISA ระบุว่า นักเรียนจากสิงคโปร์นั้นสามารถบูรณาการเนื้อหา สามารถยกเหตุผลและสร้างข้อสรุปในสิ่งที่ตนสนับสนุนได้เป็นอย่างดี รวมไปถึงยังมีทักษะของการสื่อสารเชิงลึกได้

สำหรับผลสอบ PISA ของไทยพบว่า ทักษะการอ่าน คณิตศาสตร์ และวิทยาศาสตร์ พบว่า ผลการประเมินของนักเรียนไทยต่ำกว่าเกณฑ์ค่าเฉลี่ยในทุกทักษะ ซึ่งทักษะด้านการอ่าน ได้393 คะแนน จากค่าเฉลี่ย 487 คะแนน ส่วนคณิตศาสตร์ 419 คะแนน และวิทยาศาสตร์ 426 คะแนน จากค่าเฉลี่ย 489 คะแนน

แองเจล เกอร์เรีย เลขาธิการของ OECD กล่าวว่า เป็นที่น่าผิดหวังมากที่ประเทศส่วนใหญ่ที่เป็นสมาชิกของ OECD ไม่มีการปรับปรุงระบบการศึกษาอย่างจริงจังนับตั้งแต่มีการจัดสอบ PISA ครั้งแรกในปี 2000

ทาง OECD กล่าวว่า การทดสอบดังกล่าวไม่ได้ต้องการแข่งขันให้เห็นถึงศักยภาพของเด็กนักเรียนในแต่ละประเทศ แต่เป็นการสะท้อนให้ผู้กำหนดนโยบายเห็นถึงจุดอ่อนหรือข้อด้อยของระบบการศึกษาของตน เพื่อนำไปกำหนดและพัฒนาแนวทางการศึกษาภายในประเทศ'

นอกจากนี้ในรายงานผลประเมิน PISA ชี้ให้เห็นว่า ความสำเร็จของการศึกษาส่วนใหญ่นั้นขึ้นอยู่กับพื้นฐานทางเศรษฐกิจและสังคมในประเทศนั้นๆ ด้วยเป็นสำคัญ ซึ่งในบางประเทศแม้ว่ารัฐบาลจะทุ่มงบประมาณสำหรับการศึกษาเป็นจำนวนมาก แต่พื้นหลังทางสังคมและเศรษฐกิจของครอบครัวเด็กนั้นส่งผลต่อการศึกษาเช่นกัน

ประเทศต่างๆ ปฏิรูปการศึกษาอย่างไร

การสอบ PISA มีขึ้นครั้งแรกในปี 2000 โดยในปีแรกผลการทดสอบของนักเรียนในฮ่องกงและออสเตรเลียพบว่า มีคะแนนค่าเฉลี่ยทักษะการอ่านอยู่ในระดับที่ใกล้เคียงกัน แต่ปัจจุบันเด็กนักเรียนในฮ่องกง เขตบริหารพิเศษจีน มีค่าเฉลี่ยทักษะการอ่านอยู่ในอันดับ 2 ของโลก และมีค่าเฉลี่ยทักษะต่างๆ โดยรวมอยู่ในลำดับที่ 4 ของโลก รองจากจีน สิงคโปร์ และมาเก๊า

ในช่วงระหว่างปี 2001 - 2006 รัฐบาลฮ่องกงได้ใช้วิธีการทบทวนกระบวนการสอนหนังสือทั้งหมด โดยเฉพาะวิธีการสอนทักษะการอ่านให้ได้ผลดีที่สุด โดยมีการทำวิจัยโดยมหาวิทยาลัยฮ่องกง ซึ่งได้พัฒนาทักษะการอ่านภาษาจีนใหม่ โดยเรียกกว่า 'ทฤษฎีการรับรู้แบบบูรณาการ' โดยไม่สอนให้เด็กจำตัวหนังสือเพียงอย่างเดียวแต่ยังสอนวิธีการที่ให้นักเรียนได้เรียนรู้ความหมายและโครงสร้างของภาษาในการอ่าน การเขียน และการใช้ภาษา ควบคู่กันไปอีกด้วย

