ไม่พบผลการค้นหา
รัฐบาลหลายประเทศสั่งกองทัพร่วมมือหน่วยงานสาธารณสุข ควบคุม-ป้องกันโรคโควิด-19 ทหารจึงได้รับการยกย่องในฐานะ 'วีรบุรุษ' แต่หลายครั้งการจัดการในกองทัพหละหลวม ทำให้ทหารเป็นอีกกลุ่มที่เสี่ยงติดเชื้อ ทั้งยังเกิดผลกระทบต่อสังคมในวงกว้าง

นับตั้งแต่ไวรัสโคโรนา 2019 แพร่ระบาดเมื่อต้นปีที่ผ่านมา รัฐบาลหลายประเทศออกคำสั่งให้หน่วยงานสาธารณสุขร่วมมือกับหน่วยงานด้านความมั่นคงเพื่อควบคุมโรคระบาด กองทัพในหลายประเทศ เช่น จีน เยอรมนี ออสเตรเลีย บราซิล อิตาลี และสเปน จึงต้อง 'ตรึงกำลัง' กำกับดูแลความเป็นระเบียบเรียบร้อยในประเทศ ทั้งยังต้องควบคุมการเดินทางข้ามพื้นที่และการย้ายถิ่นฐานของประชาชนทั่วไป รวมถึงปิดกั้นพรมแดนเพื่อจำกัดการเดินทางของบุคคลภายนอกเข้ามาในประเทศ 

นอกจากนี้ยังมีกรณีกองทัพ 'นิวซีแลนด์' ได้รับคำสั่งให้รับผิดชอบสถานที่กักตัวของรัฐบาล หรือ state quarantine เพื่อดูแลผู้ต้องสงสัยติดเชื้อและผู้ติดเชื้อที่มีอาการของโรค ทั้งยังต้องดูแลให้ความช่วยเหลือผู้ได้รับผลกระทบในช่วง 'ล็อกดาวน์' ไม่สามารถเดินทางไปไหนได้อย่างอิสระ กองทัพในหลายประเทศจึงถูกยกย่องว่าเป็น 'ผู้เสียสละ' ยอมให้ตัวเองเสี่ยงกับโรคติดต่อเพื่อให้คนอื่นๆ ปลอดภัย

AFP-แพทย์ในโรงพยาบาลอิตาลีสู้โควิด-ไวรัสโคโรนา-COVID-ชุดป้องกัน อุปกรณ์การแพทย์.jpg

สำนักข่าวรอยเตอร์ส เคยรายงานด้วยว่า 'ทหาร' เป็นอีกหนึ่งกลุ่มอาชีพที่ 'เสี่ยง' ต่อการติดเชื้อหรือเสียชีวิตจากโรคโควิด-19 รองจากบุคลากรทางการแพทย์ ซึ่งเป็นอาชีพที่ต้องรับผิดชอบดูแลผู้ติดเชื้อเป็นอันดับแรกๆ อย่างไรก็ตาม กองทัพทั่วโลกมักมีระบบบริหารจัดการ-กำกับดูแล 'แตกต่าง' ไปจากการปกครองพลเรือน ทำให้บางครั้ง 'กองทัพ' ก็กลายเป็นต้นตอที่ทำให้สถานการณ์ของโรคโควิด-19 ยิ่งย่ำแย่ลง

กรณี 'ทหารอียิปต์' ติดเชื้อไวรัสโคโรนา แวะพักซ่อมบำรุงเครื่องบินในไทยเมื่อต้นเดือน ก.ค. แต่กลับออกไปนอกโรงแรมที่พักใน จ.ระยอง โดยไม่ผ่านกระบวนการกักตัว 14 วันซึ่งเป็นมาตรการป้องกันโควิดฯ ของไทย ถือเป็นอีกหนึ่งเหตุการณ์ที่สะท้อน 'ช่องโหว่' ของการบริหารจัดการภายในกองทัพ หลังเคยเกิดกรณีสนามมวยลุมพินีที่เป็นกิจการของกองทัพ เป็นต้นตอแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 เมื่อตอนต้นปีที่ผ่านมา

อย่างไรก็ตาม กองทัพในอีกหลายประเทศก็มีส่วนเกี่ยวข้องกับการแพร่ระบาดหรือการเปลี่ยนแปลงนโยบายอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องด้วยเช่นกัน 


