กิตติศักดิ์ รัตนวราหะ ส.ว.ลุกขึ้นประท้วงและกล่าวว่า
"ไม่อยากจะพูดว่าเป็นการชี้แจงเท็จ อย่างน้อย ส.ว.มาตามรัฐธรรมนูญ แต่คนกำลังอภิปรายไม่ควรมาชี้แจงหรือเสนอรัฐธรรมนูญ เพราะว่าเป็นคนเนรคุณแผ่นดิน"
จากนั้น รังสิมันต์ โรม ส.ส.พรรคก้าวไกลประท้วงให้มีการถอนคำพูด ประะธานในที่ประชุมได้ขอกิตติศักดิ์ให้ถอนคำพูด
"ขอถอนคำว่า เนรคุณแผ่นดิน เปลี่ยนเป็น คนที่ต้องการล้มสถาบัน" ส.ว.กิตติศักดิ์กล่าว
จากนั้นยังคงมีการประท้วงให้ถอนคำพูดดังกล่าว และผู้พูดยอมถอน
ปิยบุตร แสงกนกกุล ตัวแทนผู้เสนอร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญชี้แจงต่อว่า เพิ่งเคยเห็นวุฒิสมาชิกประท้วงผู้ชี้แจงด้วยข้อหาเช่นนี้ แต่ไม่เป็นไรเพราะประชาชนจะพิจารณาเองว่า เมื่อมี ส.ว.แบบนี้ ควรมีสภาเดี่ยวหรือสภาคู่ จากนั้นจึงอธิบายเกี่ยวกับข้อคำถามหรือข้อสังเกตของสมาชิกรัฐสภาที่ตั้งไว้ว่า ที่เราหวังว่าจะมี ส.ว.เพื่อกลั่นกรองกฎหมาย มันไม่ได้เป็นอย่างที่พูดกัน
ปิยบุตรกล่าวถึงข้อคำถามของ ชินวรณ์ บุณยเกียรติ ส.ส.ประชาธิปัตย์ ที่อ้างถึงปรีดี พนมยงค์ ว่ายังมีอออกแบบสภาสูงด้วยว่า จริงๆ แล้วปรีดีสนับสนุนสภาเดี่ยวตลอดมา และยอมให้มีวุฒิสภาในรัฐธรรมนูญฉบับที่ 3 ตามข้อเสนอของเสนีย์ ปราโมช จึงมี 'พฤฒิสภา' ขึ้นมา เรื่องนี้ดูได้จากหนังสือชื่อ 'ประชาธิปไตยกับรัฐธรรมนูญเบื้องต้นฯ' ซึ่งปรีดีเขียนในปี 2517 ท่านเห็นว่า หากมีสองสภา แล้ววุฒิสภามาจากการแต่งตั้ง แสดงว่าไม่เป็นประชาธิปไตย
ในความกังวลของสมาชิกรัฐสภา กรณี ส.ส.จะมีบทบาทแต่งตั้งตุลาการ องค์กรอิสระและการทำงานของผู้ตรวจการ ปิยบุตรชี้แจงว่า ขอบเขตอำนาจผู้ตรวจการศาลจะพบว่าไม่ได้ให้อำนาจมากมาย เพียงศึกษาผลกระทบจากคำวินิจฉัยที่เกิดขึ้นเป็นผลงานทางวิชาการเพื่อเผยแพร่ ตรวจสอบการใช้งบ ไม่ได้มีอำนาจในการกลับคำพิพากษาใดๆ เลย หลักการแบ่งแยกอำนาจยังคงอยู่ ในประเด็นที่ให้ส.ส. 1 คนมีส่วนร่วมโดยมีที่นั่งในคณะกรรมการตุลาการ (กต.) ที่มีถึง 15 คน และคณะกรรมการตุลาการศาลปกครอง ก.ศป. ซึ่งมี 13 คน ถือว่าเป็นส่วนน้อยมาก ไม่ส่งผลกระทบอะไร
ประเด็นว่าการเสนอสภาเดี่ยวเป็นเรื่องสุดโด่งหรือไม่อีกทั้งยังต้องขอความเห็นชอบจากส.ว. 84 คนด้วย ปิยบุตรกล่าวว่า เรื่องนี้สะท้อนความผิดปกติในการออกแบบรัฐธรรมนูญ 2560 มาตั้งแต่แรก ถ้าไม่มี ส.ว.ช่วยเลย ร่างนั้นจะไม่มีทางผ่าน ส.ว.เป็นผู้ออกใบอนุญาตทุกครั้งว่าจะแก้ได้หรือไม่อย่างไร จริงๆ เรามีตัวแบบตั้งหลายที่ ถ้ามีสภาเดี่ยวเราอาจสร้างอีกสักสภา แต่ไม่ได้อยู่ในกระบวนการนิติบัญญัติ เหมือนที่รัฐธรรมนูญ 2540 เคยทำ คือ สภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคม หรือหลายท่านก็สามารถอยู่ในกรรมาธิการสภาผู้แทนราษฎรในฐานะผู้เชี่ยวชาญ