นอกจากนี้ ฮ่องกงยังทุ่มงบประมาณสำหรับครูและการสอนของครูในโรงเรียนเป็นอย่างมาก โดยเฉพาะการฝึกอบรมครูหลายพันคนเพื่อปรับเปลี่ยนวิธีการสอนนักเรียน มีผลให้เด็กนักเรียนในฮ่องกงมีพัฒนาการด้านการอ่านที่ดีขึ้น โดยวัดจากผลการสอบ PISA ในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมานี้

ขณะที่ 'ประเทศสิงคโปร์' ก็ได้ปฏิรูประบบการศึกษาครั้งใหญ่ในปี 2000 โดยทุ่มความสำคัญให้กับคุณภาพของครูเป็นหลัก มีการดึงดูดผู้ที่มีศักยภาพในสาขาต่างๆ ให้กลับเข้ามาเป็นครูและอาจารย์ ด้วยการปฏิรูประบบโครงสร้างเงินเดือนของครูและโครงสร้างของอาชีพครูควบคู่กันไปด้วย

นอกจากนี้ยังสิงคโปร์ยังมีตำแหน่ง 'Master teacher' สำหรับผู้ที่มีศักยภาพโดดเด่นในสาขาต่างๆ จะคอยมาเป็นผู้ที่คอยชี้แนะครูในโรงเรียนต่างๆ ในเรื่องการสอนเด็กในสาขาวิชานั้นๆ อีกด้วย

ทั้งนี้ สิงคโปร์เคยครองแชมป์ผลการสอบ PISA เป็นอันดับ 1 ของโลกเมื่อปี 2015

ทักษะการอ่านเป็นสิ่งจำเป็นในยุคสมาร์ตโฟน

รายงานของ OECD กล่าวว่า ทักษะการคิด วิเคราะห์ และการอ่านจับใจความนั้น เป็นสิ่งที่สำคัญในยุคสมาร์ตโฟน เพราะเป็นสิ่งที่เด็กจะได้เรียนรู้ถึงความแตกต่างระหว่างเรื่องจริงและเรื่องแต่ง

"การอ่านไม่ได้เป็นเรื่องของการหาข้อมูลเป็นหลักเพียงอย่างเดียวอีกต่อไป แต่เป็นยังเป็นเรื่องของการสร้างเสริมความรู้ การคิดวิเคราะห์และเป็นพื้นฐานที่จะนำไปสู่การตัดสินใจที่ดีอีกด้วย" รายงานระบุ

การสำรวจของ OECD พบว่ามีเด็ก 2-3 คนจากเด็ก 10 คนในประเทศสมาชิกของ OECD เท่านั้นที่สามารถแยกแยะระหว่างข้อเท็จจริงและความเห็นได้ ขณะที่เด็กในประเทศพัฒนาแล้วอย่างแคนาดา เอสโตเนีย ฟินแลนด์ สิงคโปร์ สหรัฐฯ และสี่เมืองของจีนนั้น เด็กมากกว่า 1 คน จากเด็ก 7 คน มีความสามารถแยกแยะข้อเท็จจริงออกจากข้อคิดเห็นของเรื่องราวต่างๆ ได้

ทั้งนี้ ในผลทดสอบ PISA ของไทยพบว่า ค่าเฉลี่ยทักษะด้านการอ่านของเด็กไทยนั้นลดลง โดยได้คะแนนทักษะด้านการอ่าน 393 คะแนน จากค่าเฉลี่ย 487 คะแนน ลดลงกว่าการทดสอบเมื่อ 3 ปีที่แล้ว 16 คะแนน

ที่มา ABC / CNN / CNA /Bloomberg

ข่าวที่เกี่ยวข้อง