ยอดผู้ติดเชื้อที่เกี่ยวข้องกับกองทัพ 'พุ่งไม่หยุด'

'สหรัฐอเมริกา' เป็นประเทศที่มีผู้ติดเชื้อสะสมมากที่สุดในโลก ราว 3.5 ล้านคน และผู้เสียชีวิตอีกราว 1.35 แสนคนส่วนกองทัพสหรัฐฯ ก็ยังพบผู้ติดเชื้อโควิด-19 เพิ่มอย่างต่อเนื่อง โดยรายงานของ CNN ระบุว่า ทหารและบุคลากรอื่นๆ ในกองทัพสหรัฐฯ ทั้งในประเทศและที่ประจำการอยู่ต่างแดน ติดเชื้อเพิ่มขึ้นราว 60 เปอร์เซ็นต์ช่วงต้นเดือน ก.ค.ที่ผ่านมา รวมยอดผู้ติดเชื้อสะสมกว่า 18,016 ราย 

ค่ายทหารหรือฐานทัพที่อยู่ในรัฐเท็กซัส, ฟลอริดา และแคลิฟอร์เนีย พบผู้ติดเชื้อรายใหม่เพิ่มขึ้นมากที่สุด สอดคล้องกับสถานการณ์ในพื้นที่ เพราะทั้งสามรัฐมีจำนวนประชากรที่ติดเชื้อสูงเป็นอันดับต้นๆ ของประเทศ

อภิรัชต์ ผบ ทบ สหรัฐ โควิด 623888.jpg
  • ผบ.ทบ.สหรัฐอเมริกา เข้าพบ พล.อ.อภิรัชต์ คงสมพงษ์ เมื่อต้นเดือน ก.ค.

ขณะที่เว็บไซต์ CBC iายงานอ้างอิง พล.อ.โจนาทาน แวนซ์ ประธานคณะเสนาธิการทหารร่วม กองทัพแคนาดา ผู้รับผิดชอบปฏิบัติการช่วยเหลือกาชาดสากลควบคุมและป้องกันการแพร่ระบาด เปิดเผยว่าทหารที่ติดเชื้อโควิดฯ แบบแสดงอาการและได้รับการรักษาตัวแล้ว มีทั้งหมด 55 นาย

แต่ทหารที่ติดเชื้อเหล่านี้เคยประจำการร่วมกับทหารอีกราว 1,600 นาย ในควิเบกและออนแทริโอ และทหารทั้งหมดไม่ได้รับการตรวจร่างกายอย่างละเอียด จึงมีความเป็นไปได้สูงว่าทหารนายอื่นๆ อาจติดเชื้อแล้ว แต่ไม่แสดงอาการ


'ญี่ปุ่น-เกาหลีใต้' คุมเข้มทหารอเมริกันติดโควิด

เมื่อวันที่ 13 ก.ค.ที่ผ่านมา หนังสือพิมพ์อาซาฮีของญี่ปุ่นรายงานว่า ทหารอเมริกันและครอบครัว ซึ่งประจำการในฐานทัพอากาศสหรัฐฯ ประจำเมืองโอกินาวะของญี่ปุ่น ติดเชื้อโควิด-19 เพิ่มเป็น 60 ราย ซึ่งเป็นสถิติที่เพิ่มขึ้นกว่าเท่าตัวเมื่อเทียบกับผลสำรวจเมื่อเดือน มิ.ย.ที่ผ่านมา

ขณะเดียวกัน สถิติทหารอเมริกันใน เกาหลีใต้ ติดเชื้อโควิด-19 เพิ่มเป็น 34 ราย โดยทั้งหมดเป็นผู้ที่เพิ่งเดินทางไปจากสหรัฐฯ และยุโรป โดยหนังสือพิมพ์ยอนฮัปของเกาหลีใต้รายงานว่าการฝึกซ้อมรบประจำปีของกองทัพสหรัฐฯ และเกาหลีใต้อาจถูกเลื่อนออกไปอีกครั้ง หลังพบทหารอเมริกันติดเชื้อเพิ่มขึ้น เพราะเกรงว่าการฝึกซ้อมรบร่วมกันอาจส่งผลต่อการแพร่กระจายของเชื้อโควิด-19 ระลอกใหม่

AFP-หน้ากากอนามัย-ไวรัสโคโรนา โควิด-19 COVID-19 เกาหลีใต้-2.jpg

กองทัพเกาหลีใต้และสหรัฐฯ ยังไม่ยืนยันชัดเจนว่าจะเลื่อนการฝึกซ้อมหรือจะยกเลิกไปก่อนในปีนี้ แต่เว็บไซต์ VOA สื่อของสหรัฐฯ ระบุว่า สถิติทหารอเมริกันติดเชื้อเพิ่มขึ้นในต่างประเทศ ส่งผลกระทบต่อภาพลักษณ์ของกองทัพสหรัฐฯ เนื่องจากไม่สามารถควบคุมสถานการณ์โควิด-19 ภายในหน่วยงานได้ และอาจจะส่งผลกระทบต่อความเชื่อม่ันและความร่วมมือทางการทหารระหว่างสหรัฐฯ และกองทัพของประเทศพันธมิตร

ส่วนทหารในประเทศอื่นๆ ที่มีปัญหาความขัดแย้งหรือสงครามกลางเมือง ก็มีแนวโน้มว่าจะติดเชื้อโควิด-19 เพิ่มขึ้น เพราะการตรวจคัดกรองทำได้ยากและอาจไม่ทันเวลา


กองทัพทั่วโลก 'ลด-ละ-เลิก' ปรับตัวรับมือโควิดฯ อย่างไร?

นิตยสาร Business Insider รายงานว่า สมาชิกสหภาพยุโรป (EU) หลายประเทศพิจารณายกเลิกการฝึกซ้อมรบหรือปฏิบัติการทางทหารในปีนี้ออกไปก่อนเพราะติดปัญหาเรื่องโควิด-19 แพร่ระบาด ทั้งยังมีแนวโน้มว่าจะนำงบทางการทหารไปช่วยเหลือด้านการควบคุมและป้องกันโรคเพิ่มเติม แต่บางประเทศยังคงยืนยันเพิ่มงบทางการทหาร เช่น ปากีสถาน รัสเซีย และออสเตรเลีย

ส่วนกองทัพ สหรัฐอเมริกา เรียกร้องเดินหน้าโครงการพัฒนายานเกราะไร้คนขับ เพื่อนำไปใช้ในภารกิจช่วยเหลือหรือค้นหาผู้ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์วิกฤตต่างๆ ในอนาคต ซึ่งจะรวมถึงการช่วยเหลือหรือลำเลียงผู้ที่ป่วยหรือติดเชื้อโรคแพร่ระบาดต่างๆ

AFP-อิตาลีปิดเมือง กักตัว ป้องกันโควิด-19 ไวรัสโคโรนา พิพิธภัณฑ์.jpg

ขณะที่บางประเทศมีจำนวนผู้สมัครเป็นทหารเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญช่วงโควิด-19 โดย Euro News รายงานอ้างอิงสถานการณ์ใน ฮังการี ซึ่งกลุ่มชายอายุ 20-30 ปี รวมถึงนักศึกษาที่เพิ่งจบใหม่ สมัครเป็นทหารเพิ่มขึ้นหนึ่งเท่าตัวเมื่อเทียบกับสถิติช่วงเดียวกันในปีก่อนหน้า

ผู้สมัครรายหนึ่งให้เหตุผลว่าการเป็นทหารจะทำให้มีรายได้มั่นคงกว่าการทำงานอื่นๆ ในช่วงนี้ เพราะเศรษฐกิจของประเทศได้รับผลกระทบอย่างหนักจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 และนักเศรษฐศาสตร์ประเมินว่าเศรษฐกิจฮังการีจะหดตัวลงประมาณ 8-10 เปอร์เซ็นต์

แม้ว่าผู้ที่ตกงานหรือว่างงานในฮังการีจะได้รับเงินช่วยเหลือแบบให้เปล่าจากรัฐบาลตั้งแต่ 200-350 ยูโร (ประมาณ 7,180-12,565 บาท) ขึ้นอยู่กับว่าเป็นคนโสดหรือเป็นผู้ที่มีครอบครัวแล้ว แต่รัฐบาลก็จะให้เงินช่วยเหลือแค่เพียง 3 เดือนเท่านั้น

ข่าวที่เกี่ยวข้อง: